ประหยัดไฟฟ้าไม่ใช่เรื่องยาก: เดินหน้าประเทศไทยสู่การลดการใช้พลังงาน

ปี2015-07-16

กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงศ์
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

เมื่อพิจารณาสถิติการใช้ไฟฟ้าของภาคครัวเรือน ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาพบว่า คนไทยมีการใช้ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นทุกๆ ปี โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อน การใช้พลังงานในปริมาณที่สูงและไม่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ในแต่ละปี ประเทศไทยจำเป็นต้องนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก เพื่อลดการใช้ไฟฟ้าของภาคครัวเรือน หน่วยงานภาครัฐและภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รณรงค์ส่งเสริมให้มีการอนุรักษ์พลังงาน และกระตุ้นให้ประชาชนตระหนักถึงการประหยัดพลังงาน โดยนำเสนอผ่านสื่อประชาสัมพันธ์ต่างๆ อาทิ คู่มือรวบรวมวิธีและเคล็ดลับในการประหยัดพลังงาน ฯลฯ

ภาคส่วนต่างๆ ตั้งความหวังว่า เมื่อประชาชนปฏิบัติตามสูตรเหล่านี้จนเป็นนิสัย จะช่วยรักษาพลังงานที่เหลือน้อยเอาไว้ใช้นานๆ และช่วยลดภาระของประเทศในการจัดหาพลังงานเพิ่มเติม อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าสังเกตว่ามาตรการในการประหยัดพลังงานต่างๆ เหล่านี้ ถึงแม้ว่าจะมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมในการใช้พลังงานของครัวเรือน แต่จากประสบการณ์ในต่างประเทศพบว่า การที่ภาครัฐดำเนินมาตรการเหล่านี้เพียงอย่างเดียวโดยที่ไม่มีมาตรการอื่นๆ เสริม ไม่สามารถลดการใช้พลังงานของภาคครัวเรือนได้อย่างยั่งยืน ผลงานวิจัยในต่างประเทศแสดงให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการใช้ไฟฟ้าของครัวเรือนสามารถช่วยลดการใช้ไฟฟ้าของประเทศไทย อย่างไรก็ดี ข้อค้นพบที่น่าสนใจคือ ครัวเรือนส่วนใหญ่ในปัจจุบันขาดข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณการใช้ไฟฟ้าของครัวเรือนตน โดยไม่ทราบว่าปริมาณไฟฟ้าที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเหมาะสมหรือไม่ สูงเกินไปหรือไม่ และจะต้องปรับพฤติกรรมอย่างไร เพื่อให้ปริมาณการใช้ไฟฟ้าลดลง ด้วยเหตุนี้ จึงได้มีการทำการวิจัยชิ้นนี้ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญคือ เพื่อศึกษากลยุทธ์และแนวทางในการส่งเสริมการประหยัดพลังงานของภาคครัวเรือนอย่างยั่งยืน

การศึกษานี้ทำการทดลองภาคสนาม (Field Experiment) โดยได้รับความร่วมมือจากครัวเรือนในเขตมีนบุรีและหนองจอก จังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวน 140 ครัวเรือน การทดลองนี้ครอบคลุมระยะเวลา 10 เดือน ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2556 ถึงเดือนสิงหาคม 2557 เป้าประสงค์หลักของการทดลองครั้งนี้คือ ต้องการหากลยุทธ์ที่ทำให้ครัวเรือนที่เข้าร่วมการทดลองลดการใช้ไฟฟ้าได้มากที่สุด เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว การศึกษานี้จึงแบ่งครัวเรือนออกเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มละเท่าๆ กัน

โดยกลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มควบคุม (Control Group) ซึ่งเป็นครัวเรือนที่ไม่ได้รับข้อมูลใดๆ จากคณะผู้วิจัย
กลุ่มที่ 2 ได้รับข้อมูลเปรียบเทียบปริมาณการใช้ไฟฟ้าของครัวเรือน เทียบกับครัวเรือนอื่นในหมู่บ้านเดียวกัน เพื่อให้ครัวเรือนทราบว่าในแต่ละเดือนนั้น ปริมาณการใช้ไฟฟ้าของครัวเรือนอยู่ในเกณฑ์ที่สูงหรือต่ำกว่าครัวเรือนอื่นๆ ในละแวกเดียวกัน และมีลักษณะบ้านคล้ายกัน

กลุ่มที่ 3 ได้รับเคล็ดลับในการประหยัดพลังงาน โดยมีภาพประกอบที่เข้าใจง่าย และ
กลุ่มที่ 4 ได้รับทั้งเคล็ดลับในการประหยัดพลังงาน และข้อมูลเปรียบเทียบการใช้ไฟฟ้าของครัวเรือนและของเพื่อนบ้าน ข้อมูลที่ครัวเรือนแต่ละกลุ่มได้รับทุกเดือน ในช่วงที่มีการทดลอง เป็นเอกสารที่พิมพ์แบบสีบนกระดาษขนาด A4 โดยจัดส่งให้ครัวเรือนพร้อมกันทางไปรษณีย์

เอกสารที่จัดส่งให้กับครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการทดลอง

หลังจากที่การทดลองภาคสนามสิ้นสุดลง คณะผู้วิจัยทำการวิเคราะห์ข้อมูลปริมาณการใช้ไฟฟ้าของครัวเรือน ตลอดระยะเวลา 10 เดือน โดยใช้วิธีการทางเศรษฐมิติ ผลการศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่า ครัวเรือนในกลุ่มที่ 4 ซึ่งได้รับข้อมูลการเปรียบเทียบการใช้ไฟฟ้า และเคล็ดลับในการประหยัดไฟ เป็นกลุ่มที่ใช้ไฟฟ้าลดลง เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุมซึ่งไม่ได้รับข้อมูลใดๆ เลย อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

โดยเฉลี่ยครัวเรือนในกลุ่มดังกล่าวสามารถลดการใช้ไฟฟ้าประมาณร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับปริมาณการใช้ไฟฟ้าของครัวเรือน ในช่วงก่อนที่จะเข้าร่วมโครงการ ในขณะที่ปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่ลดลงของครัวเรือนในกลุ่มที่ 2 และ 4 ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ

ดังนั้น คณะผู้วิจัยจึงสรุปว่า มาตรการหรือแนวทางประหยัดพลังงานในครัวเรือนที่ใช้ได้ผล และได้มีการทดลองใช้จริงแล้วในประเทศไทยคือ การให้ข้อมูลการเปรียบเทียบการใช้ไฟฟ้าของครัวเรือนกับครัวเรือนที่อยู่ในละแวกเดียวกัน ควบคู่กับการให้เคล็ดลับหรือข้อแนะนำในการประหยัดไฟฟ้าแก่ครัวเรือน เพื่อให้ผลการทดลองภายใต้โครงการวิจัยนี้ สามารถขยายผลในวงกว้าง การได้รับความร่วมมือจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง อาทิ การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค รวมถึงกระทรวงพลังงาน เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง

——————-

หมายเหตุ: กิตติกรรมประกาศ เนื้อหาในบทความนี้มาจากโครงการวิจัย “Using Feedback as a Tool for Household Energy Conservation: An Experimental Approach” ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก EEPSEA-WorldFish นอกจากนี้ คณะผู้วิจัยขอขอบคุณการไฟฟ้านครหลวงเขตมีนบุรี ที่ให้ความอนุเคราะห์ข้อมูลการใช้ไฟฟ้าของครัวเรือนที่ยินดีเข้าร่วมการทดลอง

ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 16 กรกฎาคม 2558 ใน “ประหยัดไฟฟ้าไม่ใช่เรื่องยาก: เดินหน้าประเทศไทยสู่การลดการใช้พลังงาน”