tdri logo
tdri logo
16 มิถุนายน 2015
Read in Minutes

Views

สมเกียรติ จี้รัฐปรับแนวทาง เพิ่มแรงจูงใจเอกชนวิจัย

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยหรือ ทีดีอาร์ไอ ได้ออกมาตอกย้ำให้รัฐบาลเล็งเห็นความสำคัญของการวิจัยและการพัฒนาอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้พบว่า ไทยมีงบประมาณวิจัยต่ำสุดในเอเชีย ซึ่งไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ขาดคนในวัยทำงาน ส่งผลให้เศรษฐกิจไม่ขยายตัว

ทางรอดหรือทางออกในการแก้ปัญหานี้ ทางภาครัฐควรผลักดันงบวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ่านเอกชนให้ได้ 1% ของจีดีพี หรือ กว่า 5.6 หมื่นล้านบาทภายใน 5 ปี

นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยในงานสัมมนา “EGAT R&D Forum 2015” ซึ่งจัดโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ว่า สภาพเศรษฐกิจไทยในอีก 10 ปีข้างหน้าจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และจะทำให้เศรษฐกิจประเทศไม่เติบโต ซึ่งจะเริ่มเห็นผลตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นไป จากจำนวนแรงงานไทยรุ่นหนุ่มสาวเริ่มลดลง และมีจำนวนผู้สูงอายุมากขึ้น

ดังนั้นเพื่อจะรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจไว้ รัฐบาลจะต้องใช้การวิจัยและพัฒนามาเป็นปัจจัยสำคัญช่วยพัฒนาเศรษฐกิจ ทั้งนี้ปัจจุบันไทยมีเม็ดเงินลงทุนสำหรับวิจัยและพัฒนาน้อยที่สุดในเอเชียประมาณ 0.47% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) หรือ ประมาณ 4 หมื่นล้านบาทต่อปี ต่างกับประเทศเกาหลีที่ใช้เม็ดเงินลงทุนถึง 3% ของจีดีพี และดำเนินการต่อเนื่องมาถึง 30 ปี ทำให้เกาหลีสามารถพัฒนาเทคโนโลยีสร้างการเติบโตให้กับเศรษฐกิจประเทศได้อย่างมาก

เป้าหมายที่รัฐบาลไทยกำหนดให้ใช้เม็ดเงินลงทุน 1% ของจีดีพีเพื่อการวิจัยและพัฒนาภายในปี 2559 และเพิ่มเป็น 2% ในปี 2564 รวมทั้งกำหนดสัดส่วนการลงทุนด้านวิจัยสำหรับเอกชน 70% รัฐบาล 30% เชื่อว่าจะไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เพราะมีปัจจัยข้อจำกัดหลายด้าน แต่เบื้องต้นเห็นว่ารัฐบาลควรผลักดันเม็ดเงินลงทุนด้านวิจัยให้ได้ 1% ของจีดีพี หรือประมาณ 5.6 หมื่นล้านบาทภายใน 5 ปี หรือในปี 2564 จึงจะช่วยผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคตได้ทัน

โดยรัฐบาลต้องปรับเปลี่ยนวิธีการสนับสนุนการวิจัยด้วย จากเดิมจะนำเงินสนับสนุนการวิจัยผ่านสถาบันวิจัยของรัฐหรือ ผ่านสถาบันการศึกษา ซึ่งแนวทางดังกล่าวไม่สามารถผลักดันสู่เชิงพาณิชย์ได้ มาเป็นการนำงบประมาณที่มีอยู่จำกัดไปสนับสนุนภาคเอกชนให้ดำเนินการแทน เช่น การลดหย่อนภาษีด้านการวิจัย หรือการกำหนดให้เอกชนมาร่วมลงทุนด้านการวิจัยระหว่างรัฐกับเอกชนในสัดส่วน 50 : 50% หรือรัฐให้เงินวิจัยโดยกำหนดให้เอกชนมาวิจัยแบบเป็นกลุ่มอุตสาหกรรม (คลัสเตอร์) ซึ่งเชื่อว่าได้ผลด้านการวิจัยเชิงพาณิชย์ได้มากกว่า

นอกจากนี้การวิจัยและพัฒนายังทำให้ประเทศสามารถหลุดพ้นจากภาวะประเทศที่มีรายได้ปานกลางภายในปี 2571 โดยต้องผลักดันภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรให้เดินไปสู่เศรษฐกิจภาคบริการมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงด้านปัจจัยผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าในอนาคตด้วย

อย่างไรก็ตามการที่จะเปลี่ยนแปลงให้เศรษฐกิจประเทศเติบโตเพิ่มขึ้นในอนาคตจะทำให้การใช้ไฟฟ้าของประเทศเติบโตสูงขึ้นด้วย ดังนั้นการวิจัยและพัฒนาด้านการใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพจะช่วยให้การใช้ไฟฟ้าในประเทศเกิดความคุ้มค่ามากขึ้นซึ่ง กฟผ. นับเป็นรัฐวิสาหกิจที่เป็นตัวอย่างที่ดี เนื่องจากให้ความสำคัญกับการวิจัยโดยให้เงินลงทุนด้านวิจัยถึง 3% ของกำไร

นายสุธน บุญประสงค์ รองผู้ว่าการระบบส่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา กฟผ. ให้การส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยนวัตกรรมใหม่ๆมาอย่างต่อเนื่อง โดยช่วง 10 ปีที่ผ่านมา กฟผ. สนับสนุนโครงการวิจัยแล้ว 220 โครงการเป็นจำนวนเงินกว่า 1,400 ล้านบาท

โดยเป็นโครงการวิจัยด้านสังคมชุมชนและสิ่งแวดล้อมจำนวน 56 โครงการเป็นเงินกว่า 225 ล้านบาท ทั้งนี้ กฟผ. จะมุ่งพัฒนาด้านวิจัยต่อไปโดยให้งบสนับสนุนการวิจัยถึง 3% ของกำไร โดยงานวิจัยของ กฟผ. สนับสนุนมี 3 รูปแบบคือ งานวิจัยเพื่อสังคมและชุมชน งานวิจัยเพื่อการผลิตและส่งไฟฟ้า และเทคโนโลยีสำหรับอนาคต

สำหรับงานวิจัยเพื่อสังคมและชุมชน กฟผ. มีผลงานวิจัยเพื่อมุ่งสู่การผลิตไฟฟ้าที่ปราศจากของเสีย โดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ “Mae Moh Zero Waste Concept” ซึ่งลดผลกระทบตั้งแต่ขั้นตอนการทำเหมือง การผลิตไฟฟ้า และการนำขี้เถ้าที่เป็นของเสียจากการผลิตไฟฟ้าไปใช้ให้เป็นประโยชน์ เช่น การทำปะการังเทียมผสมเถ้าลอยลิกไนต์เพื่อป้องกัน การกัดเซาะชายฝั่ง

งานวิจัยเพื่อการผลิตและส่งไฟฟ้า มีผลงานการพัฒนาหุ่นยนต์ตรวจสอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้า หุ่นยนต์เพื่อตรวจสอบท่อและผนังภายในหม้อไอน้ำ การสำรวจแนวสายส่งไฟฟ้าทางอากาศด้วยเทคโนโลยีไลดาร์ การพัฒนาระบบควบคุมสถานีไฟฟ้าแรงสูงระยะไกล ส่วนงานวิจัยด้านเทคโนโลยีสำหรับอนาคตจะนำเสนองานวิจัย บ้านยุคดิจิทัล ซึ่งโลกจะปรับระบบไฟฟ้าจาก AC สู่ DC เป็นต้น

————————

หมายเหตุ: พิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 16 มิถุนายน 2558 ในชื่อ “ ‘ทีดีอาร์ไอ’ จี้รัฐปรับแนวทาง เพิ่มแรงจูงใจเอกชนวิจัย”

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด