เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2558 ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) โครงการติดตามนโยบายสื่อและโทรคมนาคม (NBTC Policy Watch) ได้จัดการแถลงข่าวและงานเสวนาในหัวข้อ “ประมูล 4G ใครได้ใครเสีย: รัฐ ผู้ประกอบการ ประชาชน”
เผยเงื่อนไขประมูล 4G ผ่อนคลายกว่า 3G
นายพรเทพ เบญญาอภิกุล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มธ. นักวิจัยประจำโครงการ NBTC Policy Watch กล่าวนำเสนอรายงานในหัวข้อ “การประมูล 4G และผลประโยชน์สาธารณะ” มีใจความว่า ขอเริ่มจากข้อมูลพื้นฐานเรื่องหลักเกณฑ์การประมูลก่อน ในปีนี้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะนำคลื่น 900 MHz ที่จะหมดสัมปทานในปี 2560 และคลื่น 1800 MHz ที่จะหมดสัมปทานไปตั้งแต่ปี 2556 มาเปิดประมูลเพื่อให้บริการในระบบ 4G โดยแบ่งการประมูลออกเป็นคลื่นละ 2 ใบอนุญาต และมีอายุใบอนุญาต กรณีคลื่น 900 MHz คือ 15 ปี และคลื่น 1800 MHz คือ 19 ปี เพื่อให้สิ้นสุดอายุใบอนุญาตพร้อมกันในปี 2575
เรื่อง “มูลค่าคลื่น” เมื่อครั้งประมูลคลื่น 2100 MHz เพื่อนำมาให้บริการในระบบ 3G ในปี 2556 กสทช. ได้จ้างคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาคำนวณมูลค่าคลื่น แต่การประมูล 4G ครั้งนี้ กสทช. ได้จ้างบริษัทที่ปรึกษาต่างประเทศ อย่างสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union: ITU) มาคำนวณ พร้อมกำหนด “ราคาตั้งต้น” การประมูล ไว้ที่ 70% ของมูลค่าคลื่นที่ได้จากการคำนวณ ยกเว้นกรณีที่มีผู้เข้าร่วมประมูลน้อยกว่าหรือเท่ากับจำนวนใบอนุญาตให้ขึ้นเป็น 100% ทันที
– คลื่น 900 MHz ซึ่งประมูล 2 ใบอนุญาต แต่ละใบอนุญาตมีขนาด 10 MHz ได้กำหนดราคาตั้งต้นไว้ที่ 11,260 ล้านบาท/ใบอนุญาต
– คลื่น 1800 MHz ซึ่งประมูล 2 ใบอนุญาต แต่ละใบอนุญาตมีขนาด 12.5 MHz ได้กำหนดราคาตั้งต้นไว้ที่ 11,600 ล้านบาท/ใบอนุญาต แต่ในกรณีที่ กสทช. สามารถเรียกคืนคลื่นที่บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC มีสัมปทานกับบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ TOT และไม่ได้ใช้งานอีก 5 MHz ได้ทันการประมูลหรือไม่ หากเรียกคืนได้ทัน จะทำให้แต่ละใบอนุญาตมีขนาด 15 MHz ราคาตั้งต้นก็จะเพิ่มเป็น 13,920 ล้านบาท/ใบอนุญาต
หากเทียบกับราคาตั้งต้นคลื่น 2100 MHz ซึ่งอยู่ที่ 13,500 ล้าน/ใบอนุญาต จะพบว่าใกล้เคียงกับราคาตั้งต้นของคลื่น 1800 MHz แต่สูงกว่าคลื่น 900 MHz
กสทช. ได้กำหนด “เงื่อนไข” ให้บริษัทเอกชนที่ชนะการประมูล 4G จะต้องทำให้ครอบคลุมเครือข่าย 40% ของประชากรทั้งหมดภายใน 4 ปี ซึ่งน้อยกว่าสมัย 3G ที่กำหนดให้ต้องครอบคลุมถึง 80% ภายใน 4 ปี นอกจากนี้ กสทช. ยังกำหนดเพดานการถือครองคลื่น (Spectrum Cap) ไม่ให้บริษัทเอกชนเจ้าใดเจ้าหนึ่งถือครองคลื่นความถี่เกิน 60MHz หากบริษัทใดถือเกินต้องส่งคืนให้กับเจ้าของสัมปทานเดิม
บี้ประมูลคลื่น 900, 1800 พร้อมกัน – เลิกกำหนดเพดานถือครองคลื่น
นายพรเทพกล่าวว่า ขอตั้งข้อสังเกตจากเงื่อนไขการประมูลที่ กสทช. กำหนด
- การที่กำหนดให้แต่ละใบอนุญาตมีขนาด 10-15 MHz/ใบอนุญาต ทำให้ราคาตั้งต้นสูงจนรายเล็กหมดโอกาสเข้าร่วมการประมูล จนไม่สามารถใช้กลไกตลาดกระจายการถือครองอย่างเต็มที่ รายเล็กอยากถือครองแค่ 5 MHz ก็ทำไม่ได้ ซึ่งต่างกับสมัยประมูล 3G ที่กำหนดให้แต่ละมีใบอนุญาตมีขนาด 5 MHz/ใบอนุญาต เท่านั้น โดย กสทช. ให้เหตุผลว่า เพื่อความยืดหยุ่นเผื่อว่ารายเล็กจะเข้ามา แต่คำอธิบายนั้นกลับไม่ถูกนำมาใช้กับการประมูล 4G
- ลำดับการประมูลที่ให้แยกประมูลคนละครั้ง ระหว่างคลื่น 900 MHz กับคลื่น 1800 MHz ทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ โดยคลื่นที่ประมูลรอบแรก ผู้เข้าประมูลจะมีข้อมูลน้อยกว่า และอาจสร้างแรงจูงใจในการดันราคาประมูลรอบแรกให้สูงขึ้น เพื่อลดเงินทุนของคู่แข่งในการประมูลรอบหลังให้เหลือน้อยลง
- หากเทียบเคียงราคาตั้งต้นการประมูล ตั้งแต่สมัย 3G มาจนถึง 4G จะพบว่าราคาตั้งต้นคลื่น 900 MHz (11,260 ล้านบาท) ต่ำกว่าคลื่น 2100 MHz (13,500 ล้านบาท) ทั้งที่มูลค่าทางธุรกิจของคลื่น 900 MHz สูงกว่า และหลายประเทศราคาประมูลของคลื่น 900 MHz ก็สูงกว่าคลื่น 2100 MHz หลายเท่าตัว เพราะคลื่น 900 MHz มีอำนาจทะลุทะลวงมากกว่า ทำให้ไม่จำเป็นต้องตั้งเสาให้มีความถี่มาก อย่างไรก็ตาม การจะตรวจสอบว่าราคาตั้งต้นการประมูล 4G มีความสมเหตุสมผลหรือไม่เป็นเรื่องยาก เพราะ กสทช. ไม่ได้เปิดเผยรายงานการคำนวณมูลค่าคลื่นของ ITU ฉบับสมบูรณ์ต่อสาธารณชน ทั้งที่ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 ก็กำหนดไว้ว่าต้องเปิดเผย
- การกำหนดเพดานการถือครองคลื่น (Spectrum Cap) ที่บริษัทเอกชนแต่ละแห่งถือครอง ไม่ว่าจะในระบบสัมปทานหรือระบบใบอนุญาต ไว้ที่ 60 MHz เพื่อป้องกันรายใหญ่กักตุนคลื่นเป็นแนวคิดที่ดี แต่ที่ผ่านมา กสทช. ไม่เคยมีนโยบายสนับสนุนรายเล็กในการเข้าสู่ตลาดอย่างจริงจัง ทำให้รายเล็กไม่มีโอกาสจะเกิด ผลเสียของ Spectrum Cap คือ จะลดการแข่งขันในการประมูล ที่สำคัญตัวเลข 60 MHz ไม่มีงานศึกษาที่เป็นวิชาการรองรับ ในหลายประเทศก็ไม่มีการใช้ Spectrum Cap บางประเทศที่เคยใช้ก็ผ่อนคลายมากขึ้น เช่น สหรัฐอเมริกา ที่ยกเลิก Spectrum Cap ไปในปี 2556 และหันมาใช้การสกรีนว่ามีรายใดถือครองคลื่นมากเกินไปหรือไม่ ประเทศไทยเพิ่งอยู่ในช่วงเริ่มต้นการเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานไปสู่ระบบใบอนุญาต และเพิ่งประมูลคลื่นไปได้แค่ 45 MHz กรณี 3G เท่านั้น จึงน่าสนใจว่าการใช้ Spectrum Cap เป็นเรื่องที่ถูกที่ถูกเวลาหรือไม่นอกจากนี้ การกำหนดว่า ถ้าถือครองเกิน 60 MHz จะต้องคืนกลับไปยังเจ้าของสัมปทาน จะเกิดปัญหาทางข้อกฎหมายหรือไม่
“ข้อเสนอของ NBTC Policy Watch มีด้วยกัน 4 ข้อ ให้ กสทช. เปิดเผยรายงานการคำนวณมูลค่าคลื่น 4G ให้สาธารณชนเข้าถึงได้, ให้ประมูลทั้งคลื่น 900 MHz และคลื่น 1800 MHz พร้อมกัน, ให้แบ่งชุดคลื่นความถี่แต่ละใบอนุญาตเป็นขนาด 5 MHz เพื่อให้รายใหม่เข้าสู่ตลาดได้ง่ายขึ้น และยกเลิกการใช้ Spectrum Cap จากเกณฑ์การประมูล” นายพรเทพกล่าว
แย้งประมูลพร้อมกัน อาจฮั้ว – รับปีศาจ 3G ยังหลอกหลอน
ต่อมาเป็นงานสัมมนา
นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช. กล่าวว่า ที่เสนอให้ประมูลทั้งคลื่น 900 MHz และคลื่น 1800 MHz พร้อมกัน โมเดลของต่างประเทศและข้อเสนอของ ITU ก็เสนอให้ประมูลพร้อมกัน แต่จะสำเร็จได้ต้องไม่มีการฮั้วกัน การประมูลทั้ง 2 คลื่นพร้อมกัน จะทำให้ของมีมากกว่าคน คือมี 4 ใบอนุญาต แต่มีรายใหญ่เพียง 3 เจ้า จึงอาจเกิดปัญหาเรื่องการฮั้วกันได้
ส่วนที่เสนอให้แบ่งชุดคลื่นความถี่เป็นขนาด 5 MHz/ใบอนุญาต ต้องยอมรับว่าการประมูล 3G ที่เกิดปัญหามากยังเป็นปีศาจที่ตามมาหลอกหลอนอยู่ จึงตัดสินใจใช้ชุดใหญ่เป็นขนาด 10-15 MHz/ใบอนุญาตแทน ถามว่าจะเป็นการกีดกันรายใหม่ไหม ขอตอบว่า กสทช. ก็ไม่มั่นใจว่าจะมีรายใหม่เข้ามา เพราะหากรายใหม่ประมูลได้ไปแค่ขนาด 5 MHz ก็จะให้บริการ 4G ได้ไม่ดีนัก อาจนำไปใช้เป็นบริการเสริมมากกว่า
เรื่อง Spectrum Cap ความจริง ITU ก็ไม่แนะนำให้นับรวมคลื่นที่อยู่ในการครอบครองทั้งหมด ให้นับเฉพาะ 4G เท่านั้น เพราะถ้าใช้นับการครอบครองทั้งหมด จะมีผู้ได้รับผลกระทบจำนวนมาก โดยเฉพาะหากนับความเป็นเจ้าของผ่านโครงสร้างการถือหุ้นอย่าง TOT และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) CAT ก็จะเข้าประมูลไม่ได้เลย เพราะมีผู้ถือหุ้นใหญ่คือ กระทรวงการคลังเหมือนกัน
“กรณี 4G ยังมีประเด็นอีกเยอะ โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภค เช่น การกำหนดค่าใช้บริการ เพราะ 4G จะเน้น data มากกว่า voice จึงควรคิดราคาตามจริง ตามจำนวนข้อมูลที่ใช้ เช่น เป็นราคาต่อกิโลไบต์ ไม่ใช่เหมาจ่ายเป็น 5 จิกะไบต์ 10 จิกะไบต์ เพื่อให้คนทั่วไปเข้าถึงได้ ส่วนจะมีการคิดราคาเหมาจ่ายเป็นแพ็คเกจก็ถือเป็นทางเลือก, การปรับเศษสตางค์ ยอมรับว่า กสทช. ยังไม่ได้ขยับ และการปัดเศษการใช้งาน data จะหนักกว่า voice เยอะ เช่น ผู้ให้บริการ 4G บางเจ้าในขณะนี้ แม้จะใช้เกินไปเพียง 1 กิโลไบต์ แต่กลับคิดราคาเหมาจ่ายเป็น 100 เมกะไบต์ หรือเพิ่มขึ้นถึงแสนเท่า, ความเร็วขั้นต่ำในการใช้งาน 4G ทาง ITU กำหนดไว้ว่าควรจะมีความเร็วขั้นต่ำอย่างน้อย 2 เมกะไบต์/วินาที ฯลฯ เป็นต้น”
ห่วงไม่มีประมูล 4G จี้รัฐสร้างหลักประกัน ยันจำเป็นต่อ ศก.ดิจิทัล
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า การประมูล 4G เกิดขึ้นในบริบทที่เศรษฐกิจดิจิทัลกำลังขึ้นอยู่พอดี เห็นได้จากจำนวน smart devices ของไทย ที่ปัจจุบันมีอยู่ราว 30 ล้านเครื่อง แต่ในอีก 5 ปีข้างหน้าอาจจะเพิ่มเป็น 60 ล้านเครื่อง แสดงว่าความต้องการใช้มีสูงมาก อย่างไรก็ตาม การประมูล 4G ก็มีความเสี่ยงว่าจะเกิดขึ้นได้หรือไม่จาก 2 ปัจจัย 1. รัฐวิสาหกิจที่อ้างสิทธิ์ว่าเป็นเจ้าของคลื่นไปยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง และ 2. ร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัลที่อยู่ระหว่างยกร่าง อาจเปิดโอกาสให้คณะกรรมการเศรษฐกิจดิจิทัลเข้ามาล้วงลูกการทำงานของ กสทช. ได้
แต่ถ้ามีการประมูล 4G เกิดขึ้นจริง ตนก็มีข้อสังเกตอย่างน้อย 4 ประการ
- ราคาตั้งต้นของคลื่น 900 MHz และคลื่น 1800 MHz ที่คิดจาก 70% ของมูลค่าคลื่น มีที่มาที่ไปอย่างไร วิธีแก้ก็คือ กสทช. ต้องเปิดเผยรายงานการคำนวณมูลค่าคลื่นของ ITU ให้สาธารณชนตรวจสอบ
- การประมูลที่มีข่าวว่าอาจใช้วิธีประมูลคลื่นหนึ่งช่วงเช้า อีกคลื่นช่วงบ่าย อาจทำให้เกิดการฮั้วกัน โดยบริษัทเอกชนรายใหญ่ทั้ง 3 บริษัท จับมือกันเสนอราคาที่สูงกว่าราคาตั้งต้นไม่มากนัก วิธีแก้ก็คือ ให้ประมูลทั้ง 2 คลื่นพร้อมกัน หรือประมูลแยกกันแต่ห่างกัน 3 เดือนขึ้นไป ซึ่งมีความเสี่ยงว่าอาจจะมีบริษัทเอกชนรายใดเบี้ยวข้อตกลงในการฮั้วกัน
- การกำหนดความครอบคลุมเครือข่ายเพียง 40% ใน 4 ปี ถือว่าน้อยเกินไป แม้ กสทช. จะอ้างว่า 4G สำหรับคนในเมือง แต่จากการสำนวนพบว่าประชากรไทยอยู่ในเมืองเกินกว่า 50% ดังนั้น หากต้องการให้ครอบคลุม รวมถึงคนชนบทมีโอกาสได้ใช้ด้วย ควรจะกำหนดไว้อย่างน้อย 60%
- การกำหนด Spectrum Cap ที่ 60 MHz โดยให้นับคลื่นที่ถืออยู่ก่อนทั้งในระบบสัมปทานและระบบใบอนุญาตด้วย หากเกินจะต้องคืนสู่เจ้าของสัมปทานเดิม ก็มีคำถามว่าถือเป็นการละเมิดสิทธิหรือไม่ และจะขัดกับข้อกฎหมายหรือไม่ ที่สำคัญในทางเศรษฐกิจ การใช้ Spectrum Cap จะลดแรงจูงใจในการประมูลลง
“4G เป็นบริการที่จำเป็น เพราะเศรษฐกิจดิจิทัลจะไปไม่ได้เลยถ้าไม่มีคลื่นให้ใช้อย่างเพียงพอ รัฐบาลจึงต้องสร้างหลักประกันว่าจะมีการประมูลเกิดขึ้นจริง ไม่มีอะไรมาให้เซอร์ไพรส์อีก” ดร.สมเกียรติกล่าว
—————————–
หมายเหตุ :ตีพิมพ์ครั้งแรกในเว็บไซต์ thaipublica วันที่ 19 สิงหาคม 2558 ใน “ปธ.ทีดีอาร์ไอ หวั่นไม่มีประมูล 4G ขอรัฐให้หลักประกัน นักวิจัยแนะ กสทช. จัดประมูลคลื่น 900-1800 พร้อมกัน จี้เลิกเพดานถือครองคลื่น”