“ดร.สมเกียรติ” ประธานทีดีอาร์ไอ แจงข้อสรุปผลการศึกษาวิจัยบัตรทองและข้าราชการ แค่ชี้ให้เห็นความเหลื่อมล้ำในสิทธิการรักษาพยาบาลไม่สามารถสรุปว่าผู้ป่วยสิทธิบัตรทองได้รับการรักษาที่แย่กว่าสิทธิข้าราชการ รวมทั้งไม่สามารถสรุปว่าผู้ป่วยบัตรทองมีการเสียชีวิตสูงเกินเหตุหรือไม่ เพราะตัวแปรต่างกัน ชี้ต้องลดความเหลื่อมล้ำด้วยการเพิ่มงบประมาณบัตรทองให้มากขึ้น
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ชี้แจงในรายการคิดยกกำลัง 2 กับ COMMENTATORS : สิทธิการรักษาพยาบาลผู้สูงอายุ ช่องไทยพีบีเอส วันที่ 29 มิถุนายน 2558 ต่อกรณีที่มีการเผยแพร่ผลการศึกษาของทีดีอาร์ไอในสื่อต่างๆ โดยระบุว่าผู้ป่วยที่ใช้สิทธิบัตรทองเสียชีวิตมากกว่าและตายเร็วกว่าผู้ป่วยสิทธิข้าราชการ และผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพได้รับการรักษาที่แย่กว่าสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ รวมทั้งผู้ป่วยบัตรทองมีการเสียชีวิตสูงเกินเหตุ
ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า การศึกษาของทีดีอาร์ไอครั้งนี้เพื่อศึกษาว่าผลลัพธ์การรักษาพยาบาลของ 2 กองทุนหลัก คือ สิทธิสวัสดิการข้าราชการ และสิทธิหลักประกันสุขภาพ (บัตรทอง) เป็นอย่างไร โดยใช้การเปรียบเทียบ แต่อย่างไรก็ตามการเปรียบเทียบที่ดีที่สุดคือ การศึกษาโดยใช้ฝาแฝด เพราะมีความเหมือนกันทั้งสภาพร่างกาย อายุ และสถานะทางสังคม แต่ในโลกความจริงไม่ได้มีฝาแฝดเพื่อมาเปรียบเทียบมากขนาดนั้น จึงต้องศึกษาจากผู้ป่วยที่มีอยู่ ซึ่งมีความแตกต่างกันทั้งสภาพสังคม อาการของโรค
“ขอชี้แจงว่าการศึกษาของทีดีอาร์ไอ ไม่ได้ศึกษาเพื่อแสดงให้เห็นว่าระบบไหนดีกว่ากัน เพราะระบบสิทธิรักษาพยาบาลมีความแตกต่างกัน แต่ต้องการทำความเข้าใจว่ามีความเป็นธรรมในระบบการรักษาพยาบาลหรือไม่เท่านั้น” ดร.สมเกียรติ กล่าว
ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า จากข้อมูลการศึกษาวิจัยพบว่า อัตราส่วนของผู้ป่วยสูงอายุของสิทธิบัตรทอง เสียชีวิตในโรงพยาบาล 45.5% ที่เหลือไปเสียชีวิตที่อื่น แต่ผู้ป่วยสูงอายุสิทธิข้าราชการมีอัตราการเสียชีวิตในโรงพยาบาล 40.3% ที่เหลือไปเสียชีวิตที่อื่น ทีดีอาร์ไอจึงสรุปจากการศึกษาพบว่าผู้ป่วยสิทธิบัตรทองมีอัตราการเสียชีวิตในโรงพยาบาลมากกว่าผู้ป่วยสิทธิข้าราชการ แต่การศึกษาไม่ได้บอกว่าผู้ป่วยบัตรทองมีอัตราการเสียชีวิตมากกว่าปกติ หรือระบบการให้บริการบัตรทองมีปัญหาตามที่มีการกล่าวอ้างถึงกัน
การเสียชีวิตที่มากกว่าในโรงพยาบาลนั้นอาจจะเกิดจากการที่ผู้ป่วยบัตรทองเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลช้ากว่า ในปีสุดท้ายคือ ในช่วง 3 เดือนสุดท้าย ก่อนเสียชีวิตผู้ป่วยบัตรทองเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลช้าถึง 95% แต่ผู้ป่วยสิทธิข้าราชการเข้ารับการรักษาช้าเพียง 49% และจำนวนวันที่ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลในช่วง 1 ปีสุดท้ายของชีวิตพบว่า ผู้ป่วยสิทธิข้าราชการรักษาตัวในโรงพยาบาล 22.8 วัน ส่วนผู้ป่วยสิทธิบัตรทองรักษาตัวในโรงพยาบาลเพียง 14.3 วัน
ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า นอกจากนี้งบประมาณที่ใช้ในการรักษาพยาบาลก็มีความแตกต่างกัน การศึกษาพบว่า ผู้ป่วยสิทธิบัตรทองในช่วง 9 เดือนสุดท้ายก่อนเสียชีวิตมีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล 5,727 บาทต่อเดือน ขณะที่ผู้ป่วยสิทธิข้าราชการใช้สูงถึง 10,316 บาทต่อเดือน และเฉพาะในช่วง 3 เดือนสุดท้ายก่อนจะเสียชีวิต ผู้ป่วยบัตรทองมีค่ารักษาเฉลี่ย 12,233 บาทต่อเดือน แต่สิทธิข้าราชการใช้งบประมาณ 23,351 บาท ดังนั้นจากการศึกษาจึงพบว่าในช่วงสุดท้ายก่อนเสียชีวิตค่ารักษาพยาบาลจะเพิ่มสูงมากขึ้น และค่าใช้จ่ายในระบบราชการจะสูงกว่าบัตรทองมากเท่านั้น
จากผลการศึกษาพบว่าค่ารักษาพยาบาลช่วงสุดท้ายของชีวิตจะสูงมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นหากรัฐต้องการประหยัดงบประมาณต้องสนับสนุนให้ผู้ป่วยไปเสียชีวิตที่บ้านด้วยการสอนให้ผู้ป่วยและญาติเรียนรู้วิธีการดูแลรักษาพยาบาลที่บ้านให้ผู้ป่วยได้เสียชีวิตอย่างมีความสุขที่บ้าน และการศึกษาพบว่ามีความเหลื่อมล้ำในการใช้งบประมาณเพื่อรักษาพยาบาลของระบบหลักประกันสุขภาพและสิทธิสวัสดิการข้าราชการ ดังนั้นจึงต้องเพิ่มงบประมาณให้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้เพียงพอพร้อมๆกับส่งเสริมให้ผู้ป่วยสิทธิบัตรทองเข้ามารับบริการรักษาพยาบาลให้เร็วขึ้น
“ข้อสรุปจากการศึกษาพบว่า การที่ผู้ป่วยบัตรทองเสียชีวิตที่โรงพยาบาลมากกว่า ไม่ได้ความหวายว่าสิทธิหลักประกันสุขภาพแย่กว่าสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ และไม่ได้หมายความว่าผู้ป่วยบัตรทองมีการเสียชีวิตสูงเกินเหตุ ดังนั้น ข้อสรุปที่ปรากฏตามสื่อต่างๆก่อนหน้านี้จึงเป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อน ผมยืนยันว่าการศึกษาชิ้นนี้พยายามชี้ให้เห็นถึงพฤติกรรมการใช้บริการสุขภาพของทั้งสองระบบ เพื่อนำไปปรับปรุงระบบให้ดีขึ้นเท่านั้น” ดร.สมเกียรติ กล่าว
————————
หมายเหตุ: พิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 2 มิถุนายน 2558 ใน “ประธานทีดีอาร์ไอแจงวิจัยบัตรทอง เพื่อศึกษาความเหลื่อมล้ำ ข้อมูลที่ใช้สรุปคุณภาพรักษาไม่ได้”