‘สมเกียรติ’ ชู 3 ประเด็น วิพากษ์ร่างฯประมูล ‘4จี’

ปี2015-08-03

“สมเกียรติ” วิพากษ์ร่างฯ ไอเอ็มประมูล 4จี ชู 3 ประเด็นทำรัฐเสียประโยชน์ ราคาเริ่มต้นประมูลต่ำเกินไป ซ้ำรอยเปิดช่องฮั้วให้เอกชน เกณฑ์สร้างเน็ตเวิร์คครอบคลุม 40% ถือว่าต่ำมาก จี้ไอซีทีเร่งเคลียร์ 2 รัฐวิสาหกิจ หวั่นฟ้องศาลสั่งระงับประมูล ด้านสนงฯ กสทช. เปิดประชาพิจารณ์ ครั้งสุดท้ายวันนี้ ยันหากต้องการเสนอความเห็นให้ทำเอกสารส่งมาพร้อมนำเข้าที่ประชุมพิจารณา

:ชู 3 ประเด็นค้านร่างไอเอ็ม
นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ภายหลังที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีมติให้นำร่างประกาศ กสทช.เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ (ไอเอ็ม) ไปรับฟังความเห็นสาธารณะ (ประชาพิจารณ์) โดยเบื้องต้นทีดีอาร์ไอ ได้ศึกษาร่างประกาศดังกล่าวเห็นว่า มีอยู่ 3 ประเด็นหลักที่ไม่เห็นด้วย และเห็นว่า กสทช. ควรดำเนินการแก้ไข

ประกอบด้วย 1. การกำหนดราคาตั้งต้นประมูลที่ 11,600 ล้านบาทต่อใบอนุญาตมีราคาต่ำกว่าที่ควรจะเป็น เนื่องจาก กสทช.ยึดผลศึกษามูลค่าคลื่นความถี่ของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) ที่ศึกษาไว้ในปี 2557 สำหรับอายุใบอนุญาต 15 ปี แต่ กสทช.กลับให้อายุใบอนุญาต 19 ปี ซึ่งจากการผลศึกษาของทีดีอาร์ไอ พบว่า ไม่ว่าราคาตั้งต้นประมูลจะสูงหรือต่ำ ประชาชนที่ใช้งานยังต้องใช้ในราคาเดิม เพียงแต่ราคาประมูลสูงหรือต่ำเป็นการแบ่งผลประโยชน์ระหว่างรัฐกับเอกชนว่าใครจะได้มากน้อยกว่ากันเท่านั้น

:หวั่นเกิดกรณี “ฮั้ว” ราคา
ประเด็นที่ 2 การที่ กสทช.จัดให้มีการเสนอราคาประมูลพร้อมกันทั้ง 2 ย่านความถี่วันที่ 11 พ.ย.นี้ แบ่งเป็นคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 2 ใบอนุญาตช่วงเช้า และคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 2 ใบอนุญาตช่วงบ่าย โดยทั้ง 2 ย่านความถี่เมื่อนำมารวมกันจะมีจำนวนใบอนุญาตทั้งสิ้น 4 ใบอนุญาต “กรณีนี้หากมีผู้เข้าประมูลเพียง 3 ราย หรือ มีรายที่ 4 แต่รายที่ 4 ไม่ได้เข้มแข็งด้านการเงินพอที่จะสู้กับรายอื่นจริง การประมูลลักษณะนี้จะเข้าข่ายเป็นช่องให้เกิดการสมยอมราคา หรือ ฮั้วประมูล ระหว่างผู้ประกอบการได้ว่าใครจะเอาใบอนุญาตคลื่นความถี่ใดบ้าง”

อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าว หากช่วงเช้ามีผู้ประกอบการ 2 ราย ประมูลได้มาคนละ 1 ใบอนุญาต ช่วงบ่ายผู้ประกอบการในรายที่ไม่ต้องการเอาใบอนุญาตเพิ่มก็เป็นไปได้ว่าจะเข้าไปร่วมการเคาะราคา เพื่อช่วยผู้ประกอบการที่เหลือให้มีผู้เข้าประมูลมากกว่าจำนวนใบอนุญาตเพื่อ กสทช.จะได้ไม่ต้องเพิ่มราคาตั้งต้น การประมูลจากเดิมที่กำหนดไว้ 70% ของมูลค่าคลื่นความถี่ที่แท้จริงให้ขึ้นไปเป็น 100% ของมูลค่าคลื่นความถี่ที่แท้จริง ในกรณีที่มีผู้เข้าประมูลน้อยกว่าหรือเท่ากับจำนวนใบอนุญาต ดังนั้นควรเลื่อนเวลาการประมูลคลื่นความถี่อีกย่านหนึ่งออกไป 2-3 เดือน เพื่อปิดช่องว่างทุจริตดังกล่าว

ประเด็นที่ 3 การที่ กสทช.กำหนดให้ผู้ที่ชนะการประมูลต้องขยายโครงข่ายให้ครอบคลุม 40% ของการเข้าถึงของประชากรในประเทศภายใน 4 ปี และหลังจากนั้นจะไม่บังคับเพิ่มเติมถือว่าต่ำเกินไป จึงอยากให้มีการบังคับการขยายโครงข่ายเช่นเดียวกับคลื่นความถี่ย่าน 2100 เมกะเฮิรตซ์ หรือ 3จี ที่ให้ครอบคลุม 50% ใน 2 ปีแรก และ 80% ใน 4 ปี ซึ่งประโยชน์จากที่โครงข่ายขยายได้เร็ว คือ การที่ผู้ให้บริการจะแข่งขันเรื่องคุณภาพการให้บริการ และราคาเครื่องที่รองรับ เช่น สมาร์ทโฟน หรือแทบเล็ต ที่รองรับ 4จี จะมีราคาถูกลง

:จี้ไอซีทีเจรจาทีโอที-แคท
นอกจากนี้ ต้องการให้ กสทช.หรือกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) รีบเจรจากับหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ทั้งบมจ.กสท โทรคมนาคม และ บมจ.ทีโอที เพื่อความกระจ่างชัดเรื่องสิทธิ ใช้งานคลื่นความถี่ และหาทางออกร่วมกันในการที่ กสทช.นำคลื่นความถี่ของทั้ง 2 หน่วยงานหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานมาประมูล ป้องกันความเสี่ยงต่อการฟ้องร้อง และอาจมีผลให้การประมูลเลื่อนออกไป

“หากการประมูลต้องเลื่อนออกไปประชาชนก็จะเสียประโยชน์จากการมี 4จี ใช้ช้าลง และรัฐบาลก็จะยากลำบากขึ้นในการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล เพราะหัวใจหลักในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตในยุคปัจจุบัน คือ การเชื่อมต่อแบบไร้สายผ่าน สมาร์ทโฟน และแทบเล็ต เป็นหลัก”

ทั้งนี้ สำนักงานกสทช.ได้จัดประชาพิจารณ์ครั้งสุดท้ายวันนี้ (3 ส.ค.) หลังเปิดรับฟังความเห็นที่เชียงใหม่ไปแล้ว เมื่อวันที่ 27 ก.ค. ที่ผ่านมา

:จับตาประชาพิจารณ์วันนี้ สำหรับประเด็นที่จะรับฟังความคิดเห็นวันนี้ ได้แก่ 1. ขนาดของคลื่นความถี่ที่จะนำมาประมูล 2. วิธีการอนุญาต ความเหมาะสมการใช้วิธีการประมูล ความเหมาะสมของกฎ การประมูล ความเหมาะสมของเงื่อนไข กรณีที่มีผู้เข้าร่วมการประมูลจำนวนน้อยกว่าหรือเท่ากับจำนวนชุดคลื่นความถี่ที่จะนำมาอนุญาตให้ใช้ 3. ราคาขั้นต่ำของการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่แยกเป็น 13,920 ล้านบาท กรณีที่มีผู้เข้าร่วมการประมูลมากกว่าจำนวนใบอนุญาต และ 19,890 ล้านบาท กรณีที่มีผู้เข้าร่วมการประมูลน้อยกว่าหรือเท่ากับจำนวนใบอนุญาต 4. กระบวนการอนุญาต 5. สิทธิ หน้าที่ และเงื่อนไข ในการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ 6. มาตรการจำกัดพฤติกรรมสมยอมในการเสนอราคาประมูล 7. ประเด็นอื่นๆ

นายฐากร ตัณฑสิทธ์ เลขาธิการกสทช.กล่าวว่า ความคิดเห็นที่ได้รับในวันนี้สำนักงาน กสทช.จะนำไปรวบรวมกับความคิดเห็นที่มีผู้ให้ความเห็นต่อร่างประกาศฉบับดังกล่าวในทุกๆ ช่องทาง เพื่อปรับปรุงร่างหลักเกณฑ์ประมูลคลื่นความถี่ 1800 ให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น “ส่วนข้อเสนอแนะของทีดีอาร์ไอ ขอให้ทำเป็นเอกสารยื่นมาทางสำนักงาน กสทช.ซึ่งก็พร้อมจะนำเข้าสู่วาระการพิจารณาต่อไป”

นอกจากนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้มีส่วนได้เสีย และประชาชนทั่วไปยังคงสามารถแสดงความคิดเห็นต่อร่างประกาศฉบับนี้ได้โดยการส่งเอกสารโดยตรง หรือผ่านช่องทางจดหมาย จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ หรือโทรสาร ต่อสำนักงาน กสทช.ไปจนถึงวันที่ 17 ส.ค.นี้

‘ผู้เข้าประมูลน้อยกว่าหรือเท่ากับจำนวนใบอนุญาต ควรเลื่อนเวลาประมูลคลื่น’ ความถี่อีกย่านออกไป 2-3 เดือน ปิดช่องทุจริต’

————————

หมายเหตุ: พิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 3 สิงหาคม 2558 ชื่อ “’สมเกียรติ’ ชู 3 ประเด็น วิพากษ์ร่างฯประมูล ‘4จี’”