tdri logo
tdri logo
31 สิงหาคม 2015
Read in Minutes

Views

‘ความเหลื่อมล้ำ’ ทางการศึกษาของไทย

นณริฏ พิศลยบุตร

ทางผู้อ่านคงจะทราบกันดีถึงปัญหาสำคัญๆ ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาของไทย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาในด้านปริมาณ เช่น ปัญหาการเข้าถึงการศึกษา ปัญหาการออกจากวัยเรียนก่อนเวลาอันควร หรือปัญหาในด้านคุณภาพ เช่น ปัญหารายจ่ายเพื่อการศึกษาที่สูง แต่ได้เด็กที่จบออกมามีคุณภาพไม่สอดคล้องกับตลาดแรงงาน เป็นต้น ในบทความนี้ ผู้เขียนจะอธิบายถึงปัญหาการศึกษาของไทยในอีกแง่มุมหนึ่ง ได้แก่ ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา (educational inequality)

ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ในที่นี้หมายถึงความแตกต่างในผลลัพธ์ของการศึกษา โดยหากพิจารณาถึงพื้นฐานที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยส่วนบุคคลของนักเรียนแต่ละคน ปัจจัยทางด้านครอบครัว หรือความแตกต่างของแต่ละโรงเรียนที่นักเรียนแต่ละคนเข้าเรียนอยู่ จะพบว่าปัจจัยทั้งหลายเหล่านี้ ต่างก็มีส่วนทำให้เด็กแต่ละคนได้รับความรู้ ความเข้าใจที่ไม่เท่ากัน จึงสะท้อนออกมาเป็นผลคะแนนสอบ (test score) ที่แตกต่างกันตามไปด้วย

เพื่อวัดความแตกต่างของผลคะแนนสอบดังกล่าว และเพื่อศึกษาถึงปัจจัยที่ทำให้ผลคะแนนสอบของเด็กนักเรียนในวัยเดียวกันมีความแตกต่างกัน ผู้เขียนได้เลือกใช้ผลการสอบโครงการประเมินผลการศึกษาปิซ่า (PISA) ขององค์กรเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ปี พ.ศ. 2555 เป็นต้นแบบในการศึกษาเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของไทย

จุดเด่นของการประเมินผลปิซ่า (PISA) อยู่ที่การออกแบบคำถามที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อวัดความสามารถของเด็กนักเรียนวัย 15 ปี โดยทำการประเมินความพร้อมของทักษะต่างๆ ที่สำคัญ สำหรับการตอบรับความท้าทายที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต มากกว่าที่จะเน้นความสามารถในสาขาวิชาใดวิชาหนึ่งโดยเฉพาะ ผลการสอบดังกล่าวจึงสะท้อนถึงความพร้อมของเยาวชนของแต่ละประเทศ ว่ามีความพร้อมมากน้อยเพียงใดในการจะดำเนินชีวิตต่อไปในอนาคต ในอีกด้านหนึ่ง ฐานข้อมูลปิซ่า ยังได้มีการเก็บข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลครอบครัว รวมทั้งข้อมูลของโรงเรียนที่เข้าร่วมในโครงการอย่างละเอียด จึงทำให้ผู้เขียนสามารถที่จะประมาณค่าความสัมพันธ์ของแต่ละปัจจัยในการกำหนดผลต่างในผลสอบดังกล่าวได้อีกด้วย ทำให้สามารถเข้าใจถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้ดียิ่งขึ้น ผู้เขียนได้เลือกใช้ข้อมูลปีพ.ศ. 2555 ซึ่งเป็นข้อมูลปีล่าสุดในการศึกษาวิจัยในครั้งนี้

ผลการศึกษาเบื้องต้นพบว่า หากกำหนดให้ขนาดของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามีอยู่ที่ 100 เปอร์เซ็นต์จะสามารถแยกองค์ประกอบของความเหลื่อมล้ำดังกล่าวออกเป็นความแตกต่างที่เกิดจากปัจจัยด้านสถานศึกษา หรือโรงเรียนมากถึง 47 เปอร์เซ็นต์ ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับครอบครัว เช่น การอยู่ร่วมกันกับบิดาและมารดา ระดับการศึกษาของบิดาและมารดา รวมทั้งประเภทของอาชีพของบิดาและมารดา (กลุ่มแรงงาน กลุ่มลูกจ้าง กลุ่มสูงกว่าลูกจ้าง) จะสามารถอธิบายความเหลื่อมล้ำได้ 9 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ปัจจัยเฉพาะส่วนบุคคล เช่น อายุ เพศ นักเรียนเคยซ้ำชั้น สามารถอธิบายความแตกต่างในคะแนนสอบได้เพียงแค่ 2 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสะท้อนภาพว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษาของไทย เป็นผลมาจากความแตกต่างทางด้านสถาบันการศึกษาเป็นหลัก

การตีความนี้อาจต้องระมัดระวังเพราะยังมีความเหลื่อมล้ำมากถึงร้อยละ 42 ที่ไม่สามารถอธิบายได้ภายใต้กรอบการวิเคราะห์แบบนี้เพราะปัญหาการไม่มีข้อมูลวัดปัจจัยที่มีผลกระทบครบถ้วน ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่าความเหลื่อมล้ำที่ยังอธิบายไม่ได้นี้ซ่อนอยู่ในปัจจัยบุคคลและปัจจัยครอบครัวเป็นสำคัญ โดยตัวแปรที่น่าจะสำคัญแต่ไม่สามารถหาข้อมูลมารวมอยู่ในการวิเคราะห์ครั้งนี้ อาทิเช่น ความฉลาดทางสติปัญญา (IQ) ทัศนคติของเด็กนักเรียนต่อการเรียนรู้ รูปแบบการอบรมของครอบครัว หรือวัฒนธรรมการเรียนรู้ในครอบครัว เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาเท่าที่ค้นพบสามารถนำมาใช้ประกอบการจัดทำนโยบายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาได้ โดยพิจารณาจากปัจจัยที่สำคัญ 5 อันดับ คือ

1. การสนับสนุนให้ความรู้แก่มารดาทั้งในแง่การศึกษาและการประกอบอาชีพจะเป็นการช่วยเหลือเด็กนักเรียนทางอ้อมที่ได้ประสิทธิผลที่สูง

2. ขยายขนาดของโรงเรียนให้เหมาะสมจะช่วยให้ความแตกต่างด้านผลการเรียนระหว่างโรงเรียนลดลง

3. สนับสนุนให้ทุกๆ โรงเรียนมีกิจกรรมเสริมทักษะเพิ่มเติมจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำระหว่างโรงเรียนได้ดี

4. สนับสนุนให้เด็กอาศัยอยู่กับพ่อและแม่ และแก้ไขปัญหาการหย่าร้างเพื่อลดปัญหาครอบครัวอันจะทำให้เด็กมีคะแนนสอบที่ดีมากยิ่งขึ้นและเป็นการช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้อีกวิธีการหนึ่ง และ

5. เพิ่มสัดส่วนครูต่อนักเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรงเรียนที่มีสัดส่วนดังกล่าวค่อนข้างต่ำจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำระหว่างโรงเรียนได้ดียิ่งขึ้น

กล่าวโดยสรุป ผู้เขียนพบว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของไทย โดยส่วนใหญ่แล้ว จะเป็นปัญหาที่มาจากปัจจัยที่สามารถปรับเปลี่ยนแก้ไขได้ (เช่น การขยายขนาดโรงเรียน การเพิ่มจำนวนครู การให้ความรู้แก่บิดามารดา) มากกว่าที่จะมาจากปัจจัยที่คงที่ ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ (เช่น ความฉลาดทางสติปัญญา) ดังนั้น หากภาครัฐมีการกำหนดเป้าหมายและวิธีการที่เหมาะสม ย่อมสามารถที่จะบรรเทาปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของไทยให้ลดลงได้

ผู้เขียนหวังว่า ผลการวิจัยชิ้นนี้จะมีส่วนช่วยในการบ่งชี้ถึงทิศทางและเป้าหมายในการกำหนดนโยบายเพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษาของไทยได้อย่างมีประสิทธิผล เพิ่มเติมมากยิ่งขึ้น

————

ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 29 มกราคม 2558

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด