ข้อคิดเห็นบางประการต่อบทวิจารณ์โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค

ปี2015-06-16

ณัฐนันท์ วิจิตรอักษร

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไท

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ข้อคิดเห็นบางประการต่อบทความเรื่อง “1.3% หรือ 4% ของ GDP สำหรับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไม่เป็นภาระทางการคลังจริงหรือ?” โดยศาสตราจารย์ ดร.นพ.อภิวัฒน์ มุทิรางกูร และ อาจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ ที่ตีพิมพ์บนเว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2558  บทความดังกล่าวอาจให้ข้อมูลและผลการวิเคราะห์ที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (หรือโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค) ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องวิธีการจัดทำและที่มาของงบประมาณ การขาดทุนของโรงพยาบาลรัฐ การดำเนินงานของกองทุนประกันสุขภาพ และการวิเคราะห์ทางสถิติ  ผู้เขียนขอจำแนกและให้ข้อมูลในบางประเด็นดังนี้

Nuttanan Wichitaksorn
ดร.ณัฐนันท์ วิจิตรอักษร, นักวิชาการ ทีดีอาร์ไอ

ประเด็นแรก “ค่าใช้จ่ายของสปสช. ในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้นมาจากกระเป๋าสตางค์หรือเงินงบประมาณของรัฐบาลล้วนๆ ไม่ได้มาจากกระเป๋าเงินของประชาชนแม้แต่บาทเดียว” ประเด็นนี้ถูกเพียงครึ่งเดียวนั่นคือ ค่าใช้จ่ายของ สปสช. เป็นเงินงบประมาณของรัฐบาลล้วนๆ แต่อีกส่วนที่เข้าใจผิดคือที่กล่าวว่าค่าใช้จ่ายของ สปสช. ไม่ได้มาจากกระเป๋าเงินของประชาชนแม้แต่บาทเดียว  แท้จริงแล้วงบประมาณของรัฐบาลนั้นมาจากภาษีของประชาชนเช่นเดียวกันกับกรณีของสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ (ซึ่งถือเป็นประกันสุขภาพชั้นเยี่ยม)  เป็นที่ทราบกันดีว่าภาษีก็คือเงินที่เก็บมาจากกระเป๋าของประชาชนผ่านภาษีรายได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีอื่นๆ อีกหลายประเภทและเกือบจะเป็นแหล่งรายได้เดียวที่รัฐบาลมีอยู่  แม้รัฐบาลจะสามารถกู้เงินได้แต่ก็ต้องใช้เงินภาษีมาจ่ายคืนอยู่ดี น่าเสียดายว่าโครงการ 30 บาท มักถูกคัดค้านจากกลุ่มคนที่อาจมีประกันสุขภาพชั้นเยี่ยมแต่กลับไม่เห็นด้วยกับโครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประชาชนผู้เสียภาษีอย่าง 30 บาท โดยมองว่าเป็นภาระทางการคลังของรัฐและความช่วยเหลือจากรัฐควรถูกจำกัด

งบประมาณค่าใช้จ่ายที่ สปสช. ได้รับจากรัฐบาลนั้นประกอบไปด้วยสองส่วนคือ 1.งบบริหาร และ 2.งบค่ารักษาพยาบาลที่คิดจากค่าใช้จ่ายต่อหัวคูณด้วยจำนวนผู้มีสิทธิลงทะเบียน งบในส่วนแรกนั้นคิดเป็นสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับงบประมาณค่าใช้จ่ายรวมของ สปสช. (งบบริหารในช่วงปี 2548-2557 อยู่ที่ประมาณ 600–1,600 ล้านบาท ขณะที่งบรวมอยู่ที่ประมาณ 80,000 -100,000 ล้านบาท)  ในส่วนงบค่ารักษาพยาบาลต่อหัวนั้นก็มิได้เพิ่มขึ้นโดยตลอด (ดังจะได้กล่าวถึงต่อไป) สปสช. ต้องพยายามต่อรองอย่างมากเนื่องจากในบางปีถูกรัฐบาลจำกัดงบประมาณในส่วนนี้ อย่างไรก็ตาม ในบางปีค่าใช้จ่ายต่อหัวนั้นเพิ่มขึ้นจากการปรับขึ้นค่าตอบแทนแก่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ขณะที่งบประมาณสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการในอดีตก็เพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงเช่นเดียวกัน

บทความดังกล่าวให้เหตุผลต่างๆนานา เช่น การเปิดคลีนิคพิเศษของโรงพยาบาลรัฐหลายแห่ง การเปิดโรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์ ว่าเป็นไปเพื่อชดเชยการขาดทุนจากโครงการ 30 บาทของ สปสช. ข้ออ้างนี้ยังขาดหลักฐานและข้อมูลที่จะสรุปได้ว่าโครงการ 30 บาททำให้แต่ละโรงพยาบาลขาดทุนเท่าไหร่ การใช้ค่า charge หรือค่าบริการที่โรงพยาบาลเรียกเก็บจาก สปสช. มาพิจารณาผลกำไรขาดทุนของโรงพยาบาลถือเป็นการตั้งสมมุติฐานที่ผิด แท้จริงแล้วค่า charge เป็น “รายได้พึงหวัง” มิใช่ “รายได้พึงได้” และเป็นการคิดจากโรงพยาบาลฝ่ายเดียว แนวคิดการเรียกเก็บตามค่า charge นี้มีพื้นฐานมาจากสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการที่จ่ายตามเรียก โรงพยาบาลเรียกเท่าไหร่กรมบัญชีกลางก็จ่ายไปเท่านั้น วิธีการแบบนี้ช่วยตัดปัญหาในการคิดต้นทุนและการทำบัญชีของโรงพยาบาล การเรียกเก็บค่า charge ที่เป็นรายได้พึงหวังนี้มิได้ทำให้โรงพยาบาลต้องพอเพียงหรือรักษาพยาบาลเท่าที่จำเป็น

ในทางกลับกัน กรณีโครงการ 30 บาท ที่เหมาจ่ายรายหัวทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน ค่ารักษาพยาบาลสำหรับผู้ป่วยนอกเป็นอัตราเหมาจ่ายโดยคิดจากอายุและอัตราการใช้สิทธิเฉลี่ยในอดีตของผู้มีสิทธิทั้งหมด ขณะที่การคิดค่ารักษาพยาบาลสำหรับผู้ป่วยในนั้นเป็นไปตามข้อตกลงระหว่าง สปสช. กับหน่วยบริการหรือสถานพยาบาลต่างๆ ที่ใช้วิธีที่เรียกว่ากลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม หรือ diagnosis-related groups (DRGs) ซึ่งใช้กันอย่างแพร่หลายในต่างประเทศและช่วยควบคุมให้การรักษาพยาบาลของสถานพยาบาลเป็นไปอย่างจำเป็นและพอเพียงผ่านการคำนวณน้ำหนักสัมพัทธ์ (relative weight) ในทางปฏิบัติเมื่อโรงพยาบาลเรียกเก็บเงินค่าบริการแบบรายได้พึงหวังมายัง สปสช. ทาง สปสช. จะคำนวณค่าบริการตามแบบ DRGs ที่ได้ตกลงกันไว้ หลังจากนั้นจึงจ่ายเงินออกไปโดยมิได้สนใจค่าบริการที่โรงพยาบาลพึงหวังเลย นั่นหมายความว่าหากโรงพยาบาลนำรายได้ที่พลาดหวังไปบันทึกในบัญชีว่าเป็นหนี้เสียหรือหนี้สูญแล้วคิดต่อไปเองว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้โรงพยาบาลขาดทุนนั้นนับเป็นวิธีที่มิได้สะท้อนถึงแนวคิดพอเพียงแต่อย่างใด ยิ่งไปกว่านั้นจนถึงขณะนี้ยังไม่มีหน่วยงานใดสามารถวิเคราะห์หาต้นทุนที่แท้จริงในการรักษาพยาบาลว่าผู้ป่วยสิทธิใดมีต้นทุนต่อหัวเท่าไหร่ ในเมื่อยังไม่มีใครทราบต้นทุนที่แท้จริงแล้วจะทราบได้อย่างไรว่ากองทุนใดเป็นสาเหตุของการขาดทุนของโรงพยาบาลหนึ่งๆ หรือไม่ เท่าไหร่

ในความเป็นจริงแล้ว รายได้หลักของโรงพยาบาลรัฐมาจากสี่แหล่งด้วยกันคือ 1.โครงการ 30 บาท 2. กองทุนประกันสังคม 3. สวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ และ 4. ผู้ป่วยจ่ายเอง นั่นหมายความว่าไม่ว่ารายได้จากส่วนใดหายไปหรือไม่เพียงพอจนทำให้โรงพยาบาลขาดทุน ประชาชนก็ต้องรับกรรมอยู่ดี กลุ่มที่รับเคราะห์มากที่สุดคือ ผู้ป่วยที่จ่ายเองเพราะหากโรงพยาบาลต้องเพิ่มค่ารักษาพยาบาลหรือถูกรัฐตัดงบประมาณแล้ว ผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องรับภาระเองอย่างไม่มีตัวช่วยและเป็นกลุ่มที่น่าเห็นใจมากที่สุด ยิ่งไปกว่านั้นโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งก็เข้าร่วมโครงการ 30 บาท คำถามที่ควรคิดคือทำไมโรงพยาบาลเอกชนเหล่านี้จึงเข้าร่วมโครงการดังกล่าว ไม่กลัวขาดทุนหรืออย่างไร (เราต้องไม่ลืมว่าโรงพยาบาลเอกชนใส่ใจต่อเรื่องต้นทุนและผลกำไรขาดทุนมากกว่าโรงพยาบาลรัฐหลายเท่า)

ประเด็นที่สอง “บุคลากรสาธารณสุขทำงานหนักมากกว่าเดิมหลายเท่าแต่ได้รับค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เพื่อลงแรงลงใจเพิ่มไปเยอะมากมาย แต่ได้ตอบแทนกลับคืนเพิ่มมาน้อยมาก ทำให้เกิดความรู้สึกไม่ยุติธรรมและสุดท้ายตัดสินใจลาออก” ผู้เขียนไม่ปฏิเสธว่าบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขในประเทศไทยส่วนใหญ่มีจิตใจที่ดีงามยอมทนทำงานเพื่อประชาชนและมีจรรยาบรรณต่อวิชาชีพของตน แต่ข้อสรุปที่กล่าวว่าบุคลากรดังกล่าวไม่ได้รับความยุติธรรมและสุดท้ายตัดสินใจลาออกนั้นยังไม่มีข้อมูลยืนยันถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นว่ามีมากน้อยเพียงใด ในความเป็นจริงแม้ค่าตอบแทนในรูปเงินเดือนของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข (มิเพียงแต่บุคลากรของกระทรวงสาธารณสุข) ที่นำมาเสนอนั้นจะเพิ่มขึ้นไม่มาก แต่เงินเพิ่มพิเศษอื่นๆที่บุคลากรดังกล่าวได้รับนั้นกลับเพิ่มขึ้นพอสมควร (การเปิดคลีนิคพิเศษก็เป็นหนทางหนึ่งในการเพิ่มค่าตอบแทน) ในกรณีโครงการ 30 บาทนั้น สปสช. ได้เพิ่มเงินส่วนที่เป็นค่าตอบแทนนี้ทั้งในแง่ของการครอบคลุมประเภทบุคลากรให้กว้างขึ้นและการเพิ่มเพดานค่าตอบแทนให้สูงขึ้น ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2557 สปสช. ได้เพิ่มเพดานค่าตอบแทนแก่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขจากประมาณ 5,000-10,000 บาทต่อคนต่อเดือนเป็น 50,000 บาทต่อคนต่อเดือน นอกจากนั้น เงินดังกล่าวนี้ยังเป็นเงินเหมาจ่ายที่ไม่สนว่าบุคลากรดังกล่าวทำงานให้แก่ผู้ป่วยในโครงการ 30 บาทมากน้อยเพียงใดในแต่ละเดือน หากนำค่าตอบแทนดังกล่าวมาคิดเป็นสัดส่วนต่อรายได้รวมแล้ว บุคลากรคนหนึ่งๆอาจได้รับค่าตอบแทนนี้ไม่น้อยไปกว่าเงินเดือนของตนเลย

ประเด็นที่สาม “เราเคยแนะให้ทาง สปสช. เข้ามาเป็นผู้นำในการแก้ปัญหาได้อย่างสง่างาม โดยให้ทาง สปสช. เสียสละรายได้” บทความดังกล่าวได้ร่ายยาวบริภาษโครงการ 30 บาทว่าเป็นภาระของรัฐและสังคมแต่กลับสรุปย้ำข้อเสนอที่ต้องการให้ สปสช. เสียสละรายได้ ผู้เขียนเองไม่แน่ใจว่าหาก สปสช. เสียสละรายได้แล้วจะทำให้โครงการ 30 บาทไม่เป็นภาระอีกต่อไปหรือไม่ เนื่องจากรายได้ของบุคลากรทั้งหมดของ สปสช. นั้นเป็นเพียงส่วนน้อยของค่าใช้จ่ายทั้งหมดของ สปสช. ในปีงบประมาณ 2557 งบด้านบุคลากรของ สปสช. อยู่ที่ประมาณ 600 ล้านบาทคิดเป็นเพียงร้อยละ 0.6 ของงบรวมจากรัฐบาลที่มีมูลค่าประมาณ 100,000 ล้านบาท

ประเด็นสุดท้าย “แบบจำลองการพยากรณ์ค่าใช้จ่ายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของ สปสช. (ที่จัดทำโดยอาจารย์ทั้งสอง) มีความกลมกลืนชั้นดีเลิศ” การวิเคราะห์ในส่วนนี้ใช้ข้อมูลค่าใช้จ่ายรายปีของ สปสช. บวกด้วยจำนวนเงินที่ขาดทุนของโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขและค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรตั้งแต่ปี 2545 (โดยมิได้กล่าวว่าข้อมูลแต่ละกลุ่มคิดเป็นสัดส่วนเท่าใด) มาวิเคราะห์แนวโน้มผ่านการวิเคราะห์ถดถอยอย่างง่าย  ผลการคำนวณได้ให้ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ (coefficient of determination หรือ R-squared) ที่สูงเกือบ 1 และนำไปสู่ข้อสรุปว่าแบบจำลองที่ใช้นั้นกลมกลืนดีเลิศ

ในวงวิชาการสถิติเป็นที่ทราบกันดีว่า การนำข้อมูลอนุกรมเวลา (time series) ที่ตัวเลขส่วนใหญ่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาวิเคราะห์ถดถอยอย่างง่าย ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ก็มีค่าสูงเกือบ 1 อยู่แล้ว นั่นหมายความว่า หากเป็นการวิเคราะห์แนวโน้มที่ใช้ข้อมูลอนุกรมเวลา ค่าสัมประสิทธ์สหสัมพันธ์นั้นแทบจะไร้ความหมาย (ตัวอย่างเช่น หากนำข้อมูลงบประมาณของรัฐบาลที่เพิ่มขึ้นเกือบทุกปีมาวิเคราะห์แนวโน้มหรือ trend analysis ก็จะได้ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ที่สูงเกือบ 1 เหมือนกัน) ในกรณีนี้แม้ไม่ใช้การวิเคราะห์ถดถอยอย่างง่ายก็เห็นได้ด้วยตาเปล่าอยู่แล้วว่าค่าใช้จ่ายรวมของ สปสช. นั้นเพิ่มขึ้นเกือบจะเป็นเส้นตรง (โปรดดูรูปที่ 1 ในบทความดังกล่าว) อย่างไรก็ตามประเด็นที่สำคัญกว่าคือการแสดงข้อมูลที่คาดเคลื่อนว่าค่าใช้จ่ายต่อหัว (ไม่นับรวมส่วนที่พยากรณ์) ของสปสช. นั้นเพิ่มขึ้นโดยตลอด (โปรดดูรูปที่ 2 ในบทความเดียวกัน) แท้จริงแล้วในปีงบประมาณ 2556 และ 2558 นั้นค่าใช้จ่ายดังกล่าวถูกรัฐบาลจำกัดไม่ให้เพิ่มขึ้นโดยให้เท่ากับในปีงบประมาณ 2555 และ 2557 ตามลำดับ หากจะอ้างว่าตัวเลขดังกล่าวเป็นตัวเลขพยากรณ์ก็แสดงว่าการพยากรณ์ที่ว่ากลมกลืนดีเลิศนั้นกลับคลาดเคลื่อนพอสมควร นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของปัญหาทางสถิติในการวิเคราะห์ถดถอยที่เกิดจากความสัมพันธ์ลวงของข้อมูล (spurious relationship)

ในทางตรงกันข้าม หากเป็นข้อมูลตัดขวาง (cross-sectional) ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์จะมีประโยชน์และสื่อความหมายได้ดีกว่าค่าที่สูงขึ้นจะสะท้อนถึงความสามารถของปัจจัยภายนอกต่างๆที่นำมาอธิบายความผันผวนของข้อมูลหรือปัจจัยที่เราสนใจวิเคราะห์ได้เป็นอย่างดี  (ในทางปฏิบัติ นักสถิติควรใช้ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ที่ปรับค่าแล้วหรือ adjusted R-squared ในการประเมินแบบจำลองเพราะน่าเชื่อถือกว่าค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์) ยิ่งไปกว่านั้นการใช้ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์มากล่าวอ้างความแม่นยำหรือความดีเลิศในการพยากรณ์แบบจำลองนั้นถือว่าเป็นความเข้าใจทางสถิติที่ไม่ถูกต้องนัก (เห็นได้จากตัวอย่างข้างต้น) วิธีการแบบง่ายๆเพื่อทดสอบความแม่นยำของแบบจำลองในการพยากรณ์ข้อมูลอนุกรมเวลาคือ การใช้ค่าสถิติต่างๆที่วัดความคลาดเคลื่อน เช่น mean squared error ผ่านการพยากรณ์แบบรวมและไม่รวมข้อมูลจริง (in-sample and out-of-sample forecasts)

ขณะที่ข้อมูลที่ใช้นั้นหากมาจากสามองค์ประกอบ (ในกรณีค่าใช้จ่ายรวมในรูปที่ 1 ของบทความนั้น) ซึ่งมีความผันผวนและคุณลักษณะที่อาจแตกต่างกัน  การพยากรณ์ควรแยกออกจากกัน (มิควรรวมกันแล้วพยากรณ์) ขณะเดียวกันการบวกจำนวนเงินที่โรงพยาบาลขาดทุนกลับเข้าไปกับค่าใช้จ่ายของ สปสช. นั้นเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับข้อมูลที่ใช้และหลักคิดเบื้องหลัง (ดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น)

นอกจากนั้น บทความดังกล่าวยังพยายามแสดงให้ผู้อ่านเห็นว่าค่าใช้จ่ายของ สปสช. นั้นเป็นภาระต่องบประมาณแผ่นดินผ่านแผนภาพค่าใช้จ่ายต่อหัวควบคู่ไปกับร้อยละของค่าใช้จ่ายรวมของ สปสช. ต่องบประมาณแผ่นดินโดยหารู้ไม่ว่าแผนภาพที่นำมาแสดงนั้นบางส่วนขัดแย้งกับสิ่งที่กำลังนำเสนอ (โปรดดูรูปที่ 2 ในบทความนั้น) จากภาพดังกล่าวเห็นได้อย่างชัดเจนว่าร้อยละของค่าใช้จ่ายรวมของ สปสช. ต่องบประมาณแผ่นดินมิได้เพิ่มขึ้นโดยตลอด ในหลายปีค่าร้อยละหรือสัดส่วนดังกล่าวกลับลดลงด้วยซ้ำ ขณะที่การนำเสนอภาพร้อยละควบคู่ไปกับค่าใช้จ่ายต่อหัวที่พยากรณ์นั้นอาจทำให้ผู้อ่านเข้าใจผิดอย่างมาก  หากต้องการแสดงให้เห็นว่าค่าใช้จ่ายรวมของ สปสช. เป็นภาระในอนาคตจริงก็ควรที่จะพยากรณ์ตัวเลขร้อยละหรือพยากรณ์ตัวเลขค่าใช้จ่ายรวมของ สปสช. และงบประมาณแผ่นดินเพื่อนำมาหาค่าร้อยละพยากรณ์

ยิ่งไปกว่านั้นผลการพยากรณ์ยังมีปัญหาสำคัญคือ การนำผลการวิเคราะห์ค่าใช้จ่ายรวมของ สปสช. มาพยากรณ์ค่าใช้จ่ายต่อหัว แม้ว่าค่าใช้จ่ายรวมของ สปสช. จะสัมพันธ์กับค่าใช้จ่ายต่อหัวแต่ก็มิได้หมายความว่าการพยากรณ์ค่าใช้จ่ายต่อหัวจะสามารถทำได้โดยตรงจากค่าใช้จ่ายรวมของ สปสช. เนื่องจากตัวแปรสำคัญอีกตัวแปรหนึ่งคือ จำนวนผู้ลงทะเบียนใช้สิทธิที่อาจเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละปี  มิหนำซ้ำการนำผลวิเคราะห์แนวโน้มมาใช้พยากรณ์นั้นยังเป็นความเข้าใจผิดเกี่ยวกับวิธีการทางสถิติอย่างมาก ด้วยเหตุที่ว่าแนวโน้มเป็นเพียงตัวบ่งชี้คุณลักษณะหนึ่งของข้อมูลแต่มิใช่ตัวกำหนด (หรือตัวที่ทำให้ตัวเลขเพิ่มขึ้น) ขณะที่ยังมีปัจจัยสำคัญอื่นที่เป็นตัวกำหนดค่าใช้จ่ายรวมของ สปสช. อาทิ นโยบายของรัฐที่ในหลายปีจำกัดงบประมาณโดยไม่เพิ่มค่าใช้จ่ายต่อหัวของ สปสช. และโครงสร้างต้นทุนอันเป็นที่มาของค่าใช้จ่ายต่อหัว การใช้แต่ผลจากการวิเคราะห์แนวโน้มจึงมีโอกาสผิดพลาดสูงแม้ว่าค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์จะสูงถึงเกือบ 1 ก็ตาม (ตามที่ได้กล่าวไปแล้ว)

ท้ายนี้ ผู้เขียนคิดว่าการช่วยกันตรวจสอบโครงการต่างๆของรัฐบาลเป็นสิ่งที่ดีและควรกระทำ แต่หากอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่ผิดและวิธีการวิเคราะห์ที่คลาดเคลื่อนแล้ว การตรวจสอบนั้นจะกลายเป็นเพียงการกล่าวหาและส่งผลร้ายมากกว่าผลดี ยิ่งไปกว่านั้นผู้บริหารนโยบายเองคงต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วนว่าบทวิเคราะห์วิจารณ์ต่างๆ นั้นมีข้อมูลและผลการวิเคราะห์ที่น่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด ดังเช่นในกรณีบทวิจารณ์โครงการ 30 บาทนี้ก็เป็นคำตอบอยู่ในตัวเองอยู่แล้วว่าผู้บริหารนโยบายควรให้ความสำคัญหรือไม่ อย่างไร

———————-

หมายเหตุ : ติดตามบทความฉบับต่อไป เรื่อง “ข้อคิดเห็นบางประการ 30 บาทรักษาทุกโรค”