วิพากษ์ร่าง ‘พ.ร.บ.กสทช.’ ‘ทีดีอาร์ไอ’ ยก 4 ประเด็นทำเสียหาย

ปี2015-06-12

เวทีเสวนา NBTC Public Forum หัวข้อ “พระราชบัญญัติ กสทช.: สิ่งที่อยากเห็นและควรเป็น” ผู้ร่วมงานมีทั้งตัวแทนเครือข่ายผู้บริโภค สมาชิกและอนุกรรมการของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เพื่อนำเสนอคณะกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภคของสปช. วงเสวนาได้เสนอความเห็นที่น่าสนใจหลากหลายที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ … (พ.ร.บ. กสทช. ฉบับใหม่)

นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุว่าการร่างกฎหมายใหม่อาจจะส่งผลเสียหายราว 4 ประเด็น คือ 1. เรื่องเงินงบประมาณ นำเงินจากรายได้ของสำนักงาน กสทช.ไปใช้ในกิจการอื่นตามกฎหมายพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลและสังคม และกฎหมายใหม่ในการจัดตั้งกระทรวงดีอี

โดยปัจจุบันได้แยกเงินของ กสทช. เป็นเงินที่มาจากการประมูลคลื่นความถี่ 4จีที่จะเกิด ในปีนี้ราว 10,000 ล้านบาท คิดเป็น 25% ของเงินที่คาดว่าจะได้จากการประมูลราว 44,000 ล้านบาท และเงินจากรายได้ของ กสทช. ที่มาจากค่าธรรมเนียมใบอนุญาตและเลขหมาย คิดเป็น 1,800 ล้านบาท เงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ปีละ 4,400 ล้านบาท ทำให้ในปีแรกกองทุนนี้มีเงินถึง 17,000 ล้านบาท และปีที่สองจำนวน 26,000 ล้านบาท

ดังนั้น หากนำงบประมาณเพื่อให้กระทรวงดีอีนำไปใช้เป็นการสร้างวินัยทางการเงินการคลังที่ผิด

2. คลื่นความถี่ซึ่งจากกฎหมายใหม่มีท่าทีไม่ต้องการประมูล หรือประมูลโดยไม่คิดราคาเป็นตัวตั้งอาจจะเกิดการใช้การคัดเลือกจะทำให้เกิดการขายคลื่นต่อได้

3. ธรรมาภิบาลของ กสทช. แบ่งเป็น 3.1 ควรให้เกิดการปฏิรูป กสทช.ไปเลย ซึ่งที่ผ่านมาพบว่ามีการใช้จ่ายงบไม่โปร่งใส มีการเสนอแต่ไม่พบในร่างกฎหมายคือ การใช้จ่ายต้องผ่านสภา การเก็บเงิน 2% ควรลดลง 3.2 เหตุใดสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.). เพิ่งตรวจสอบเข้มข้น เพราะมีระบุว่าห้ามเปิดเผยข้อมูลเอกสารของ สตง. ซึ่งควรเป็นสาธารณะเพื่อให้ประชาชนร่วมตรวจสอบ กสทช. ด้วย

และ 4. เรื่องคุ้มครองผู้บริโภค การกำกับดูแล แต่กลับไม่สนใจกำกับดูแลทั้งนี้การออกใบอนุญาตคือ การทำคุณ แต่การกำกับดูแลคือ การทำโทษ ดังนั้นวิธีแก้จึงกำหนดกลไกให้รายงานต่อสภาและสาธารณะต้องระบุในหนังสือรายงานประจำปี ดังนั้นผู้บริโภคก็ต้องฟ้องร้องในกรณีที่ไม่ทำ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคต้องมีเป็นพิเศษใน กสทช. แต่ก็ต้องดูอีกทีว่าจะช่วยผู้บริโภคได้หรือไม่

นอกจากนี้ นายสมเกียรติ ยังแสดงความคิดเห็นกรณีที่ กสทช. ต้องการใช้มาตรา44 ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 เพื่อแก้ไขปัญหาทีวีดิจิทัลว่า ไม่เห็นด้วยที่จะนำมาตรา 44 มาบังคับใช้กับอุตสาหกรรมนี้ เนื่องจาก กสทช. มีประกาศหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อยู่แล้ว ควรแก้ปัญหาโดยยึดตามที่กสทช. มีอยู่ก่อน ซึ่งผู้ประกอบการที่ต้องการเพิ่มทุนหรือเพิ่มผู้ถือหุ้น

โดยปกติก็สามารถทำได้อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องแก้ไขให้เปลี่ยนมือผู้ถือครองใบอนุญาต เพราะการทำเช่นนั้นจะทำให้ต่อไปในอนาคต คนที่ได้คลื่นมาไม่จำเป็นต้องเข้าประมูลเอง แต่รอซื้อเอาหลังจากนั้น และได้คลื่นไปในราคาที่ถูก

นายปิยะบุตร บุญอร่ามเรือง อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และผู้ยกร่างพ.ร.บ. กสทช. ฉบับคณะกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค สปช. เสนอความเห็นว่า ร่าง พ.ร.บ. กสทช. ฉบับรัฐบาลมีหลายส่วนที่อาจจะทำให้เกิดปัญหาในการปฏิบัติได้ในอนาคต เนื่องจากรัฐบาลตั้งโจทย์ในการยกร่างเพื่อแก้ปัญหาความเป็นอิสระจนไม่มีใครตรวจสอบได้ของ กสทช. จึงมุ่งจะลดความเป็นอิสระและลดงบประมาณ แต่ยังไม่ได้แก้ปัญหาในด้านอื่น ๆของ กสทช.

ทั้งนี้ เขาเห็นว่าปัญหาการทำงานที่ผ่านของ กสทช. คือ 1. คณะกรรมการ กสทช. โดยรวมไม่ใช่ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความสามารถในกิจการที่เกี่ยวข้อง 2. ไม่ดำเนินการในกรอบหน้าที่และขาดธรรมาภิบาล 3. ไม่เปิดโอกาสให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบและกำกับการทำงาน และไม่นำความเห็นผู้บริโภคไปพิจารณา และ 4. ไม่ดำเนินการงานตามผลศึกษาหรืองานวิจัย

นายปิยะบุตร เสริมว่า ส่วนของการคุ้มครองผู้บริโภคยังมีข้อสังเกตอีกด้วยว่า 1. กลไกการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นแค่อนุกรรมการ ตามมาตรา 31 วรรคแรก ไม่เพียงพอที่จะคุ้มครองผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ 2. หน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคภายใต้บังคับบัญชาของหน่วยงานกำกับไม่สามารถทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคหลายกรณีเกิดจากการที่หน่วยงานกำกับดูแลไม่ทำหน้าที่ ทั้งในระดับหน่วยงานปฏิบัติการและในระดับนโยบาย อาทิ ปัญหาการคิดค่าบริการเกินกว่าอัตราขั้นสูง 99 สตางค์ต่อนาที, ปัญหาค่าบริการ 3จี ไม่ลดลง 15% เป็นต้น

ดังนั้น กลไกการคุ้มครองผู้บริโภคซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในสำนักงาน กสทช. จึงไม่สามารถดำเนินงานคุ้มครองได้อย่างตรงไปตรงมา 3. ควรแก้ไขเพิ่มเติม บทบัญญัติว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค

นางสาวสุภัทรา นาคะผิว กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และอดีตอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคมของ กสทช. เห็นว่า การดีไซน์รูปแบบการสรรหาของ กสทช. ไม่ควรต้องตั้งกรรมการสรรหา แต่ใช้การตั้งคณะกรรมการตรวจสอบคุณสมบัติ และใช้วิธีการจับสลากชื่อผู้ที่จะได้เป็น กสทช. จากผู้ที่ผ่านการตรวจคุณสมบัติแล้ว เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการวิ่งเต้นเข้ารับตำแหน่งอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

จากนั้นจึงให้มีกระบวนการประเมินผลงานทุกปีเพื่อกระตุ้นให้เกิดการทำงาน หากไม่ผ่านเกณฑ์ประเมินก็ให้พ้นออกจากตำแหน่งทั้งในส่วนกรรมการ กสทช. และเลขาธิการ กสทช.

นางสาวนวลน้อย ตรีรัตน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่าภายใต้ร่างกฎหมายฉบับใหม่ยังไม่มีมิติเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค มีแต่การแก้ไขแบบเป็นรายกรณีไป

ซึ่งจะเห็นว่าในเรื่องร้องเรียนของผู้บริโภคมีมากกว่า 1,100 เรื่องแต่ยังมีเรื่องคงค้าง 600 เรื่อง ซึ่งปัญหานี้ควรแก้ไขในระดับโครงสร้างของ กสทช. ซึ่งที่ผ่านมาหากจะให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนนั้น การแข่งขันของผู้ให้บริการต้องมีจริงเพื่อเกิดการแข่งขันด้านคุณภาพและราคาให้เกิดขึ้นจริงในตลาด

นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านคุ้มครองผู้บริโภค เสนอว่า ต้องการให้การแก้ พ.ร.บ.ของ กสทช. โดยดูที่อำนาจหน้าที่เป็นหลัก ให้คงความเป็นองค์กรอิสระไว้แต่เป็นความอิสระที่มีขอบเขต ซึ่งรัฐบาลกับ กสทช.ต้องมีความสมดุลในอำนาจหน้าที่ระหว่างกัน

ส่วนการนำเงินของกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) มาเข้าในกองทุนที่จะตั้งใหม่เพื่อสนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลนั้น เขามองว่าควรพิจารณาถึงที่มาของเงินใน กสทป.ด้วย คือ มาจากรายได้ของกิจการกระจายเสียง ก็ควรนำไปใช้สนับสนุนอุตสาหกรรมนั้น เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริง

————————

หมายเหตุ: พิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 12 มิถุนายน 2558 ในชื่อ “วิพากษ์ร่าง ‘พ.ร.บ.กสทช.’ ‘ทีดีอาร์ไอ’ ยก 4 ประเด็นทำเสียหาย”