ปรับ LEED-X รับยุค Digital ใช้ปลายปี

ปี2015-06-17

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

นายอุกฤทธิ์ ศรีหนองโคตร รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวในการประชุมความร่วมมือในการเชื่อมโยงเครือข่ายข้อมูลระหว่างหน่วยงาน เรื่อง “ระบบ LEED-X สู่ยุค Digital” โดยระบุว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการขับเคลื่อนประเทศ จะทำให้การวางแผนพัฒนาประเทศในด้านอุตสาหกรรมเป็นอย่างมีระบบ ภายใต้ระบบ LEED-X (Labour Economic and Education Data Exchange) ซึ่งเป็นฐานข้อมูลสำคัญของสารสนเทศด้านเศรษฐกิจ การศึกษา และกำลังแรงงานในอุตสาหกรรม ดังนั้นการนำ LEED-X มาใช้ในการจัดทำฐานข้อมูลอุปสงค์อุปทานรวมถึงกำลังคนในภาคอุตสาหกรรมรองรับการวางแผนพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศจะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน รวมถึงจะทำให้การเชื่อมโยงเครือข่ายฐานข้อมูลทางเศรษฐกิจ การศึกษา และแรงงาน ทั้งภาครัฐและเอกชนเป็นไปอย่างครบวงจร ทันสมัย และมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ด้านนายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ความร่วมมือในการเชื่อมโยงเครือข่ายจัดทำระบบ LEED-X ครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือระหว่าง 5 หน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม​ กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานสถิติแห่งชาติ และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยเชื่อว่าการพัฒนาระบบ LEED-X ภายใต้ความร่วมมือกับพันธมิตรนั้นจะนำไปสู่การบูรณาการข้อมูลภาครัฐตามนโยบายรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์และตอบสนองต่อการพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐสมัยใหม่ในอนาคตด้วย

เช่นเดียวกับรศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ได้มีการศึกษาวิจัยระบบ LEED-X ตั้งแต่ปี 2551 โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมได้มอบหมายให้ทีดีอาร์ไอทำการศึกษาวิจัยฐานข้อมูลเพื่อวางระบบบริหารจัดการกำลังคนในการรองรับการวางแผนพัฒนากำลังคนภาคอุตสาหกรรมของประเทศ โดยมีการพัฒนาเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งแนวทางการปรับปรุงระบบหลักๆ คือ ข้อมูลที่ใช้ต้องมีความน่าสนใจ เข้าใจง่าย และเป็นข้อมูลสนับสนุนการทำรายงานสถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรมและแรงงานในภาคอุตสาหกรรม โดยสามารถมองเห็นภาพรวมและแนวโน้มของอุปสงค์อุปทานกำลังคนของประเทศได้อย่างชัดเจน

ซึ่งการคัดเลือกอุตสาหกรรมที่จะนำมาเข้าระบบนั้นต้องเป็นอุตสาหกรรมที่เป็นเป้าหมายในการพัฒนาประเทศ มีความสำคัญต่อภาพรวมของเศรษฐกิจเป็นตลาดแรงงานที่สำคัญ และมีส่วนสำคัญในการเตรียมความพร้อมของกลุ่มอุตสาหกรรม โดยเน้นอุตสาหกรรม 13 กลุ่ม ได้แก่ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ยานยนต์และชิ้นส่วน อาหารและเครื่องดื่ม ยางพารา ไม้และเฟอร์นิเจอร์ เครื่องหนัง เซรามิกส์ พลาสติก เคมีภัณฑ์ ปิโตรเคมี กระดาษ และอัญมณี โดยอุตสาหกรรมเหล่านี้ถือเป็นอุตสาหกรรมลำดับต้นๆที่สะท้อนถึงทิศทางและแนวโน้มของเศรษฐกิจและภาคอุตสาหกรรมในระยะสั้นและยาวได้

ดร.วัชระ ฉัตรวิริยะ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า ระบบ LEED-X ที่ปรับปรุงมาอย่างต่อเนื่องนั้น หน่วยงานพันธมิตรแต่ละสังกัดสามารถนำไปใช้ได้อย่างง่ายดาย โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจ อาทิ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ดัชนีอุตสาหกรรมแต่ละสาขาอุตสาหกรรม ปริมาณการผลิตอุตสาหกรรม รายผลิตภัณฑ์ รายชื่อสถานประกอบการในไทย กำลังแรงงานความต้องการแรงงาน และดัชนีแรงงานในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งในข้อมูลเหล่านี้ยังเพิ่มความคล่องตัว เรื่องวิธีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานด้วย อันจะนำไปสู่การสนับสนุนการทำงานได้สมบูรณ์มากขึ้น

นอกจากนี้ผู้วิจัยได้เพิ่มความสามารถการให้บริการด้วยการจัดระบบการนำเสนอด้วยการดึงข้อมูลเฉพาะที่สำคัญมานำเสนอและการเลือกดูชุดข้อมูลที่หลากหลาย รวมถึงการจัดทำอินโฟกราฟฟิก โดยรองรับการแสดงผลบนสมาร์ทดีไวซ์ซึ่งเป็นไปตามเทรนด์ของโลกที่ทำให้การเชื่อมโยงเครือข่ายดังกล่าวให้ไปอย่างรวดเร็วและเป็นเอกภาพมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาระบบ LEED-X ยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ครอบคลุมทันสมัยและดีที่สุด โดยคาดว่าการปรับปรุงดังกล่าวจะเสร็จสมบูรณ์ภายในเดือนกันยายนนี้ และสามารถเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในช่วงปลายปี 2558