ตลาดแรงงานบัณฑิต

ปี2014-05-29
ผู้เขียนสราวุธ ไพฑูรย์พงษ์

สราวุธ ไพฑูรย์พงษ์

ที่จริงตั้งชื่อเรื่องนี้ว่า ตลาดแรงงานปัญญาชน แต่เกรงกระแสการเมืองบ้านเราจะหาว่าแบ่งแยกชนชั้นระหว่างปัญญาชนกับคนไม่มีปัญญา และอีกอย่างคือก็ไม่แน่ใจว่าคนที่เรียนจบมหาวิทยาลัยแล้วจะเป็นปัญญาชนไปโดยอัตโนมัติหรือเปล่า ในขณะเดียวกัน ก็ยังมีปัญญาชนจำนวนไม่น้อยที่ไม่จำเป็นต้องเรียนจบมหาวิทยาลัย

เอาเป็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของแรงงานจบปริญญาก็แล้วกัน

ปัจจุบัน การศึกษาระดับอุดมศึกษาของประเทศไทยนับว่ากำลังเจริญรุ่งเรืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านปริมาณ

ในปี 2555 มีสถาบันระดับมหาวิทยาลัยสารพัดชนิด 170 แห่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ จำนวนนิสิตนักศึกษาระดับปริญญาตรีประมาณ 2 ล้านคน แยกเป็นของสถาบันรัฐ 1.8 แสนคน และสถาบันเอกชน 2 หมื่นคน และระดับสูงกว่าปริญญาตรีอีก 2 แสนคน รวมทั้งสิ้นมีนักศึกษาระดับอุดมศึกษา 2.2 ล้านคน (ไม่รวมอนุปริญญาหรือเทียบเท่า) เรียนอะไรกันบ้างโปรดดูในภาพประกอบ พบว่าร้อยละ 66 ของนักศึกษาอยู่ในสาขาสังคมศาสตร์ การศึกษาศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ ส่วนสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีรวมกันประมาณร้อยละ 30

ตัวเลขผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาค่อนข้างหายาก ส่วนหนึ่งเกิดจากความล่าช้าในการรายงานจำนวนผู้สำเร็จการศึกษา (ปีการศึกษา 2555 สถาบันครึ่งหนึ่งยังไม่ส่งรายงาน) ในปีการศึกษา 2554 จากตัวเลข 114 สถาบัน (อีก 37 สถาบันยังไม่ส่งข้อมูล) มีผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรี 2.5 แสนคน และสูงกว่าปริญญาตรี เกือบ 4.7 หมื่นคน เทียบกับในปี 2552 ซึ่งได้ข้อมูลครบทุกสถาบัน มีจำนวนผู้สำเร็จระดับปริญญา 3.5 แสนคน และสูงกว่าปริญญาตรี 9 หมื่นคน

หลายคนมองด้วยความเป็นห่วงว่าเรากำลังอยู่ในภาวะปริญญาเฟ้อหรือบ้าปริญญา

ในบทความนี้เราจะไม่พยายามหาสาเหตุว่าทำไม แต่จะมองดูภาพรวมของตลาดแรงงานบัณฑิตหรือผู้จบการศึกษาระดับอุดมศึกษาว่าเป็นอย่างไรก่อน ถ้ารับได้ไม่ได้อย่างไรก็ค่อยมาพิจารณาหาสาเหตุของปัญหาและแนวทางแก้ไขต่อไปก็แล้วกัน

จะเห็นได้ว่า ผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไปประมาณ ร้อยละ 60 เท่านั้นที่ได้ทำงานในระดับสูง (เจ้าหน้าที่อาวุโส ผู้จัดการ นักวิชาชีพและช่างเทคนิค) ที่เหลือประมาณร้อยละ 30 ทำงานระดับกลาง (เซลส์แมน พนักงานบริการ) และยังมีอีกร้อยละ 10 ที่ทำงานระดับช่างฝีมือและแม้กระทั่งผู้คุมเครื่องจักรและผู้ใช้แรงงาน รวมทั้งมีส่วนหนึ่งที่ว่างงาน พวกหลังๆ ที่ไม่ได้ทำงานในระดับปริญญาที่จบ ฝรั่งเรียกว่า Brain waste หรือ การสูญเสียมันสมองหรือเอาความรู้ไปทิ้ง

และน่าตกใจ ที่ผู้สำเร็จอุดมศึกษามีการว่างงานสูงสุดเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่นๆ การสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่าในเดือนเมษายน 2556 ผู้ว่างงานที่สำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษา (รวมระดับอนุปริญญาด้วย) มากที่สุด 1.16 แสนคน (อัตราการว่างงานร้อยละ 1.6) เทียบกับระดับประถมศึกษา 7.4 หมื่นคน (ร้อยละ 0.8) ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 6.8 หมื่นคน (ร้อยละ 1.1) ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 6 หมื่นคน (ร้อยละ 1.0) และแม้แต่ผู้ที่ไม่มีการศึกษาและต่ำกว่าประถมศึกษา 2.9 หมื่นคน อัตราการว่างงาน (ร้อยละ 0.3)

แรงงานบัณฑิตล้นงานหรือขาดแคลนอย่างไร จากการสำรวจความต้องการและขาดแคลนแรงงานในประเทศไทยโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติล่าสุดปี 2556 พบว่ามีความต้องการผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีและสูงกว่า จำนวน 45,610 คน โดยในจำนวนนี้ยังขาด (แคลน) อีก 27,683 คน (คำว่าขาดแคลนในที่นี้คือหาแรงงานไม่ได้ภายใน 6 เดือน)

สภาวะการขาดแคลนแรงงานที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กับการว่าง งานเป็นเรื่องเกิดขึ้นได้ทั่วโลก แม้จะบอกว่าเป็นลักษณะของ การที่ตลาดแรงงานขาดดุลยภาพ แต่ตลาดแรงงานในโลกเสรี จะมีการว่างงานอยู่ส่วนหนึ่ง ทางทฤษฎีเรียกการว่างงาน ขั้นต่ำสุดนี้ว่าการว่างงานตามธรรมชาติ ซึ่ง Milton Friedman นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล (ปี 2519) บอกว่าในอเมริกาจะมีการว่างงานตามธรรมชาติอยู่ประมาณร้อยละ 3 สำหรับกรณีของไทยการขาดแคลนแรงงานที่เกิดขึ้นพร้อมกับมีการว่างงานนั้นที่จริงอาจไม่ใช่เรื่องคุณภาพเพียงอย่างเดียว ส่วนหนึ่งเกิดจากข้อมูลตลาดแรงงานทั้งการหาคนและการหางาน ไม่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งการจับคู่แรงงานกับงานที่มีนั้นยังไม่ลงตัว เช่น มีความต้องการแรงงานในที่แห่งหนึ่ง แต่มีคนต้องการงานทำอยู่ในที่อีกแห่งหนึ่ง

รวมทั้งปัญหาคนเลือกงานและงานเลือกคน

สำหรับประเทศไทยนั้นปกติอัตราการว่างงานต่ำที่สุดในโลกอยู่แล้ว แต่อัตราต่ำสุดยังอยู่ที่ร้อยละ 0.4 เมื่อพิจารณาจากอัตราการว่างงานของแรงงานบัณฑิตที่ร้อยละ 1.3 นั้น ถือได้ว่าผิดธรรมชาติ
อย่างไรก็ตาม สาเหตุของการว่างงานของบัณฑิตในอัตราสูงที่สำคัญประการหนึ่งที่หนีไม่พ้นคือ คุณภาพของแรงงานอุดมศึกษา คุณภาพในที่นี้รวมทั้งความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะอื่นๆ ที่ไม่โดนใจนายจ้าง ซึ่งที่สำคัญเบื้องต้นคือความรู้ไม่ตรงและ/หรือไม่ได้มาตรฐาน

เรื่องนี้คงต้องวิเคราะห์กันอีกยาว พบกันใหม่ในรัฐบาลหน้า (มั้ง)


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 30 พฤษภาคม 2557