ชี้สังคมไทย จน-รวย เหลื่อมล้ำมาก

ปี2015-07-09

เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) หรือไอทีดี จัดสัมมนาเรื่อง “แนวทางการพัฒนาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและการเติบโตอย่างสมดุลสำหรับประเทศไทย” ที่โรงแรมเอเชีย กรุงเทพฯ โดยนายวิทยา ปิ่นทอง ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า ข้อมูลปี 2556 พบว่าไทยมีสัดส่วนคนจน 10% หรือราว 7.3 ล้านคน อย่างไรก็ตาม คน 10% ที่จนที่สุดมีสัดส่วนรายได้เพียง 1.06% ส่วน 10% ที่รวยที่สุดมีสัดส่วนรายได้อยู่ที่ 36% ทั้งสองกลุ่มมีความแตกต่างด้านรายได้สูงกว่า 34 เท่า และยังพบว่ามีความเหลื่อมล้ำด้านทรัพยากรการผลิต สะท้อนจากการถือครองที่ดิน โดยคนรวย 20% แรกถือครองที่ดินกว่า 70-80% ของที่ดินทั้งหมด ส่วนกลุ่มที่จนที่สุด 20% ถือครองที่ดินเพียง 0.3% ของที่ดินทั้งหมด

“การขยายตัวของเศรษฐกิจขณะนี้ต่ำกว่าศักยภาพ การจะหลุดพ้นประเทศรายได้ปานกลางและลดความเหลื่อมล้ำในสังคมจะต้องมีการลงทุนโครงการต่างๆ ทั้งโครงสร้างพื้นฐาน โลจิสติกส์ และด้านการพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันและความสามารถในการสร้างรายได้” นายวิทยากล่าว

นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า นโยบายสำคัญที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้คือ นโยบายการคลัง หลายรัฐบาลที่ผ่านมาในระยะกว่า 40-50 ปี ทำไม่สำเร็จ นโยบายการคลังที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทำได้ทั้งในแง่ผ่านการจัดเก็บภาษี ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีการจัดเก็บในอัตราก้าวหน้าสูงสุด 35% คนที่มีรายได้มากต้องจ่ายมาก แต่ยังมีการเก็บภาษีจากฐานทรัพย์สินน้อย แม้ว่ามีความพยายามจะผลักดัน เช่น การเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แต่ก็ถูกตีตกไปหลายครั้ง ส่วนการจัดเก็บภาษีมรดกแม้จะผ่านแล้ว แต่ประเมินว่าน่าจะจัดเก็บได้น้อย เพราะกลุ่มคนที่มีทรัพย์สินมากกว่าร้อยล้านบาทมีจำกัด

“สังคมไทย คนรวยไม่พร้อมเสียสละผ่านนโยบายการคลัง จะเห็นได้จากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ถูกตีตกไปหลายรอบ และจะเห็นความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสวัสดิการต่างๆ เห็นได้จากการใช้จ่ายนโยบายของภาครัฐจะเน้นเอื้อประโยชน์ต่อคนรวย ที่เอื้อประโยชน์ต่อคนจนมีน้อย และมองเป็นประเด็นในเรื่องของประชานิยม การที่ระบบประกันสังคมไม่เกิดก็มาจากแรงต้านจากผู้ใหญ่หรือคนที่เป็นตัวแทนคนรวย หรือการทำให้คนจนเคยตัว นอกจากนี้การใช้นโยบายประชานิยมยังทำให้เห็นการแบ่งขั้วทางการเมือง สะท้อนความเหลื่อมล้ำให้เห็นเช่นกัน” นายสมชัยกล่าว

————————

หมายเหตุ: พิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 9 กรกฎาคม 2558 ใน “ชี้สังคมไทย จน-รวย เหลื่อมล้ำมาก”