ข้อคิดเห็นบางประการ 30 บาทรักษาทุกโรค

ปี2015-06-26

ณัฐนันท์ วิจิตรอักษร

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

ฉบับที่แล้วผมได้เขียนเรื่อง “1.3% หรือ 4% ของ GDP สำหรับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไม่เป็นภาระทางการคลังจริงหรือ?” ไปบางส่วน วันนี้ขอขยายเรื่องนี้ต่อนะครับ

Nuttanan Wichitaksorn
ดร.ณัฐนันท์ วิจิตรอักษร, นักวิชาการ ทีดีอาร์ไอ

ประเด็นที่ต้องพิจารณาเพิ่มเติมจากที่ได้นำเสนอไปว่า รายได้หลักของโรงพยาบาลรัฐมาจาก 4 แหล่ง คือ 1. โครงการ 30 บาท 2. กองทุนประกันสังคม 3. สวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ และ 4. ผู้ป่วยจ่ายเอง หมายความว่า ไม่ว่ารายได้จากส่วนใดหายไปหรือไม่เพียงพอจนทำให้โรงพยาบาลขาดทุน ประชาชนต้องรับกรรมอยู่ดี

กลุ่มที่รับเคราะห์มากที่สุด คือ ผู้ป่วยที่จ่ายเอง เพราะหากโรงพยาบาลต้องเพิ่มค่ารักษาพยาบาลหรือ ถูกรัฐตัดงบ ผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องรับภาระเองอย่างไม่มีตัวช่วย ยิ่งไปกว่านั้นโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งก็เข้าร่วมโครงการ 30 บาท คำถามคือ ทำไมโรงพยาบาลเอกชนเหล่านี้จึงเข้าร่วมโครงการ ไม่กลัวขาดทุนหรืออย่างไร

ยังมีเรื่องบุคลากรสาธารณสุขทำงานหนักมากกว่าเดิมหลายเท่า แต่ได้รับค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ทำให้เกิดความรู้สึกไม่ยุติธรรมและสุดท้ายตัดสินใจลาออก แต่ยังไม่มีข้อมูลยืนยันถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นว่ามีมากน้อยเพียงใด

ในความเป็นจริง แม้ค่าตอบแทนในรูปเงินเดือนของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข (มิเพียงแต่บุคลากรของกระทรวงสาธารณสุข) เพิ่มขึ้นไม่มาก แต่เงินเพิ่มพิเศษอื่นๆที่บุคลากรดังกล่าวได้รับนั้นกลับ เพิ่มขึ้นพอสมควร (การเปิดคลินิกพิเศษก็เป็นหนทางหนึ่งในการเพิ่มค่าตอบแทน)

ในกรณีโครงการ 30 บาทนั้น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้เพิ่มเงินส่วนที่เป็นค่าตอบแทนนี้ทั้งในแง่ของการครอบคลุมประเภทบุคลากรให้กว้างขึ้น และการเพิ่มเพดานค่าตอบแทนให้สูงขึ้น ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2557 สปสช.ได้เพิ่มเพดานค่าตอบแทนแก่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข จาก 5,000-10,000 บาท/คน/เดือน เป็น 50,000 บาท/คน/เดือน

นอกจากนั้น เงินดังกล่าวนี้ยังเป็นเงินเหมาจ่ายที่ไม่สนว่า บุคลากรดังกล่าวทำงานให้แก่ผู้ป่วยในโครงการ 30 บาทมากน้อยเพียงใดในแต่ละเดือน หากนำค่า ตอบแทนดังกล่าวมาคิดเป็นสัดส่วนต่อรายได้รวมแล้ว บุคลากรคนหนึ่งๆอาจได้รับค่าตอบแทนนี้ไม่น้อยไปกว่าเงินเดือนของตนเลย

ขณะที่หากพิจารณาถึงรายได้ของบุคลากรจะพบว่าในโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค รายได้ของบุคลากรทั้งหมดของ สปสช. นั้นเป็นเพียงส่วนน้อยของค่าใช้จ่ายทั้งหมดของ สปสช. ในปีงบประมาณ 2557 งบด้านบุคลากรของ สปสช. อยู่ที่ประมาณ 600 ล้านบาท คิดเป็นเพียงร้อยละ 0.6 ของงบรวมจากรัฐบาลที่มี มูลค่าประมาณ 100,000 ล้านบาท

ประเด็นสุดท้าย หากนำแบบจำลองการพยากรณ์ค่าใช้จ่ายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของ สปสช. ซึ่งมีใช้ข้อมูลค่าใช้จ่ายรายปีของ สปสช. บวกด้วยจำนวนเงินที่ขาดทุนของโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรตั้งแต่ปี 2545 มาวิเคราะห์แนวโน้มผ่านการวิเคราะห์ถดถอยอย่างง่าย ผลการคำนวณได้ให้ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ที่สูงเกือบ 1 และนำไปสู่ข้อสรุปว่าแบบจำลองที่ใช้นั้นกลมกลืนดีเลิศ

ในวงวิชาการสถิติเป็นที่ทราบกันดีว่า การนำข้อมูลอนุกรมเวลาที่ตัวเลขส่วนใหญ่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาวิเคราะห์ถดถอยอย่างง่าย ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ก็มีค่าสูงเกือบ 1 อยู่แล้ว นั่นหมายความว่า หากเป็นการวิเคราะห์แนวโน้มที่ใช้ข้อมูลอนุกรมเวลา ค่าสัมประสิทธ์สหสัมพันธ์นั้นแทบจะไร้ความหมาย

แท้จริงแล้วในปีงบประมาณ 2556 และ 2558 นั้นค่าใช้จ่ายดังกล่าวถูกรัฐบาลจำกัดไม่ให้เพิ่มขึ้นโดยให้เท่ากับในปีงบประมาณ 2555 และ 2557 ตามลำดับ หากจะอ้างว่าตัวเลขดังกล่าวเป็นตัวเลขพยากรณ์ก็แสดงว่าการพยากรณ์ที่ว่ากลมกลืนดีเลิศนั้นกลับคลาดเคลื่อนพอสมควร นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของปัญหาทาง สถิติในการวิเคราะห์ถดถอยที่เกิดจากความสัมพันธ์ลวงของข้อมูล

ในทางตรงกันข้าม หากเป็นข้อมูลตัดขวาง ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์จะมีประโยชน์และสื่อความหมายได้ดีกว่าค่าที่สูงขึ้นจะสะท้อนถึงความสามารถของปัจจัยภายนอกต่างๆที่นำมาอธิบายความผันผวนของข้อมูล หรือปัจจัยที่เราสนใจวิเคราะห์ได้เป็นอย่างดี ยิ่งไปกว่านั้นการใช้ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์มากล่าวอ้างความแม่นยำหรือความดีเลิศในการพยากรณ์แบบจำลองนั้นถือว่าเป็นความเข้าใจทางสถิติที่ไม่ถูกต้องนัก

วิธีการแบบง่ายๆเพื่อทดสอบความแม่นยำของแบบจำลองในการพยากรณ์ข้อมูลอนุกรมเวลา คือ การใช้ค่าสถิติต่างๆที่วัดความคลาดเคลื่อน เช่น mean squared error ผ่านการพยากรณ์แบบรวมและไม่รวมข้อมูลจริง

ผมเห็นว่าข้อมูลที่ใช้มีความผันผวนและคุณลักษณะที่อาจแตกต่างกัน การพยากรณ์ควรแยกออกจากกัน ขณะเดียวกันการบวกจำนวนเงินที่โรงพยาบาลขาดทุนกลับเข้าไปกับค่าใช้จ่ายของ สปสช. นั้นเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับข้อมูลที่ใช้และหลักคิดเบื้องหลังได้

———————-

ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์โพสต์ ทูเดย์ วันที่ 26 มิถุนายน2558 ใน “ข้อคิดเห็นบางประการ 30 บาทรักษาทุกโรค”

บทความฉบับที่แล้ว: “ข้อคิดเห็นบางประการต่อบทวิจารณ์โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค”