ทีดีอาร์ไอเผยงานวิจัยการบริหารจัดการน้ำของไทยมีปัญหาจากการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ไม่ตระหนักเรื่องเส้นทางน้ำและโครงสร้างการบริหารจัดการน้ำของรัฐขาดประสิทธิภาพ พร้อมเสนอให้รัฐบาลการแก้ปัญหาโดยไม่เน้นสิ่งปลูกสร้าง และมีรูปแบบการจัดการแบบล่างขึ้นบน รวมถึงเน้นการแก้ปัญหาโดยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ ได้รับทุนวิจัยจาก International Development Research Centre หรือ IDRC ในการวิจัยการบริหารจัดการน้ำของประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วยโครงการย่อย 3 ด้าน คือ การบริหารจัดการน้ำกับการใช้ที่ดิน การปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมในการป้องกันน้ำท่วม และการบริหารจัดการน้ำกับการจัดการด้านสถาบัน โดยจัดสัมมนาเพื่อเสนอแนะเชิงนโยบาย เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2558
ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร จากทีดีอาร์ไอในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า วิกฤติภัยแล้งและน้ำท่วมไม่ได้เกิดจากธรรมชาติอย่างเดียว แต่เกิดจากความผิดพลาดของนโยบายและการจัดการน้ำ รวมทั้งปัญหาการใช้ที่ดินที่ขาดการควบคุม ในขณะที่แนวทางการแก้ปัญหาของภาครัฐยังคงเน้นสิ่งก่อสร้างเป็นหลัก ดังนั้น งานวิจัยชิ้นนี้จึงมีข้อเสนอเชิงนโยบายที่สำคัญ ให้ความสำคัญกับการสร้างสถาบันการจัดการน้ำที่ไม่ใช่สิ่งก่อสร้าง สร้างรูปแบบการจัดการจากล่างขึ้นบน โดยที่การจัดการนั้นเป็นการจัดการแบบมีส่วนร่วมตามหลักประชาธิปไตย มีอิสระและความยั่งยืนทางการเงิน และมีธรรมาภิบาลโดยสร้างกรอบกติกาทางกฎหมายกำกับการบริหารจัดการและคุ้มครองผลประโยชน์ของผู้ที่อยู่ต่างลุ่มน้ำ
นอกจากนี้ยังกล่าวว่า ผลการวิจัยด้านการจัดการน้ำแล้งพบว่ามีจุดอ่อน คือ การจัดการแบบรวมศูนย์ไว้ที่หน่วยงานของรัฐ ในขณะที่การรวมกลุ่มผู้ใช้น้ำ (JMC) ที่กรมชลประทานสนับสนุนให้ก่อตั้งขึ้นนั้นมีกลุ่มที่เข้มแข็งไม่มากนัก ส่วนความพยายามในการตั้งคณะกรรมการลุ่มน้ำก็ไม่ประสบความสำเร็จเพราะขาดการ สนับสนุนและการรวมตัวของกลุ่มผู้ใช้น้ำในจังหวัดต่างๆซึ่งเป็นข้อต่อที่สำคัญ ดังนั้นหากรัฐต้องการกระจายอำนาจการจัดการน้ำอย่างแท้จริง ต้องสร้างความเข้มแข็งให้กลุ่มผู้ใช้น้ำและสนับสนุนให้กลุ่มผู้ใช้น้ำที่ต่างจังหวัดกันแต่มีปัญหาร่วมกัน หันมารวมกลุ่มกันเพื่อบริหารจัดการน้ำด้วยตนเอง จึงจะทำให้ตั้งคณะกรรมการลุ่มน้ำได้สำเร็จ
ด้านการจัดการน้ำท่วมในลุ่มเจ้าพระยาวิเคราะห์พบปัญหาสำคัญ 2 ด้าน คือ 1. เน้นลงทุนก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ ขาดการจัดการที่ไม่ใช้สิ่งก่อสร้าง เช่น ขาดองค์กรระดับประเทศที่รับผิดชอบขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การจัดการน้ำอย่างต่อเนื่อง มีกฎหมายและแผนการป้องกันน้ำท่วมเฉพาะการช่วยเหลือเยียวยา ฯลฯ และ 2 . ขาดการจัดการและควบคุมการใช้ที่ดินซึ่งเป็นจุดอ่อนสำคัญในการป้องกันอุทกภัยในระยะยาว
ทั้งนี้ แม้ว่าหลังอุทกภัยปี 2554 ประชาชนและอุตสาหกรรมจะให้ความสำคัญของการวางแผนและการควบคุมการใช้ที่ดิน แต่ผลสรุปจากการวิจัยพบว่า 1. รัฐบาลทั้งส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นแถบจะไม่ได้ปรับเปลี่ยนแนวทางและกติกาการวางแผนและการควบคุมการใช้ที่ดินเลย ยังคงมีนโยบาย แผน และโครงการต่างๆ ที่เน้นสิ่งก่อสร้าง 2. ชุมชนรวมกลุ่มรับมือกับปัญหาน้ำท่วมบ้าง แต่ส่วนใหญ่เป็นกิจกรรมบรรเทาสาธารณภัยและช่วยเหลือเยียวยา 3. ครัวเรือนปรับตัวหลังน้ำท่วม แต่ในระดับชุมชนและเมืองแทบไม่มีการปรับตัวใดๆ
4. องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีขีดความสามารถจำกัดในการปรับตัวเชิงระบบตามกฎหมายกระจายอำนาจ มีพันธกิจด้านวางแผนใช้ที่ดิน แต่กลับขาดศักยภาพทั้งด้านบุคลากรและงบประมาณ 5. การรวมตัวแบบไม่เป็นทางการเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยในหลายชุมชน แต่มีข้อจำกัดในระยะยาว เพราะพันธมิตรและเครือข่ายท้องถิ่นไม่สามารถจัดการกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรายใหม่ในชุมชนได้ 6. ในระดับประเทศ ภูมิภาค และท้องถิ่น ไม่เปลี่ยนแปลงเชิงสถาบันทั้งในเรื่องกฎกติกาดำเนินการ กฎกติกาเกี่ยวกับทางเลือกร่วมกันของสังคม (collective choice rules) และกฎหมายระดับพระราชบัญญัติขึ้นไป และ 7. ขาดเครื่องมือการควบคุมการใช้ที่ดิน เช่น floor area ratio
ด้าน ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ จากทีดีอาร์ไอ ผู้ศึกษาวิจัยเรื่อง “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับการจัดการทรัพยากรน้ำในประเทศไทย” เพื่อเสนอแนวทางให้สถาบันจัดการน้ำที่เหมาะสม กล่าวว่า ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งมีมากขึ้นเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้ฝนตกกระจุกตัวมากขึ้น โดยความเสียหายจากน้ำท่วมในปี 2554 สูงถึง 1.4 ล้านล้านบาท ซึ่งปัญหาน้ำท่วมรุนแรงและท่วมขังนานนั้นเกิดจากการใช้ที่ดินไม่เหมาะสม ความล้มเหลวในการบริหารจัดการ และโครงสร้างพื้นฐานชำรุดทรุดโทรม
นอกจากนี้ยังกล่าวว่า การจัดการทรัพยากรน้ำแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ การจัดการเชิงพื้นที่ในระดับบนสุดโดยรัฐ และระดับล่างสุดจากการรวมกลุ่มกันของประชาชน แต่ไม่มีการจัดการตรงกลางที่เชื่อมการจัดการทั้งสองระดับเข้าด้วยกัน ทำให้การจัดการทุกวันนี้ยังเป็นแบบต่างคนต่างทำอยู่
“การจัดการน้ำเชิงพื้นที่ที่ดีต้องบูรณาการกำกับดูแลสิ่งที่เกี่ยวข้อง ทั้งหมดเข้าด้วยกัน เช่น ในต่างประเทศ หน่วยงานที่จัดการเรื่องน้ำมีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลในเรื่องการจัดการทรัพยากรน้ำ ทั้งน้ำผิวดิน น้ำใต้ดิน และน้ำท่วม การจัดการน้ำเสีย การจัดการการใช้ที่ดิน และดูแลการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างพื้นฐาน นอกจากนี้ ในระบบโครงสร้างหน่วยงานจะมีคณะกรรมการจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และมีคณะกรรมการลุ่มน้ำต่างๆอยู่ภายใต้ โดยจะมีฝ่ายประสานงานระหว่างคณะกรรมการใหญ่และคณะกรรมการลุ่มน้ำย่อย และหากเกิดภัยพิบัติก็จะมีฝ่ายบริหารจัดการภัยพิบัติเข้ามาช่วยเหลือเยียวยา” ดร.เดือนเด่นกล่าว
ในขณะที่ประเทศไทยมีโครงสร้างการจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากการรวมศูนย์อำนาจบริหารทรัพยากรน้ำที่ส่วนกลางซึ่งมีการจัดการที่กระจัดกระจายคือ การจัดการทรัพยากรน้ำเป็นอำนาจหน้าที่ของกรมชลประทานและกรมทรัพยากรน้ำบาดาล การจัดการน้ำเสียเป็นอำนาจหน้าที่ อปท. และกรมควบคุมมลพิษ การใช้ที่ดินเป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทยและ อปท. ส่วนการก่อสร้างเป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงคมนาคมและกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม รองลงมาก็มีคณะกรรมการลุ่มน้ำทั้ง 25 ลุ่มน้ำ แต่ก็ไม่มีอำนาจจัดการใดๆ เพราะเป็นเพียงคณะอนุกรรมการ
สำหรับการก่อตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำในเขตชลประทานซึ่งคนต้นน้ำที่ได้ประโยชน์อยู่แล้วก็ไม่อยากรวมกลุ่ม ในขณะที่คนปลายน้ำอยากรวมกลุ่ม อีกทั้งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่ก่อตั้งโดยกรมชลประทานเพื่อบริหารจัดการน้ำในคลองชลประทานเป็นลักษณะของกลุ่มขนาดเล็กที่ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มใกล้เคียง รวมถึงไม่มีอำนาจตามกฎหมายและไม่มีเงินงบประมาณช่วยเหลือด้วย
“ข้อเสนอโครงสร้างสถาบันการจัดการทรัพยากรน้ำควรมี 2 แบบคือ แบบบนลงล่างกรณีที่เป็นทางการคือ จากคณะกรรมการจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ คณะกรรมการลุ่มน้ำ สู่คณะกรรมการลุ่มน้ำสาขา และแบบล่างขึ้นบนคือ จากกลุ่มพื้นฐานการใช้น้ำ กลุ่มบริหารการใช้น้ำ สู่คณะกรรมการจัดการชลประทาน” ดร.เดือนเด่นกล่าว
นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอที่สำคัญ 5 ข้อ คือ 1. ให้คณะกรรมการลุ่มน้ำมีอำนาจในการอนุมัติการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างที่จะขวางทางน้ำหรือมีผลต่อระดับน้ำ 2. ให้มีตัวแทนจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเป็นหนึ่งในคณะกรรมการลุ่มน้ำ และกรรมการลุ่มน้ำสาขา รวมทั้งต้องมีการพัฒนากระบวนการและขั้นตอนที่ชัดเจนในการจัดการอุทกภัย 3. ให้คณะกรรมการลุ่มน้ำมีอำนาจในการเก็บค่าธรรมเนียมการใช้น้ำและจัดการทรัพยากรในพื้นที่ของตนเองได้ 4. ส่งเสริมและสนับสนุนกลุ่มผู้ใช้น้ำของแม่น้ำในแต่ละสาขา และแม่น้ำสาขาย่อย ในระดับจากล่างขึ้นบน (ข้ามจังหวัด) และ 5. กรมชลประทานควรลดบทบาทหน้าที่ตามกฎหมาย และเปลี่ยนหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้กับกลุ่มผู้ใช้น้ำในพื้นที่
ด้าน ดร.อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา จากทีดีอาร์ไอ ผู้วิจัยเรื่อง “การบริหารจัดการน้ำกับการใช้ที่ดิน” กล่าวว่า การวิจัยครั้งนี้ศึกษาใน 4 ประเด็นหลัก คือ 1. การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 2. การสำรวจข้อมูลและผลการวิเคราะห์ 3. แบบจำลองการศึกษาการปรับตัวของครัวเรือนในเขตกึ่งเมืองกึ่งชนบทต่อเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ และ 4. การประเมินต้นทุนและผลประโยชน์ของโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐาน/โครงการป้องกัน และบรรเทาปัญหาน้ำท่วมของภาครัฐ
สำหรับการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินพบว่า ในช่วงที่ผ่านมาในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยายุคแรกได้ปรับเปลี่ยนจากพื้นที่ว่างเปล่ามาเป็นพื้นที่เกษตรกรรม แต่หลังจากปี 2500 เป็นต้นมาได้เปลี่ยนเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม ชุมชน มากขึ้น โดยส่วนใหญ่มักอยู่ตั้งอยู่รอบๆ กรุงเทพฯ ซึ่งพื้นที่นิคมเหล่านี้เดิมเคยเป็นพื้นที่รับน้ำแต่เมื่อเป็นนิคมแล้วจึงกลายเป็นพื้นที่ขวางทางไหลของน้ำ จึงส่งผลให้เกิดน้ำท่วมรุนแรง ส่วนด้านกฎหมายมีแต่กฎหมายการใช้ประโยชน์ที่ดินที่มิได้คำนึงถึงระบบลุ่มน้ำ
นอกจากนี้ยังสำรวจและวิเคราะห์พื้นที่ศึกษาที่นครปฐม 2 ชุมชน อยุธยาฯ อ่างทอง นครสวรรค์ ปทุมธานี และกาญจนบุรี เพื่อศึกษารูปแบบการปรับตัวของครัวเรือนในเขตเมืองต่อการใช้ที่ดินในพื้นที่ เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่และพื้นที่ที่มีโครงการป้องกันและบรรเทาผลกระทบน้ำท่วมของรัฐพบว่า การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินและการพัฒนาสิ่งปลูกสร้างต่างๆ มีผลทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วม เนื่องจากกีดขวางทางน้ำ ปิดทางระบายน้ำ มีน้ำท่วมขังในพื้นที่เป็นระยะเวลานาน และทำให้ไม่มีพื้นที่รับน้ำ ซึ่งจากเหตุการณ์อุทกภัยปี 2554 ทำให้ชุมชนเรียนรู้ และเตรียมตัวรับมือกับปัญหาน้ำท่วม
อีกทั้งหน่วยงานท้องถิ่นแต่ละพื้นที่มีความสามารถในการรับมือกับน้ำท่วมที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับทรัพยากร งบประมาณ ภาวะผู้นำ และระดับของการทำงานร่วมกันของคนในชุมชน โดยความร่วมมือของ อปท. กับชุมชนมีทั้งที่เป็นแบบเชิงบวกและเชิงลบ
“จากการสำรวจโดยให้กลุ่มตัวอย่างในพื้นที่ศึกษาทั้ง 7 แห่ง ตอบแบบสอบถามพบว่า ร้อยละ 81 คิดว่าการเปลี่ยนแปลงมีผลทำให้เกิดน้ำท่วม เพราะไปกีดขวางทางน้ำนั่นคือ ประชาชนตระหนักรู้ถึงปัญหาดี และถึงแม้รู้ว่าพื้นที่ตนเองเสี่ยงจะถูกน้ำท่วมแต่ก็ไม่ย้ายที่อยู่หรือขายที่ดินแน่นอนเพราะไม่รู้ว่าจะย้ายไปอยู่ที่ไหน ส่วนในเรื่องการปรับตัวจากกรณีน้ำท่วมพบว่า ปัจจัยที่มีผลต่อการปรับตัวของครัวเรือนอย่างมีนัยสำคัญคือ ครัวเรือนจะปรับตัวหากมีจำนวนสมาชิกในครอบครัวมาก ที่ดินมีเอกสารสิทธิ์ เพศหญิงเป็นผู้นำครอบครัว และครัวเรือนมีอาชีพเกษตรกรรม” ดร.อดิศร์กล่าว
ดร.อดิศร์กล่าวต่อว่า ดังนั้น ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อให้ประชาชนปรับตัวได้คือ 1. ส่งเสริมการให้เอกสารสิทธิ์แบบถาวรแก่ครัวเรือนในเขตกึ่งเมืองกึ่งชนบทเพื่อ สร้างแรงจูงใจในการปรับตัวต่อเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ 2. ช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรเพื่อให้สามารถปรับตัวต่อเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ได้ดียิ่งขึ้น และ 3. สนับสนุนความเข้มแข็งของกลุ่มสตรีในชุมชนให้มีความเข้มแข็งเพื่อช่วยเหลือกันในช่วงเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่
นอกจากนี้ยังกล่าวว่า จากการศึกษาความคุ้มค่าในการลงทุนกว่า 16,000 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างถนนสูงประมาณ 3 เมตรจากระดับน้ำทะเลเสมือนเป็นคันกั้นน้ำในทุ่งพระพิมลที่นครปฐมพบว่า เป็นการลงทุนที่เสมอตัว แทบไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการเป็นพื้นที่ป้องกันน้ำท่วม ซึ่งนอกจากประโยชน์ด้านการคมนาคมที่สะดวกขึ้น ชาวบ้านบางส่วนมีรายได้มากขึ้น ในทางกลับกันได้สร้างความขัดแย้งให้กับชุมชนสองฝั่งถนนซึ่งฝ่ายหนึ่งได้ประโยชน์มากขึ้นและอีกฝ่ายเสียหายมากขึ้น ทั้งนี้การสร้างถนนดังกล่าวไม่ต้องทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอด้วย
ด้าน ดร.สมชัย จิตสุชน จากทีดีอาร์ไอ ผู้วิจัยเรื่อง “การปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมในการป้องกันน้ำท่วม” กล่าวว่า การวิจัยนี้ศึกษาพื้นที่นิมคมอุตสาหกรรม 7 แห่ง คือ แฟคตอรี่แลนด์ บางกะดี นวนคร บางปะอิน ไฮเทค สหรัตนนคร และโรจนะ พบว่า ทุกพื้นที่นิคมฯ ได้รับความเสียหายโดยส่วนใหญ่ไม่ได้รับการแจ้งเตือนล่วงหน้า แต่เมื่อได้รับความเสียหายแล้วทุกนิคมต่างปรับตัวและตั้งรับกับปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการก่อสร้างเพื่อทำเขื่อนหรือคันกันน้ำเข้านิคม รวมถึงซื้อประกันภัยน้ำท่วมเพิ่มมากขึ้นด้วย ในขณะที่เมื่อสอบถามถึงเรื่องการจ่ายชดเชยให้กับประชาชนภายนอกที่ได้รับความเสียหายจากการสร้างคันกันน้ำของนิคมพบว่า นิคมเต็มใจจ่ายแต่ในปริมาณที่น้อย โดยคิดว่าการชดเชยเยียวยาเป็นหน้าที่ของรัฐบาล
“อย่างไรก็ตามเมื่อวิเคราะห์ความคุ้มค่าในการลงทุนก่อสร้างเพื่อป้องกันน้ำท่วมของนิคมเหล่านี้อยู่ที่ประมาณ 19,000 ล้านบาท โดยการคาดการณ์ว่าในอนาคตจะมีน้ำท่วมอีกแน่นอน ซึ่งจากการคำนวณว่าน้ำจะท่วมในอีก 20 ปีข้างหน้าพบว่า นิคมเหล่านี้จะได้รับประโยชน์จากการลงทุนถึง 400,000 ล้านบาท ซึ่งคุ้มค่ามาก” ดร.สมชัยกล่าว
ดร.สมชัยกล่าวต่อว่า การลงทุนของเอกชนให้ประโยชน์คุ้มค่า แต่ผู้ประกอบการมีความสามารถที่จะทำอะไรกับบริบทในพื้นที่โดยรอบได้มากกว่านี้ ซึ่งข้อเสนอแนะที่สำคัญสำหรับอุตสาหกรรมคือ 1. เรื่องการแจ้งเตือนเป็นเรื่องสำคัญที่ภาครัฐต้องทำ เพราะในอนาคตมีโอกาสเกิดน้ำท่วมอีก 2. รัฐบาลต้องมีแผนดำเนินการจัดการที่ชัดเจนเกี่ยวกับน้ำท่วม 3. ผู้ประกอบต้องการการส่งเสริม สนับสนุน เพื่อการปรับตัวรับมือน้ำท่วมที่มีประสิทธิภาพ 4. รัฐบาลต้องแก้ไขปัญหาการประกันภัยน้ำท่วม 5. รัฐบาลควรจัดการให้ภาคอุตสาหกรรมมีส่วนร่วมมากขึ้นในการจัดการปัญหาน้ำท่วม เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่เต็มใจเข้าร่วม และ 6. ผู้ประกอบการต้องมีบทบาทการจัดการเรื่องน้ำท่วมในชุมชนเพิ่มขึ้น เช่น การแบ่งปันความรู้ และบทบาทผู้นำในการบริหารจัดการ ซึ่งผู้ประกอบการมีความพร้อมอยู่แล้ว
————————
หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกในเว็บไซต์ thaipublica วันที่ 5 กรกฎาคม 2558 ในชื่อ “ทีดีอาร์ไอชี้รัฐบาลไทยต้องเปลี่ยนรูปแบบการจัดการน้ำทั้งเชิงโครงสร้างและการปฏิบัติ”