ดิจิทัลอีโคโนมีบูม อุตฯซอฟต์แวร์คาดปี 58 ตลาดรวมโต 11%

ปี2015-07-31

ผลการสำรวจตลาดซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ของประเทศไทยซึ่งจัดทำโดยสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ(ซิป้า) ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุว่า ปี 2558 จะมีมูลค่าการผลิตภายในประเทศ ประมาณ 61,096 ล้านบาท คิดเป็น อัตราการเติบโต 11.1%

ทั้งนี้ จำแนกตามประเภทเป็นมูลค่าการผลิตซอฟต์แวร์สำเร็จรูปประมาณ 15,973 ล้านบาท เติบโต 6.3% และมูลค่าการผลิตบริการซอฟต์แวร์ประมาณ 45,113 ล้านบาท เติบโต 13%

ขณะที่ ปี 2559 ตลาดซอฟต์แวร์สำเร็จรูปและบริการซอฟต์แวร์จะเติบโตใกล้เคียงกับปี 2558 คือ ประมาณ 12.8% ตามประเภทซอฟต์แวร์สำเร็จรูปและบริการซอฟต์แวร์จะเติบโต 7.4% และ 14.7% ตามลำดับ รับอานิสงส์การขยายตัวของเศรษฐกิจดิจิทัล

ส่วนซอฟต์แวร์สมองกลฝังตัวปี 2558 จะมีอัตราการเติบโตประมาณ 11% หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 6,841 ล้านบาท ปี 2559 จะเติบโตต่อเนื่องประมาณ 13.9% และ จะยิ่งเป็นบวกหากอุตสาหกรรมยานยนต์ฟื้นตัว ประกอบกับแรงหนุนสำคัญ คือ การขยายตัวของอินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ และแวร์เอเบิล ดีไวซ์

:เอกชนอุดช่องโหว่รัฐแผ่ว

นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ปีนี้แนวโน้มตลาดภาครัฐยังคงชะลอ จากปัจจัยความเข้มงวดกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ตรวจรับงาน และการปรับเปลี่ยนผู้บริหารระดับสูง

ดังนั้น ผู้ประกอบการได้เบนเข็มมาทางภาคเอกชน รวมถึงบุกหนักตลาดต่างประเทศมากขึ้นโดยเฉพาะซอฟต์แวร์สำหรับธุรกิจการเงินการธนาคาร โทรคมนาคม ค้าปลีก ท่องเที่ยวและโรงแรม อีกด้านแนวโน้มลูกค้าที่เป็นบริษัทขนาดกลาง หันมาสนใจบริการรูปแบบซอฟต์แวร์ แอสอะเซอร์วิสมากขึ้นตามลำดับ

นอกจากนี้ ที่น่าสนใจเกิดรูปแบบธุรกิจที่มีแหล่งรายได้หลากหลาย และการใช้ซอฟต์แวร์ขับเคลื่อนธุรกิจ จากนี้จะได้เห็นผู้ผลิตพัฒนางานที่เฉพาะสาขา หรือเหมาะกับการใช้งานเฉพาะรายอุตสาหกรรม

ขณะที่ต่อไปเทรนด์โมบิลิตี้ อีคอมเมิร์ซ คลาวด์คอมพิวติ้ง จะกลายเป็นเทคโนโลยีกระแสหลัก ที่น่าจับตามองในอนาคต คือ อินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ โดยมีผู้บริโภคเป็นผู้ขับเคลื่อนภาคธุรกิจ

ข้อมูลระบุว่า การใช้สมาร์ทโฟน และแทบเล็ตในไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากปี 2557 ที่มีผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนราว 32 ล้านคน คาดว่า ปี 2562 จะเพิ่มไปเป็น 55 ล้านคน ปีเดียวกันดังกล่าว แทบเล็ตจาก 3 ล้านคนเป็น 10 ล้านคน พีซี 12 ล้านเป็น 20 ล้านคน ทีวีที่เชื่อมอินเทอร์เน็ตได้ 5 ล้านเป็น 22 ล้านคน ส่วนแวร์เอเบิลดีไวซ์จาก 1 แสน กลายเป็น 1.2 ล้านราย

:เศรษฐกิจดิจิทัลเร่งปฏิกิริยา

เขาประเมินว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจดิจิทัลจะทำให้อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เติบโตต่อเนื่อง ท่ามกลางเศรษฐกิจโดยรวมที่เติบโตต่ำแม้ตลาดภาครัฐชะลอ แต่การขยายตัวฝั่งเอกชนโดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและตลาดระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ช่วยชดเชยได้

“เศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มเติบโตได้ 2% หรืออย่างมากเป็นไปได้ถึง 3% ด้วยการเติบโตที่น้อยกว่าในอดีตทำให้มีความรู้สึกว่าไม่สดใส ทว่าไม่ได้ส่งผลกระทบต่อตลาดซอฟต์แวร์ เนื่องจากอุตสาหกรรมอยู่บนเทรนด์ใหม่คือการก้าวเข้าสู่ดิจิทัลอีโคโนมี”

ด้านผู้ประกอบการที่จะอยู่รอดและเติบโตได้ในระยะยาว ต้องสร้างทรัพย์สินทางปัญญาจากการผลิตซอฟต์แวร์คุณภาพสูงที่ตอบโจทย์เฉพาะสาขาธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม นโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของรัฐบาลมาถูกทางแล้ว ทว่าแนวทางปฏิบัติยังหลงทาง ที่ผ่านมาพยายามขับเคลื่อนโดยรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ ทั้งๆ ที่จะให้เหมาะต้องให้เอกชนเป็นผู้นำ อีกด้านก่อนหน้านี้ที่เลื่อนการประมูล 4 จีให้ช้าออกไป มีผลต่อการขับเคลื่อนธุรกิจยุคใหม่ซึ่งโมบายมีอิทธิพลอย่างมาก

:แนะรัฐเร่งหนุนเบื้องหลัง

ประธานทีดีอาร์ไอแนะว่า บทบาทรัฐควรให้ความสำคัญกับการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยเปิดตลาดไปต่างประเทศมากขึ้น แนวทาง เช่น สนับสนุนให้ร่วมงานแสดงสินค้า ในภาวะที่การส่งออกของไทยประสบปัญหา ควรหันมาส่งเสริมการส่งออกธุรกิจบริการที่ยังเติบโตได้ดีสวนกระแส

นอกจากนี้ ความท้าทายสำคัญต้องเร่งพัฒนาบุคลากรที่มีคุณภาพ ตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรม โดยสร้างองค์กรตัวกลางเพื่อกำหนดมาตรฐานของอาชีพและประกันคุณภาพ มากกว่านั้นประชาสัมพันธ์พร้อมรับนักเรียนเข้าโครงการ เตรียมความพร้อมล่วงหน้า ขณะเดียวกันสร้างแรงจูงใจให้สถานประกอบการด้วยการอุดหนุนค่าใช้จ่าย รวมถึงสร้างแรงจูงใจนักเรียนด้วยการออกใบประกาศนียบัตรพิเศษ

เขากล่าวต่อว่า อีกแนวทางสนับสนุนแรงงานทักษะสูงจากต่างชาติให้เข้ามาทำงานในไทยได้ง่ายขึ้น เรื่องนี้ที่ทำได้ เช่น ผ่อนปรนหลักเกณฑ์การพิจารณาออกใบอนุญาตทำงาน มีระบบอนุมัติที่รวดเร็วขึ้น

:จับตาคลาวด์แจ้งเกิด

อย่างไรก็ดี ภาพรวมตลาดปี 2557 มีมูลค่าการผลิตเฉพาะที่เกิดขึ้นในประเทศไทยรวม 54,980 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ที่ 9.4% หากจำแนกเป็นมูลค่าการผลิตซอฟต์แวร์สำเร็จรูป 15,031 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ประมาณ 4.5% มูลค่าการผลิตบริการซอฟต์แวร์ 39,940 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2556 มากถึง 11.4%

ทั้งนี้ ภาคการเงินยังคงเป็นสาขาที่ใช้จ่ายด้านซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์สูงที่สุด ทั้งยังพบการเติบโตอย่างมากของซอฟต์แวร์สำเร็จรูปที่ใช้งานผ่านเว็บ หรือซอฟต์แวร์แอสอะเซอร์วิส ซึ่งเพิ่มขึ้น 34.4% ขณะเดียวกันแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการใช้งานคลาวด์ที่เพิ่มมากขึ้น

ส่วนของตลาดซอฟต์แวร์สมองกลฝังตัวพบว่า ปีที่ผ่านมาเติบโต 6% โดยมีมูลค่าการผลิตภายในประเทศเท่ากับ 6,165 ล้านบาท ผู้ประกอบการส่วนมากยังรักษาอัตราการเติบโตไว้ได้ เนื่องจากการขยายตัวของอินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ และแวร์เอเบิล ดีไวซ์ แม้ผู้ประกอบการรายใหญ่จะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ก็ตาม

ด้านการส่งออกซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ปี 2557 มีมูลค่าประมาณ 4,572 ล้านบาท เติบโต 6.1% จำแนกเป็นมูลค่าการส่งออกซอฟต์แวร์สำเร็จรูป 939 ล้านบาท เติบโต 7.4% และการส่งออกบริการซอฟต์แวร์ 3,633 ล้านบาท เติบโต 5.8%

:ส่งออกแรงไม่ตก 

แม้ว่ามูลค่าการส่งออกของไทยยังไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับมูลค่าตลาดโดยรวม แต่มีแนวโน้มที่น่าสนใจ คือ ผู้ผลิตซอฟต์แวร์สำเร็จรูปของไทยมีมูลค่าการส่งออกเพิ่มสูงขึ้น ตัวอย่างซอฟต์แวร์สำเร็จรูปของผู้ผลิตไทยที่ส่งออก คือ ซอฟต์แวร์ด้านการบริหารจัดการโรงแรมและรีสอร์ท ซอฟต์แวร์ด้านระบบบริหารจัดการการค้าปลีก และซอฟต์แวร์ด้านการบริหารทรัพยากรมนุษย์ เป็นต้น

ขณะที่ มูลค่าการส่งออกบริการซอฟต์แวร์ปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน เนื่องจากผู้ประกอบการไทยจำนวนมากยังเห็นโอกาสของตลาดในต่างประเทศที่มีอัตราการเติบโตสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดอาเซียน แม้ว่าผู้ประกอบการรายใหญ่ย้ายฐานการผลิตบางส่วนไปยังต่างประเทศ

ขณะเดียวกัน มูลค่าตลาดของหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจชะลอตัวลงมาก เนื่องจากความเข้มงวดในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างและการตรวจรับงาน ตลอดจนการปรับเปลี่ยนคณะกรรมการหรือ ผู้บริหารระดับสูงของรัฐวิสาหกิจ การตรวจรับงานและการจัดซื้อซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ตามโครงการใหม่ต่างๆ ต้องล่าช้าออกไปจนทำให้ผู้ประกอบการรายใหญ่หลายรายหันออกไปทำตลาดอื่นแทน

————————

หมายเหตุ: พิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 31 กรกฎาคม 2558 ชื่อ “ดิจิทัลอีโคโนมีบูมอุตฯซอฟต์แวร์คาดปี 58 ตลาดรวมโต 11%”