ทีม นศ.แพทย์มหิดลสุดเจ๋งคว้ารางวัลชนะเลิศ Redesigning Thailand ครั้งที่ 2

ปี2015-08-14

มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

อยากเสนอนโยบายสาธารณะของประเทศไทย ต้องเข้าใจให้ลึกซึ้ง ทีดีอาร์ไอเดินหน้าต่อเป็นปีที่ 2 สำหรับโครงการ Redesigning Thailand ปี 2 พลิกโฉมประเทศไทยด้วยไอเดีย เวทีลับสมองประลองไอเดียของเหล่านิสิต นักศึกษาที่สนใจอยากแชร์ไอเดียการพัฒนาประเทศ ผ่านบทบาทสมมติภายใต้โจทย์ที่ว่า ถ้าคุณคือรัฐมนตรีว่าการกระทรวง….คุณจะเปลี่ยนโฉมหน้าประเทศไทยด้วยโครงการ….” โดยมีการตัดสินและมอบรางวัลเมื่อวันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา

มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จัดกิจกรรมดังกล่าวขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการเปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษาในระดับปริญญาตรี (ปี1-ปี4) ทุกสาขา ทุกมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ที่สนใจอยากเปลี่ยนโฉมหน้าประเทศไทยให้ดีขึ้น มาร่วมแสดงความคิดเห็นและแนวทางด้านนโยบายสาธารณะผ่านการนำเสนอบทความ ที่ต้องตอบโจทย์ท้าทายความรู้ด้วยไอเดียสดใหม่ เช่น เลือกเป็นรัฐมนตรีกระทรวงใด นำเสนอโครงการอะไร ที่จะช่วยพลิกโฉมประเทศไทยให้ดีขึ้น โครงการดังกล่าวมีข้อเสนอเชิงนโยบายที่เป็นรูปธรรมและสามารถปฏิบัติได้จริงอย่างไร และสามารถพลิกโฉมหน้าของประเทศไทยไปในทิศทางใด

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า โครงการ Redesigning Thailand พลิกโฉมประเทศไทยด้วยไอเดีย จัดขึ้นเป็นปีที่ 2 โดยใช้โจทย์แตกต่างจากปีที่แล้ว เนื่องจากอยากเห็นมุมมองใหม่ๆ ของคนรุ่นใหม่กับการมีส่วนร่วม เพื่อสะท้อนความคิดเห็นสำหรับการออกแบบการปฏิรูปประเทศในสายตาของคลื่นนักศึกษารุ่นใหม่

และในปีนี้ได้รับความสนใจจากนักศึกษาหลากหลายคณะจากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ เข้าร่วมโครงการตีโจทย์ผ่านแนวคิดในแบบฉบับของตัวเอง เช่น คณะรัฐศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ เป็นต้น ซึ่งเป็นความหลากหลายในการสะท้อนแนวคิดของการปฎิรูปประเทศในแบบฉบับพลังของคนรุ่นใหม่ โดยโครงการ Redesigning Thailand ที่ทีดีอาร์ไอจัดขึ้นนั้นนอกจากจะเปิดพื้นที่ให้นักศึกษาได้เรียนรู้วิธีคิดและหลักการบนพื้นฐานความจริงแล้ว ยังมีการถ่ายทอดข้อมูลและวิธีการที่ถูกต้องของการทำวิจัยเชิงนโยบายจากนักวิจัยมืออาชีพของทีดีอาร์ไอด้วย

โดยในปีนี้ มีนักศึกษาสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการกว่า 30 ทีม และคณะกรรมการคัดเลือกเหลือ 6 ทีมสุดท้าย ซึ่งทีมที่ผ่านเข้ารอบได้แก่ ทีมที่ 1 กระทรวงสาธารณสุข สมาชิก ได้แก่ 1. น.ส.วิพัตรา โตเต็มโชคชัยการ 2. น.ส.ฝนทิพย์ วัชราภรณ์ และ 3. นายปิยะฤทธิ์ อิทธิชัยวงศ์ ทีมที่ 2 กระทรวงศึกษาธิการ สมาชิก ได้แก่ 1. นายกฤษฏิ์ พัฒนะพันเลิศ 2. นายกานต์ เหมือนพิทักษ์ และ 3. น.ส.เพ็ญกมล วงศ์รัตนภัสสร ทีมที่ 3 กระทรวงแรงงาน สมาชิก ได้แก่ 1. นายกฤตย พฤกษจำรูญ 2. นายสพล องค์พิเชฐเมธา และ 3. นายทัศนพล สงึมรัมย์ ทีมที่ 4 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สมาชิกได้แก่ 1. นายภาคภูมิ ตัณฑประภา 2. น.ส.สุพิชชา วิเศษพงษ์อารีย์ และ 3. นายดลเดช ชึตต์ ทีมที่ 5 กระทรวงกลาโหม สมาชิกได้แก่ 1. นายปรีชภักดิ์ ทีคาสุข 2. นายการัณยภาส ภู่ยงยุทธ์ และ 3. นายธีระพัฒน์ ฤกษ์เจริญ ทีมที่ 6 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สมาชิกได้แก่ 1. นายดุษฎี โพธิ์ทอง 2. น.ส.สิริมา ทองอมร และ 3. น.ส.สิริกร บุญล้ำ โดยทั้ง 6 ทีม ที่ได้รับคัดเลือกจะเข้าร่วมประลองโจทย์ด้านนโยบายสาธารณะกับผู้บริหารและนักวิจัยของทีดีอาร์ไอในรอบตัดสิน

สำหรับทีมที่สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศไปครองในปีนี้ ได้แก่ ทีมกระทรวงสาธารณสุข คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จากแนวคิดโครงการปฏิรูประบบสาธารณสุขของประเทศไทยแบบองค์รวม ภายใต้หลักคิดประชาชนทุกคนมีสิทธิ์ในการเข้าถึงระบบการบริการด้านสุขภาพ และประชาชนต้องมีสุขภาพที่ดี หลังจากพบว่าไทยยังขาดการบูรณาการระหว่างภาคส่วนในการแก้ปัญหาด้านสาธารณะสุขที่ดี การขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ในชนบท รวมถึงการลดความเหลื่อมล้ำของกองทุนด้านสุขภาพจากการตั้งระบบกลไกกลางในการเข้าถึง

โดยทีมกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า การบูรณาการด้านการแพทย์ต้องแก้ไขร่วมกันจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการรับบริการด้านสุขภาพได้ง่ายขึ้น ด้วยการพัฒนา Primary care ซึ่งเป็นสถานพยาบาลที่ต้องปรับให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่าย เช่น สถานีอนามัย โรงพยาบาลส่วนตำบล เป็นต้น นอกจากประชาชนทั่วไปเข้าถึงระบบสาธารณสุขแล้ว กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่รับผิดชอบต้องมีการปรับบทบาทหน้าที่และกลไกทุกส่วนเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดและคุ้มค่าที่สุดในระบบสาธารณสุขในประเทศไทย สำหรับรองรับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมของไทย โดยเฉพาะสังคมผู้สูงวัยที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

ทั้งนี้ ในส่วนของรางวัลรองชนะเลิศเป็นของทีม กระทรวงศึกษาธิการ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ กระทรวงแรงงาน ส่วนรางวัลชมเชยได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงกลาโหม และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตามลำดับ โดยทีมที่ชนะเลิศได้รับเงินรางวัลจำนวน 30,000 บาท ส่วนรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง เงินรางวัล 20,000 บาท และรองชนะเลิศอันดับสอง เงินรางวัล 12,000 บาท รวมทั้งประกาศนียบัตรแต่งตั้งให้เป็น TDRI Junior Policy Researcher สิทธิฝึกงานกับทีดีอาร์ไอ และได้รับพิจารณาเข้าทำงานระบบ Fast Track ที่ทีดีอาร์ไอหลังสำเร็จการศึกษา

อย่างไรก็ตาม ดร.สมเกียรติ กล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับโครงการนี้ในปีต่อๆ ไป อาจจะมีการขยายกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้คนรุ่นใหม่ที่มีความสนใจในนโยบายสาธารณะได้ลองคิดจากปัญหาจริง เพราะโจทย์เหล่านี้จะทำให้นักศึกษาได้แชร์ประสบการณ์แนวคิดและวิธีการมองโลกมองปัญหาได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นโดยผ่านกระบวนการคิดไตร่ตรองจากคำถาม ซึ่งเชื่อว่าการที่พลเมืองของประเทศสนใจนโยบายสาธารณะ และต้องการมีส่วนร่วมในการปฏิรูปประเทศนั้น จะเป็นรากฐานที่ดีในการสร้างสังคมที่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งโครงการนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างแรงบันดาลใจในส่วนของทัศนคติหรือแนวคิดของคนรุ่นใหม่ในการเปลี่ยนผ่านเพื่อนำแนวนโยบายสาธารณะเหล่านี้ไปสู่การพัฒนาประเทศในอนาคต