ดัน ‘เทรดดิ้ง เนชั่น’ หนุนการค้าไทย

ปี2015-08-07

นำเข้าสินค้าแปรรูปส่งออกย้ายฐานผลิตแหล่งต้นทุนต่ำ

เอกชน-นักวิชาการหนุนรัฐผลักดันเทรดดิ้ง เนชั่น อยู่รอดในเวทีการค้าโลก ทีดีอาร์ไอชี้ไทยไม่เนื้อหอมดึงดูดลงทุน ระบุนักลงทุนต่างชาติหันซุกเพื่อนบ้านแทน

นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ เปิดเผยในการสัมมนาเรื่อง เทรดดิ้งเนชั่นกับทางออกอุตสาหกรรมไทย กรณีอุตสาหกรรมกุ้งและยานยนต์ และชิ้นส่วนว่า เพื่อให้ไทยสามารถอยู่รอดและแข่งขันได้ในสภาพแวดล้อมทางการค้า การลงทุนของโลกในปัจจุบัน จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องปรับตัวเป็นเทรดดิ้งเนชั่นเช่นเดียวกับสิงคโปร์และฮ่องกง

สำหรับไทยจะมีความหมายที่ต่างออกไป เนื่องจากไทยมีฐานการผลิตเป็นของตนเองในประเทศ สามารถผันตัวเป็นผู้ผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงและบริหารจัดการห่วงโซ่มูลค่าส่วนอื่นๆได้

ทั้งนี้ภาคเอกชนควรใช้หลักการที่สำคัญสำหรับเทรดดิ้งเนชั่น คือ พร้อมที่จะ move up and move out หรือ การนำเข้าวัตถุดิบจากแหล่งผลิตที่มีต้นทุนถูกกว่าไทย เพื่อแปรรูปเพิ่มมูลค่าให้มากขึ้นแล้วส่งออก โดยใช้ประโยชน์จากจุดแข็งในด้านที่ตั้งของประเทศที่เป็นศูนย์กลางของภูมิภาค

ขณะที่ภาครัฐต้องเจรจาลดความเสี่ยงจากระเบียบและประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการค้า รวมทั้งสร้างโอกาสใหม่ทางการค้าด้วย ทั้งนี้เพราะปัจจุบันไทยเสียแต้มต่อทางการค้าในตลาดใหญ่ๆของโลก เช่น จีเอสพีในสินค้ากุ้งส่งผลให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 2.7%

“การลงทุนจากต่างประเทศ เพื่อนบ้านในอาเซียนกำลังเนื้อหอมดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้น แต่ไทยไม่ได้เนื้อหอมอย่างที่คิด หลายอุตสาหกรรมไม่สามารถดึงดูดการลงทุนได้อีก เมื่อเทียบกับ 10 ปีที่ผ่านมา ”

นายเชษฐา อินทรวิทักษ์ นักวิชาการ ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า กรณีการศึกษากุ้งในปัจจุบันประเทศผู้ซื้อโดยเฉพาะผู้ค้าปลีกรายใหญ่มีอำนาจสูงในการกำหนดมาตรฐานทั้งคุณภาพ ราคา และการเข้าถึงตลาด แม้ไทยจะยังเป็นผู้นำในด้านเทคโนโลยีการเลี้ยงแต่ประเทศผู้เลี้ยงอื่นมีแนวโน้มการพัฒนาสูงมาก

ทางออกกรณีกุ้งตามแนวเทรดดิ้งเนชั่น คือ ควรนำเข้าจากต่างประเทศที่มีทรัพยากรกุ้งอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งวัตถุดิบสำรอง หรืออาจขยายฐานการผลิต โดยเฉพาะกรณีการเลี้ยงกุ้งไทยที่ไม่สามารถแข่งขันได้ โดยผู้ประกอบการต้องสามารถบริหารจัดการเรื่องคุณภาพทั้งกรณีสารตกค้างและโรคกุ้ง

นายอดุม จริยาวิลาศกุล ที่ปรึกษาอาวุโส สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย กล่าวว่า เห็นด้วยที่ไทยจะต้องเป็นเทรดดิ้งเนชั่น ซึ่งในส่วนของอุตสาหกรรมภาคการเกษตรโดยเฉพาะกุ้งนั้นต้องคิดใหม่ว่าทรัพยากรการผลิตกุ้งทั้งโลกนี้เป็นของไทยทั้งสิ้น จากปัจจุบันแม้ไทยจะส่งออกกุ้งแช่เย็นและแช่แข็งลดลง แต่ในการแปรรูปกุ้งไทยยังเป็นผู้นำ ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับปรุงพัฒนากระบวนการผลิตจนเป็นที่ยอมรับของตลาดทั่วโลก

อย่างไรก็ตามไทยยังขาดวัตถุดิบ แต่นำเข้าได้เร็วๆนี้จะสามารถนำเข้าได้ล็อตแรก 10,000 ตัน มาตรฐานเป็นไปตามเงื่อนไขการรับรองแหล่งผลิตที่ไม่ใช่ประเทศถูกกล่าวหาการดั้มพ์ตลาดหรือ AD

นายสุนทร ตันมันทอง นักวิจัยจากทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า กรณีการศึกษาอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนพบว่า สถานการณ์ของไทยมีทิศทางเปลี่ยนแปลง 3  ด้าน คือ การเกิดศูนย์กลางการผลิตรถยนต์แหล่งใหม่ที่อินโดนีเซีย เครือข่ายการผลิตยานยนต์ของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านในการแปรรูปแบบ Thailand-plus-one Model และการเข้ามาลงทุนในด้านชิ้นส่วนรถยนต์เอสเอ็มอีญี่ปุ่น ดังนั้นเทรดดิ้ง เนชั่นต้องตอบรับกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ควรให้ความสำคัญกับงานด้านออกแบบและพัฒนา ซึ่งเป็นส่วนที่พัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่มได้สูง รวมทั้งต้องพัฒนาความสามารถในการบริหารจัดการเครือข่ายในภูมิภาคเพื่อให้สอดรับกับ Thailand-plus-one Model ในส่วนของภาครัฐควรช่วยเหลือผู้ประกอบการในด้านการลดอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีให้หมดไป

นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือ (สรท.) กล่าวว่า เทรดดิ้ง เนชั่นได้หารือกันมานาน โดยการส่งออกที่ติดลบต่อเนื่องทำให้ สรท.เสนอยุทธศาสตร์ต่อรัฐบาล ซึ่งการไปสู่เทรดดิ้งเนชั่นนั้นมี 3 ขั้นตอน คือ ส่งออกสินค้าในรูปวัตถุดิบสู่การพัฒนาเป็นนำเข้าสินค้าแล้วส่งออกในลักษณะการแปรรูปที่มีมูลค่าเพิ่มสูง และเข้าสู่ขั้นการส่งออกในรูปบริการมากกว่า

————————

หมายเหตุ: พิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 8 สิงหาคม 2558 ชื่อ “ดัน ‘เทรดดิ้ง เนชั่น’ หนุนการค้าไทย”