สมเกียรติ ชงสูตรค่าจ้างใหม่ เลิกอิงการเมือง-ลดเกณฑ์พิจารณา แนะปรับตามพื้นที่ตามเงินเฟ้อให้ทัน

ปี2015-07-22

สมเกียรติ เสนอค่าแรงขั้นต่ำไทยเลิกอิงการเมือง ต้องปรับรายพื้นที่อิงผลิตภาพ-เงินเฟ้อ

นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาค่าแรงขั้นต่ำของไทยอิงกับภาคการเมืองค่อนข้างมาก ทำให้ค่าแรงแกว่งไปแกว่งมา โดยภาพรวมมักเติบโตไม่ทันเงินเฟ้อ การเติบโตของเศรษฐกิจและผลิตภาพแรงงาน แต่เมื่อมีการปรับขึ้นก็ปรับขึ้นอย่างรวดเร็ว บางช่วงภาคเอกชนก็ได้รับผลกระทบ และส่งผลกระทบกลับมายังแรงงานด้วย แต่บางช่วงแรงงานก็ได้รับผลกระทบจากการปรับที่ช้าเกินไป

“ประเทศไทยมีคณะกรรมการค่าจ้าง มีผู้แทนจาก 3 ฝ่าย คือ ภาครัฐ นายจ้าง และลูกจ้าง ฝ่ายละ 5 คน โดยปกติฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างมักยืนอยู่ตรงกันข้ามกันอยู่แล้ว ดังนั้นผู้ตัดสินก็คือ ภาครัฐ แต่ปัจจุบันมีเกณฑ์ที่ใช้พิจารณามากเกินไปถึง 7-8 ปัจจัย กลายเป็นเรื่องรัฐบาลมาทุบโต๊ะ จึงควรอิงภาคการเมืองให้น้อยลง” นายสมเกียรติ กล่าว

สำหรับข้อเสนอ นายสมเกียรติ กล่าวว่า เริ่มต้นจากการปรับลดเกณฑ์ที่ใช้ในการพิจารณาเหลือเพียง 2 เกณฑ์ คือ 1. ผลิตภาพแรงงาน 2. การเปลี่ยนแปลงของอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งเป็น 2 เกณฑ์ที่สามารถชี้วัดได้จริง เพื่อลดการพิจารณาโดยเกณฑ์ที่ชี้วัดได้ยาก นอกจากนี้ควรปรับเพิ่มขึ้นเพื่อให้แรงงานมีรายได้พ้นจากเส้นความยากจนด้วย เพราะปรัชญาอย่างหนึ่งของค่าแรงขั้นต่ำ คือ ช่วยประชาชนให้หลุดพ้นจากความยากจน

นายสมเกียรติ กล่าวอีกว่า ปี 2559 จะมี 2 ปัจจัยหลักผลักดันให้ค่าแรงรวมสูงขึ้น ได้แก่ 1. เศรษฐกิจไทยฟื้นตัว 2. จำนวนแรงงานไทยลดลงเป็นปีแรก เนื่องจากไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เมื่อเศรษฐกิจฟื้นแต่แรงงานหายากมากขึ้น จึงทำให้ค่าแรงมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยไม่ต้องรอการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

ขณะที่ การพิจารณาค่าแรงขั้นต่ำในปี 2559 ควรเริ่มกลับมาพิจารณาแยกพิจารณาเป็นรายพื้นที่ ไม่ควรปรับขึ้นพร้อมกันทั่วประเทศ เนื่องจากผลิตภาพแรงงานและอัตราเงินเฟ้อในแต่ละพื้นที่เติบโตไม่เท่ากัน ขณะเดียวกัน อาจปรับขึ้นได้ปีละครั้ง เพื่อให้สอดคล้องกับเงินเฟ้อ และต้องมีการคำนวณระยะยาว เพื่อให้ทั้งนักลงทุนและแรงงานสามารถวางแผนธุรกิจและชีวิตของตัวเองได้

“หากมีการคำนวณแนวโน้มการปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็นระยะยาว 5 ปี จะทำให้ภาคเอกชนสามารถวางแผนธุรกิจได้ว่าควรจะจ้างแรงงานจำนวนเท่าใด นำเข้าเครื่องจักรเท่าใด หรือควรย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่น แรงงานก็จะทราบว่าจะมีเงินในอนาคตมากน้อยเพียงใด เพื่อจะได้วางแผนการใช้จ่ายได้อย่างเหมาะสม” นายสมเกียรติ กล่าว

ทั้งนี้ ทั้งฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้างไม่ควรเริ่มต้นจากการตั้งตัวเลขขึ้นมาว่าจะปรับกี่บาท เพราะจะมีฝ่ายที่ไม่พอใจ รู้สึกว่าการปรับนั้นมากหรือน้อยจนเกินไป ควรให้จบที่ข้อมูลที่มาจากคณะกรรมการค่าจ้าง

————————

หมายเหตุ: พิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์โพสต์ ทูเดย์ วันที่ 22 กรกฎาคม 2558 ใน “สมเกียรติ ชงสูตรค่าจ้างใหม่ เลิกอิงการเมือง-ลดเกณฑ์พิจารณาแนะปรับตามพื้นที่ตามเงินเฟ้อให้ทัน”