tdri logo
tdri logo
18 สิงหาคม 2015
Read in Minutes

Views

เมื่อสิทธิมนุษยชนโดน “SLAPP”

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)


ภาคประชาชนต่อสู้เรียกร้องสิทธิมนุษยชนเพื่อได้รับ “การปกป้อง” จากรัฐและ “ความเคารพ” จากบริษัทเอกชน ทว่าในปัจจุบันบริษัทเอกชนไม่ได้เข้าใจถึงการเคารพสิทธิมนุษยชนอย่างแท้จริงผ่านการดำเนินธุรกิจของตน อีกทั้งยังตอบโต้ภาคประชาชนด้วยวิธีการที่เรียกว่า “SLAPP”


เมื่อการฟ้องร้องในกระบวนยุติธรรมไม่ได้ถูกใช้เพื่อแสวงหาความยุติธรรม แต่ถูกใช้เป็นยุทธศาสตร์เพื่อทำให้เสียงของการเรียกร้องสิทธิและการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นจริงต่อสาธารณะอ่อนแรงและเงียบลงไป วิธีการนี้กำลังเป็นที่นิยม ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างบริษัทเอกชนกับภาคประชาชนในหลายๆ ประเทศ ไม่เว้นแม้กระทั่งในไทยและประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

จิรวัฒน์ สุริยะโชติชยางกูล นักวิจัยฝ่ายกฎหมายเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้ตีพิมพ์บทความเรื่อง Asymmetrical Legal Protection for Human Rights Abuses Associated with Corporations: the Use of Legal Threats against Human Rights Defenders and Victims ใจความสำคัญข้อหนึ่งที่บทความนี้พยายามนำเสนอก็คือ แม้ว่าบริษัทต่างๆ ได้แสดงถึงความมุ่งมั่นและระบุเป็นนโยบายว่า การปกป้องสิทธิมนุษยชนจะเป็นความรับผิดชอบของบริษัทเหล่านั้น แต่ในทางปฏิบัติบริษัทเหล่านั้นมักจะเพิกเฉย หลักฐานชิ้นสำคัญก็คือ SLAPP

SLAPP ย่อมาจาก Strategic Lawsuit against Public Participation โดย Canan และ Pring นักทฤษฎีกฎหมายชาวอเมริกันเป็นผู้คิดค้นคำนี้ขึ้น ความหมายของ SLAPP คือ การฟ้องร้องที่ปราศจากการแสวงหาความยุติธรรมอันเป็นสาระสำคัญ (substantial merit) โดยภาคเอกชนเพื่อหยุดพลเมืองไม่ให้ใช้สิทธิทางการเมืองเพื่อลงโทษพวกเขา ตัวอย่างเช่น การฟ้องหมิ่นฐานประมาท การฟ้องร้องในกระบวนยุติธรรมเหล่านั้นจึงไม่ได้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อมุ่งแสวงหาความยุติธรรม แต่เป็นการใช้กระบวนการยุติธรรมเพื่อกดดัน จำกัดการแสดงออกเพราะต้องวิ่งเต้นสู้คดี และยุติข้อเรียกร้องจากกลุ่มที่เคลื่อนไหว

ตัวอย่างในสหรัฐฯ บ่งชี้ถึงการฟ้องร้องแบบ SLAPP ที่ปราศจากการแสวงหาความยุติธรรมอันเป็นสาระสำคัญ (substantial merit) คดีความแบบ SLAPP ที่บริษัทเอกชนในฐานะโจทก์เป็นผู้ชนะคดีจึงมีสัดส่วนน้อยกว่าร้อยละ 10 ในขณะที่ประชาชนที่อยู่ในฐานะจำเลยชนะคดีกลับมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 77

คำถามก็คือ แล้วบริษัทเอกชนที่ใช้วิธีการ SLAPP ฟ้องร้องเพื่ออะไร?

หลักการทำงานของ SLAPP ก็คือ การฟ้องร้องดังกล่าวจะทำให้ขบวนการเรียกร้องสิทธิมนุษยชนต้องเสียเวลานานและค่าใช้จ่ายจำนวนมากในการต่อสู้คดีความในฐานะจำเลยในศาล ทำให้ลดทอนทรัพยากรของการขับเคลื่อนผลประโยชน์ของสาธารณะจนเสียงของการเรียกร้องอ่อนแรงลงไปเอง ยิ่งในประเทศที่ภาระการพิสูจน์ในคดีหมิ่นประมาทเป็นของจำเลย ต้นทุนที่ตกกับขบวนการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิจะยิ่งทวีคูณ

ในปี 2534 บริษัท แมคโดนัลด์ ฟ้องหมิ่นประมาทนักเคลื่อนไหวของกลุ่ม Greenpeace สองคนในประเทศอังกฤษ ซึ่งได้ตีพิมพ์แผ่นพับว่า แมคโดนัลด์ผลิตอาหารโดยใช้แรงงานไม่เหมาะสม ขายอาหารที่ทำให้สุขภาพแย่ลง สนับสนุนการทำลายป่าจากการ รวมทั้งใช้การโฆษณาเจาะจงเพื่อจูงใจเด็กๆ นักเคลื่อนไหวทั้งสองในฐานะจำเลยต้องพิสูจน์ในศาลว่า ข้อกล่าวหาของพวกเขาเป็นความจริง คดีนี้ใช้เวลา 7 ปีและกว่าคดีจะได้ข้อยุติ จำเลยต้องสูญเสียเงินไปประมาณ 481.5 ล้านบาทในการพิสูจน์ ท้ายที่สุด ศาลได้พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายให้บริษัท แมคโดนัลด์ จำนวน 2.9 ล้านบาท

คดีแมคโดนัลด์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า SLAPP มีพลังมากแค่ไหนที่จะทัดทานและป้องปรามนักเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิในเรื่องที่เป็นผลประโยชน์สาธารณะ คดีดังกล่าวเป็นเพียงหนึ่งตัวอย่างที่ฝ่ายเรียกร้องสิทธิ์จะสามารถรวบรวมทรัพยากรมาต่อสู้คดีในศาลจนถึงที่สุด ผลพลอยได้จากการต่อสู้คดีแมคโดนัลด์คือ การตอบโต้กลับจากจำเลย (backfire effect) ซึ่งใช้กระบวนการยุติธรรมดังกล่าวพิสูจน์ข้อเท็จจริงบางประการเกี่ยวกับบริษัทเอกชนที่มีผลกระทบต่อประชาชน และสามารถผลักดันเป็นประเด็นโต้เถียงในสาธารณะได้ ดังนั้น ผู้ใช้ SLAPP จึงมีความเสี่ยงเช่นกันในการใช้กระบวนการยุติกรรมเพื่อยุติการต่อต้าน

แต่การตอบโต้ SLAPP แบบคดีแมคโดนัลด์ในอังกฤษนั้นคงเกิดขึ้นเกิดได้ไม่บ่อยนัก ข้อเท็จจริงประการหนึ่งก็คือ กลุ่มเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิ์มีเงินต่อสู้คดีในศาลน้อยกว่าบริษัทเอกชนมาก คดีเอ็นจีโอชาวฟินแลนด์ที่ถูกฟ้องจากบริษัทผลไม้ของไทยในปี 2556 จะเป็นข้อพิสูจน์ในกรณีนี้เช่นกัน

SLAPP จึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐต่างๆ จะต้องแสดงเจตจำนงที่เข้มแข็งในการปกป้องสิทธิในการแสดงความคิดเห็นในเรื่องที่เป็นธุระของสังคมให้มีความเท่าเทียมกันมากยิ่งขึ้น มิเช่นนั้น SLAPP จะเป็นเพียงหลักฐานที่ฟ้องว่า รัฐนั้นๆ ใส่ใจกับสิทธิมนุษยชนพื้นฐานในการอยู่รวมกันเป็นสังคมมากน้อยเพียงใด

——————————————-

หมายเหตุ: อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ เรื่อง “Asymmetrical Legal Protections for Human Rights Abuses Associated With Corporations: The Use of Legal Threats Against Human Rights Defenders and Victims” โดย จิรวัฒน์ สุริยะโชติชยางกูล ได้ที่ https://tdri.or.th/publications/tdri-quarterly-review-june-2015/

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด