เตือนรับมือเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า

ปี2015-07-09

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)


ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีนี้ยังอยู่ในช่วงอ่อนแรง สิ้นปีอาจโตเพียง 2.75-3.25 และจะค่อยๆฟื้นตัวอย่างช้าๆในปีหน้า เหตุจากปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจเกือบทุกตัวมีปัญหา ทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ แนะเพิ่มประสิทธิภาพการลงทุนภาครัฐช่วยค้ำยันเศรษฐกิจ สร้างความชัดเจน เร่งการเบิกจ่าย เยียวยารากหญ้า และเรียกความเชื่อมั่นให้นักลงทุน


ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ วิเคราะห์ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2558 โดยระบุว่า ปีนี้น่าจะเป็นปีที่เศรษฐกิจไทยอยู่ในจุดต่ำสุดของวัฏจักรเศรษฐกิจ เนื่องจากมีปัญหาทั้งภายในและภายนอกที่เข้ามากระทบเครื่องจักรทางเศรษฐกิจแทบจะทุกตัว ทั้งปัจจัย การบริโภคภายในประเทศ การลงทุนของภาคเอกชน ข้อจำกัดด้านรายจ่ายภาครัฐ และภาคการส่งออก ภาคการบริโภคมีปัญหาหนี้ครัวเรือนปรับตัวอยู่ในระดับสูงมากถึงร้อยละ 85-90 (ตามนิยามเดิม) และสูงสุดติดหนึ่งใน 15 ของโลก จนก่อให้เกิดความกังวลว่า หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วอาจจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงินของประเทศในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัวได้

ดร. นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
ดร. นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

ปัญหาดังกล่าว ส่วนหนึ่งเกิดจากราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำและมีความเป็นไปได้ว่า จะตกต่ำยาวอย่างต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นจากราคาน้ำมันที่ตกลงและความต้องการสินค้าเกษตรที่ลดลงอันเนื่องมาจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง

เช่นเดียวกันนี้เอง ภาคการส่งออกของไทยก็อยู่ในสถานการณ์ที่ลำบากและมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวต่อไป เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง ประกอบกันปัญหาเชิงโครงสร้างภายในที่ไม่สามารถปรับเปลี่ยนหนีจากกิจกรรมการผลิตมูลค่าเพิ่มต่ำไปยังกิจกรรมการผลิตที่มีมูลค่าเพิ่มได้ดีเพียงพอ นอกจากนี้ประเทศไทยยังตกขบวนในการเจรจาการค้าต่างๆ เช่น FTA ไทย-ยุโรปที่ล่าช้า และการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (Trans-Pacific Strategic Economic Partnership Agreement: TPP) ที่ไทยไม่ได้เข้าร่วมเจรจาด้วย ทำให้กรอบการใช้สิทธิ์ในระดับพหุภาคีของไทยยังมีไม่เต็มที่มากนัก โดยกรอบการเจรจาดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อการเปิดตลาดการค้าสินค้า บริการและการลงทุน ทำให้การสร้างความสอดคล้องในกฎระเบียบทางเศรษฐกิจลดลงไปด้วย

ขณะที่ในส่วนของสินค้าประเภทชิ้นส่วนยานยนต์ แม้ยังมีการเติบโตได้ดี แต่ต้องระวังเทคโนโลยีการผลิตหรือการออกแบบที่ค่อนข้างเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ผู้ผลิตไทยจึงต้องมองเกมให้กว้างด้วยการวางแผนการผลิตที่มีประสิทธิภาพเพื่อตอบโจทย์ตลาดให้มากยิ่งขึ้น

ทางด้านการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ เอกชนบางส่วนยังคงรอสัญญาณการผลักดันนโยบายที่แน่ชัดและมีผลประโยชน์ที่ดีจริงๆ โดยเฉพาะการลงทุนในโครงการเมกะโปรเจคต่างๆที่ภาคเอกชนหรือนักลงทุนยังคงมีความไม่แน่ชัดในหลายๆด้านขึ้นกับว่าภาครัฐจะสามารถดำเนินโครงการได้ตามเป้าหมาย และโครงการดังกล่าวสามารถตอบโจทย์การพัฒนาเศรษฐกิจได้มากน้อยเพียงใด ในส่วนรายจ่ายภาครัฐในส่วนของรายจ่ายประจำ ยังมีข้อจำกัดทางด้านงบประมาณค่อนข้างมาก และไม่น่าจะสามารถเป็นกลจักรใหญ่ในการผลักดันเศรษฐกิจได้

ปัจจัยบวกด้านการท่องเที่ยว แม้ว่าจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจในปัจจุบัน แต่ขนาดของผลกระทบยังหวังพึ่งให้เป็นกลจักรใหญ่ไม่ได้มากนัก

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการทีดีอาร์ไอได้ให้ข้อเสนอแนะว่า จากสถานการณ์ที่เครื่องจักรเกือบทุกตัวอยู่ในสภาวะที่ทำงานได้อย่างไม่เต็มที่ สิ่งที่ภาครัฐต้องคำนึงและดำเนินการคือควรใช้มาตรการช่วยเหลือเยียวยาภาคเกษตรอย่างเร่งด่วน แต่ต้องเล็งให้ตรงเป้าไม่ใช่การเยียวยาแบบหว่านอย่างที่ผ่านๆมา เพราะสถานการณ์ตอนนี้ภาคเกษตรกำลังน่าเป็นห่วงที่สุด

กล่าวโดยสรุป เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะเป็นอีกปีที่เศรษฐกิจโตต่ำกว่าศักยภาพ โดยตัวเลขอัตราเจริญเติบโตที่เป็นบวกมาจากความโชคดีที่ปีที่แล้วอัตราเจริญเติบโตอยู่ในระดับต่ำมาก คือแค่ร้อยละ 0.7 เรียกได้ว่าเป็นความโตทางการคำนวณทางคณิตศาสตร์จากฐานที่ต่ำมากกว่าจะเป็นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริง

กลจักรสำคัญในปีนี้ จะขึ้นอยู่กับการเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐว่าสามารถทำได้ตามเป้าหมายมากน้อยเพียงใด และภาครัฐจะมีนโยบายช่วยเหลือเกษตรกรอย่างเร่งด่วนเพิ่มเติมหรือไม่ ซึ่งจากข้อมูลล่าสุดคาดว่าอัตราเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในปีนี้น่าจะอยู่ในช่วง 2.75-3.25 เปอร์เซ็นต์

สำหรับเศรษฐกิจไทยในปีหน้าคาดว่าจะเริ่มฟื้นตัวอย่างช้าๆ จากหนี้ครัวเรือนซึ่งเกิดขึ้นจากนโยบายรถคันแรกน่าจะเริ่มครบกำหนด และการลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ที่จะเข้ามาในขนาดที่ค่อนข้างใหญ่ ปัจจัยสำคัญที่บ่งชี้อนาคตของเศรษฐกิจในปีหน้าต้องจับตาดูว่าการลงทุนเมกะโปรเจ็กต์จะสามารถดึงดูดทำให้เกิดการลงทุนภาคเอกชนได้มากน้อยเพียงใด