tdri logo
tdri logo
17 มิถุนายน 2015
Read in Minutes

Views

ทีดีอาร์ไอแจงสิทธิสุขภาพเหลื่อมล้ำสูง ข้าราชการอายุยืนเพราะมีหลายปัจจัยเหนือบัตรทอง

ที่ปรึกษาทีดีอาร์ไอแจงงานวิจัยพบ สิทธิสุขภาพมีความเหลื่อมล้ำสูง ระบุผู้ป่วยสิทธิข้าราชการอายุยืน ไม่ใช่ข้อสรุปบัตรทองไร้คุณภาพ แต่มีปัจจัยอื่นเหนือกว่า เช่น รายได้ บำนาญ สวัสดิการที่ทั่วถึงกว่า ชี้เน้นช่วยกันลดความเหลื่อมล้ำ

16 มิ.ย.2558 วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ อาจารย์มหาวิทยาลัยขอนแก่น และที่ปรึกษาสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ชี้แจงถึงกรณีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับงานวิจัยผลลัพธ์ทางสุขภาพและความเป็นธรรมทางสุขภาพ ซึ่งนำไปสู่การโจมตีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติว่า งานวิจัยดังกล่าวใช้ข้อมูลผู้ป่วยในจาก สปสช. และกรมบัญชีกลาง โดยผู้ป่วยในเหล่านี้เป็นโรคเรื้อรังโรคใดโรคหนึ่งจาก 5 โรค คือ ความดันโลหิตสูง หลอดเลือด เบาหวาน มะเร็ง และหัวใจ หรือเป็นหลายโรคในกลุ่มเดียวกันนี้

ที่ปรึกษาทีดีอาร์ไอกล่าวว่า การวิจัยได้เปรียบเทียบค่าใช้จ่ายปีสุดท้ายก่อนตายของผู้ป่วยกลุ่มนี้ และพบว่า มีความเหลื่อมล้ำสูงมากในผู้ป่วยที่มีสิทธิสุขภาพต่างกันทั้งที่เป็นโรคในกลุ่มเดียวกัน โดยพบว่าข้าราชการมีอายุเฉลี่ยที่ยืนยาวกว่าประชาชนทั่วไป แต่มีค่าใช้จ่ายมากกว่าถึง 13% ทั้งนี้ การที่อายุเฉลี่ยของข้าราชการยืนยาวกว่า อาจจะมีปัจจัยอื่นๆมาอธิบายได้ด้วย นอกจากเรื่องการรักษาพยาบาล เช่น มีอาชีพที่เป็นพิษภัยกับสุขภาพต่ำกว่า มีความรู้ความสามารถในการดูแลสุขภาพส่วนตัวมากกว่า มีรายได้เฉลี่ยสูงกว่า เป็นต้น

นอกจากนี้ งานวิจัยยังพบว่าผู้ป่วยในที่เป็นประชาชนทั่วไปมีอาการของโรครุนแรงกว่าเมื่อเข้ารับการรักษาในช่วงปีสุดท้ายก่อนตาย และมีบางรายที่เข้ารับการรักษาเป็นครั้งแรกในช่วง 5 ปีก่อนตาย ซึ่งอาจเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้อัตราการรอดต่ำเมื่อเข้ารับการรักษา ขณะที่ข้าราชการมีการเข้าถึงสวัสดิการรักษาพยาบาลที่ทั่วถึงกว่า

ที่ปรึกษาทีดีอาร์ไอกล่าวว่า การที่ข้าราชการซึ่งมีรายได้สูงกว่า และมีบำเหน็จบำนาญทำให้มีความสามารถในการเดินทางมารักษาได้ดีกว่าประชาชนทั่วไป ดังนั้น ผลจากงานวิจัยที่ระบุว่า สิทธิข้าราชการมีอัตราการตายต่ำกว่าสิทธิอื่นนั้นไม่สามารถนำมาใช้เป็นข้อมูลได้ว่า เป็นเพราะสิทธิอื่นซึ่งหมายถึง หลักประกันสุขภาพที่ สปสช. ดูแลอยู่นั้นมีการจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพ หรือที่มีการนำงานวิจัยไปอ้างว่า เป็นเพราะการรักษาแบบเหมาโหลทำให้ผู้ป่วยบัตรทองตายมากกว่าสิทธิข้าราชการนั้นก็เป็นการนำข้อมูลไปวิเคราะห์ไม่ถูกต้อง เนื่องจากต้องคำนึงถึงตัวแปรหรือปัจจัยอื่นๆอีกมาก เรียกได้ว่าการเอางานวิจัยนี้ไปอ้างเพื่อสรุปผลบางอย่างนั้น เป็นการบีบบังคับข้อมูลที่มีอยู่เล็กน้อยให้ตอบคำถามที่มากเกินไป

“ข้อมูลของ สปสช. และกรมบัญชีกลาง ทำให้การวิจัยสามารถวิเคราะห์ความเหลื่อมล้ำของการได้รับการรักษาของประชาชนได้ ทั้งนี้ก่อนที่ประเทศไทยจะมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้น การเก็บข้อมูลไม่ค่อยสมบูรณ์นัก ทำให้การวิเคราะห์ความเหลื่อมล้ำนี้จะกระทำมิได้เลย ดังนั้นการจะเปรียบเทียบว่าก่อนมีประกันสุขภาพถ้วนหน้า ความเหลื่อมล้ำหรือความเป็นธรรมทางสุขภาพเป็นอย่างไร เราไม่ทราบ มันอาจจะแย่กว่านี้หรือดีกว่านี้ เราไม่สามารถสรุปได้ สิ่งที่ได้จากงานวิจัยนี้คือ การวิจัยเพื่อพัฒนา เราน่าจะมาช่วยกันคิดว่าจะทำอะไรต่อไปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำนี้ให้ค่อยแคบลงเรื่อยๆจะดีกว่า” ที่ปรึกษาทีดีอาร์ไอกล่าว

——————

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท วันที่ 16 มิถุนายน 2558 ใน “ทีดีอาร์ไอแจงสิทธิสุขภาพเหลื่อมล้ำสูง ข้าราชการอายุยืนเพราะมีหลายปัจจัยเหนือบัตรทอง”

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด