ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจของไทยมีลักษณะที่ผันผวนมาโดยตลอดมีสาเหตุหลายประการ อาทิ ปัญหาจากเศรษฐกิจในยุโรปและอเมริกาตกต่ำจากปัญหาวิกฤติ Sub-prime หรือแฮมเบอร์เกอร์ ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยเป็นอย่างมาก ปัญหาน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ซึ่งกระทบอุตสาหกรรมในภาคกลางอย่างหนัก ปัญหาทางการเมืองภายในประเทศอย่างรุนแรงในช่วงปี 2555-2557 ส่งผลกระทบรุนแรงต่อภาคเศรษฐกิจและตลาดแรงงานของไทย อย่างไรก็ตามผลกระทบดังกล่าว น่าจะทำให้ตลาดแรงงานของไทย ซึ่งมีปัญหาอุปสงค์ส่วนเกินจนอยู่ในภาวะขาดแคลนแรงงานต่อเนื่องกันมายาวนานน่าจะดีขึ้นแต่เหตุการณ์กลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น เนื่องจากภาคเศรษฐกิจของไทยใช้แรงงานเกินกว่าขีดความสามารถในการเพิ่มของกำลังแรงงานของไทย (Over-employment) ต่อเนื่องกันมานาน ดัชนีชี้วัดที่สำคัญสามารถดูได้จากจำนวนการจ้างงานที่สูงอย่างต่อเนื่องจนอัตราการว่างงานของไทยถึงจะผันผวนเป็นรายไตรมาสไปบ้างแต่ก็มีอัตราค่อนจ้างต่ำอยู่ในช่วง 0.5-2.0% ของกำลังแรงงาน
ยิ่งมาพิจารณาจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติเป็นรายเดือนตั้งแต่เดือนมกราคม-สิงหาคม 2557 พบว่าอัตราการว่างงานโดยรวมแต่ละเดือนยังสูงกว่าปี 2556 มาโดยตลอด แต่ยังไม่สูงพอที่จะทำให้การมีงานทำของประเทศไทยลดจำนวนการจ้างงานลง อาทิ ในเดือนมกราคม 2557 มีผู้มีงานทำ 37.79 ล้านคน เดือนสิงหาคมก็ยังมีผู้มีงานทำถึง 38.37 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น 0.2% ต่อเดือนจึงไม่น่าแปลกใจว่าปัญหาขาดแคลนแรงงานในเชิงปริมาณจะยังคงมีอยู่ ถึงแม้ว่าจะดีขึ้นบ้างก็ตาม ดังจะเห็นได้จากรูปข้างล่างนี้ได้แสดงให้เห็นความต้องการแรงงานในปี 2551 คือจำนวน 370,404 คนต่อปี แต่ในปี 2556 ลดลงเหลือ 306,148 คนต่อปี ขณะเดียวกันจำนวนที่ขาดแคลน (หาบรรจุไม่ได้ใน 6 เดือน) ก็ลดลงเช่นกัน จาก 233,138 คนในปี 2551 เหลือ 181,827 คนในปี 2556 ซึ่งปัญหาที่พบคือมีการผลิตบุคลากรที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการในสาขาขาดแคลนโดยดูจากจำนวนผู้ว่างงานที่มีสัดส่วนมากกว่าจำนวนที่ขาดแคลนในทุกระดับการศึกษาเช่นในปี 2556 ระดับม. ปลาย และ ปวช. ว่างงานมากกว่าจำนวนที่ขาดแคลนถึง 2 เท่า ระดับ ปวส. ว่างงานมากกว่าจำนวนที่ขาดแคลน 2.1 เท่า และระดับ ป. ตรี ว่างงานมากกว่าจำนวนที่ขาดแคลนถึง 3.5 เท่า
จากข้อมูลภาพที่ปรากฏในตารางข้างล่างนี้พบว่าในปี 2557 กรมการจัดหางานได้คาดการณ์ผู้ที่จบการศึกษาและจำนวนที่เข้าสู่ตลาดแรงงานของผู้ที่จบและเข้าสู่ตลาดแรงงานในระดับล่างเป็นสัดส่วนที่น้อยมากยกตัวอย่างเช่นมีผู้จบมัธยมต้นสูงถึง 741,931 คนและถ้าไม่เรียนต่อต้องใช้เวลาอีก 4-5 ปีจึงจะเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ซึ่งก็มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 11.8 ยิ่งเรียนถึงระดับมัธยมปลายสายสามัญแล้วก็ยิ่งจะออกสู่ตลาดแรงงานน้อยมากเพียงร้อยละ 4.2 เนื่องจากส่วนใหญ่เรียนต่อในระดับปริญญาตรี
ส่วนผู้ที่เรียนระดับ ปวช.ซึ่งมีจำนวนผู้จบการศึกษาน้อยกว่าผู้เรียนมัธยมปลายมากแต่มีผู้ที่จะออกมาทำงานไม่มากเช่นกันโดยมีผู้เข้าสู่ตลาดเพียงร้อยละ 8.9 โดยผลการศึกษาของ TDRI พบว่าผู้ที่จบ ปวช. เรียนต่อ ปวส.มากกว่าร้อยละ 70 ถึงกระนั้นก็ตามก็ยังมีจำนวนผู้จบ ปวส.เข้าสู่ตลาดแรงงานเพียงร้อยละ 13.6 เท่านั้นถ้าจะรวมผู้จบสายอาชีพทั้ง 2 ระดับเข้าด้วยกันก็ยังมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 17.8 ของผู้ที่เข้าสู่ตลาดแรงงานทั้งหมดเท่านั้นเทียบกับผู้จบระดับปริญญาตรีซึ่งมีสัดส่วนของผู้เข้าสู่ตลาดแรงงานสูงถึงร้อยละ 61.5 ของผู้ที่เข้าสู่ตลาดแรงงานทั้งหมดและเมื่อเทียบกับสัดส่วนของการจ้างแรงานในตลาดแรงงานในสดมภ์สุดท้ายจะพบว่ามีสัดส่วนตรงกันข้ามกับผู้จบการศึกษาและเข้าสู่ตลาดแรงงานโดยสิ้นเชิงจึงทำให้ประเทศไทยขาดแคลนแรงงานระดับล่างและระดับกลางอย่างหนักตลอดมาถ้าจะแก้ปัญหาปัญหาขาดแคลนแรงงานระดับล่างคงจะเป็นไปได้ยากเนื่องจากเป็นเด็กนักเรียนที่เข้าสู่ตลาดแรงงานเป็นเด็กนักเรียนที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ยังไม่สามารถนำผู้ตก (ออกจาก)ระบบการศึกษาเข้าเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับ (12 ปี) ได้ซึ่งเด็กกลุ่มนี้คงไม่ใช่เป้าหมายหลักที่สถานประกอบการต้องการเนื่องจากเป็นกำลังแรงงาน (อายุ 15 ปี) อายุน้อยและขาดทักษะสมควรที่ ศธ. จะต้องแก้ปัญหาให้เด็กเหล่านี้ได้เรียนตามกฎหมาย
ดังนั้นกลุ่มเป้าหมายที่สำคัญคือกลุ่มแรงงานระดับกลางซึ่งหมายถึงผู้จบ ม.ปลายและอาชีวศึกษาเข้าสู่ตลาดแรงงานรวมกันประมาณ 70,000 คนและจำนวนความต้องการแต่ละปีจากตารางก่อนหน้านี้จำนวนประมาณ 57,000 คนรวมกับจำนวนที่ขาดแคลนอีก 31,000 คนคิดเป็นความต้องการรวมประมาณ 88,000 คนจึงอยู่ในสภาพไม่สามารถผลิตบุคลากรระดับกลางได้เพียงพอกับความต้องการและยิ่งถ้าจะคำนึงมิติของคุณภาพของผู้จบการศึกษาทั้งสายสามัญและสายอาชีพที่มีสัดส่วนของผู้เรียนสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเทียบกับสายที่มิใช่วิทยาศาตร์เข้ามาร่วมพิจารณาด้วยแล้วปัญหาการขาดแคลนแรงงานก็ยิ่งจะรุนแรงมากขึ้นไปอีก
การที่ประเทศไทยจะหนีจากกับดักของประเทศกำลังพัฒนาอันยาวนานนี้ได้และมีขีดความสามารถในการแข่งขันกับนานาอารยประเทศในโลกได้ ประเทศไทยไม่มีทางเลือกมากนัก นอกจากจะต้องสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตัวสินค้าและบริการให้มากขึ้นด้วยการวิจัยและพัฒนาการออกแบบที่เป็นนวัตกรรมของคนไทยมากขึ้น จำเป็นต้องมีความคิดสร้างสรรค์สินค้าและบริการที่เป็นของคนไทยให้มากขึ้น ซึ่งแน่นอนประเทศไทยต้องเพิ่มผลิตภาพหรือคุณค่าในตัวสินค้าที่เป็นของคนไทยให้มากขึ้น การจะทำเช่นนี้ได้ประเทศไทยจะต้องลดสัดส่วนของการใช้ผู้จบการศึกษาในระดับ ม. ต้น (หรือต่ำกว่า) ซึ่งเป็นแรงงานระดับล่างให้น้อยลงและพยายามปรับปรุงอุปสงค์ต่อผู้ที่มีการศึกษาในระดับกลางคือ ม. ปลาย รวมถึง ปวช. ให้มากขึ้น เนื่องจากมีข้อสมมติฐานในหมู่นักเศรษฐศาสตร์ว่า การศึกษาในระดับนี้ฝึกอบรมเพิ่มทักษะได้ง่ายสามารถปรับตัวกับกระบวนการผลิตได้ดีกว่า
เท่าที่ผ่านมาผู้ประกอบการมีความต้องการที่จะจ้างผู้ที่จบสายอาชีพมากขึ้นโดยเฉพาะระดับ ปวช. แต่ผู้ปกครองกลับต้องการให้บุตรหลานได้เรียนในสายสามัญมากกว่าสายอาชีพ (เพื่อหวังให้ลูกได้จบปริญญาตรี) ซึ่งจากตารางข้างต้นสัดส่วนของผู้เรียนสายสามัญต่อสายอาชีพเท่ากับ 66:34 ซึ่งมีสัดส่วนอยู่ในระดับนี้มานานนับสิบปีซึ่งก็ยืนยันด้วยผลการศึกษาของสำนักเลขาธิการสภาการศึกษาซึ่งก็พบว่าสัดส่วนนี้ไม่ดีขึ้นมีแต่จะเลวลงเช่นในปีการศึกษา 2557 ต่อ 2558 นี้มีสัดส่วนแย่ลงเหลือประมาณ 71:29 ซึ่งถ้ายังปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรมแบบนี้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานผู้จบสายอาชีพในระดับอาชีวศึกษาก็จะถึงขั้นวิกฤติ
นักวิชาการบางคนอาจจะโต้แย้งว่ายังมีผู้จบ ปวส.ให้ใช้ได้เกือบ 75,000 คนต่อปีและยังมีภูมืหลังของการศึกษาระดับนี้ยังว่างงานในระดับการศึกษานี้อีกมากกว่า 33,000 คนรวมๆแล้วก็มากกว่า 100,000 คนซึ่งก็เป็นความจริงอยู่ระดับหนึ่งซึ่งผู้ประกอบการที่มีขีดความสารถในการแบกรับต้นทุนค่าแรงที่สูงกว่าในการจ้างแรงงานระดับนี้ที่จริงก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆแต่ในทำนองเดียวกันก็ยังมีสถานประกอบการ SMEs อีกเป็นจำนวนมากที่มีความสามารถในการจ่ายค่าจ้างแรงงานได้เพียงระดับ ปวช. เท่านั้นประเด็นที่เป็นปัญหามาโดยตลอดอีกมิติหนึ่งคือมิติคุณภาพและการเรียนในสาขาวิชาชีพที่ไม่ตรงกับความต้องการของตลาดซึ่งทำให้ผู้ที่จบสายอาชีพยังคงว่างงานอยู่อีกเป็นจำนวนมากเนื่องจากขาดสมรรถนะที่ผู้ประกอบการต้องการ (ทำให้กำลังแรงงานสายวิชาชีพช่างซึ่งมีน้อยอยู่แล้วก็ยื่งจะน้อยลงไปอีก)
จากการศึกษาของ ดร.สมชาย จันทร์ชาวนา และคณะ ให้กับสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาเมื่อปี 2555 พบสาเหตุหลายประการที่นักเรียนจะเลือกเรียนสายสามัญหรือสายอาชีพดังตารางข้างล่างนี้
จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จะเห็นว่าสำหรับผู้เรียนในสายสามัญทำให้เกิดความภาคภูมิใจในตัวเอง ทำให้ญาติพี่น้องสบายใจ แสดงให้เห็นว่าเด็กนักเรียนเหล่านี้ต้องการแสดงออกว่า เขาเป็นคนเก่งและยังทำให้พ่อแม่ ญาติพี่น้องพึงพอใจที่บุตร/หลานได้ใบปริญญาและยังสามารถเรียนต่อระดับสูงได้ด้วย สอดคล้องกับผู้ที่ไม่เลือกเรียนสายอาชีพ เพราะเห็นว่าโอกาสก้าวหน้าจำกัด หางานทำยาก สังคมและครอบครัวไม่ภูมิใจและมีโอกาสเสี่ยงอันตราย (ถึงชีวิต) ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้เรียนและผู้ปกครองมีสิทธิที่จะคิดเช่นนั้น ถ้าเขามีทรัพยากรและการสนับสนุนเพียงพอ แต่ถ้ามีผู้ถามในมุมกลับว่าท่านจะทำอย่างไรที่ปัจจุบันถ้ายังมีผู้จบระดับปริญญาตรีในหลากหลายสาขายังว่างงานถึง 1 แสนคน หนึ่งในนั้นอาจจะเป็นบุตรหลานของท่าน ซึ่งเหตุผลนี้อาจจะไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะสามารถเปลี่ยนใจผู้ปกครองให้สนับสนุนนักเรียนที่จบมัธยมต้นให้กลับมาเรียนต่อในสายอาชีพได้ ซึ่งเหตุผลนี้อาจจะไม่เหมือนกัน สำหรับผู้ปกครองที่มีฐานะไม่ค่อยดีรวมทั้งเด็กที่มีผลการเรียนไม่ค่อยดี การที่จะดันทุรังเรียนให้เรียนในสายสามัญมุ่งสู่มหาวิทยาลัยอาจจะเป็นหนทางที่ยาวไกลที่พ่อแม่ต้องรับผิดชอบจึงตัดสินใจให้บุตรหลานเรียนสายอาชีพก็อาจจะเป็นได้เช่นกัน
สำหรับเหตุผลสำคัญที่ผู้เลือกเรียนสายอาชีพมีความแตกต่างจากผู้เรียนสายสามัญมากพอควร อาทิ ชอบเรียนภาคปฏิบัติมากกว่าทฤษฎี (ผู้เรียนไม่ชอบท่องตำรา) เรียนได้ง่าย เรียนไปทำงาน (ปฏิบัติ) ไป มีตลาดแรงงานรองรับแน่นอน เป็นต้น ดังนั้น การที่จะชักจูงให้มีผู้สนใจเข้ามาเรียนสายอาชีพมากขึ้นๆ น่าจะทำได้ใน 2 มาตรการดังนี้
มาตรการจูงใจ มีแนวทางดังนี้
1. ต้องปรับทัศนคติของพ่อแม่ที่ต้องการใบปริญญา เพื่อโอ้อวดกับเพื่อนๆ และนักเรียนเองที่เห็นว่าเรียนสายสามัญมีศักดิ์ศรีกว่าเรียนสายอาชีพ ถ้าผู้ปกครองมีเงินมากๆ ก็ไม่เป็นไร แต่ผู้ปกครองส่วนใหญ่น่าจะมีทางเลือกที่ไม่ต้องใช้เงินมาก เนื่องจากบุตรหลานสามารถเรียนและทำงานหารายได้สลับกันไปได้จนจบปริญญาตรีในเวลาที่เหมาะสมไม่ต้องเป็นหนี้เป็นสินกู้เงินจากรัฐเพื่อให้ลูกเรียน ซึ่งจะมีหนี้สินติดตัวไปตลอด การใช้การแนะแนวเชิงรุกเสริมด้วย Social Media เป็นเรื่องที่จำเป็น ซึ่งน่าจะช่วยในการทำความเข้าใจกับพ่อแม่ผู้ปกครองได้อีกทางหนึ่ง นอกเหนือจากทุกฝ่ายต้องช่วยกันพูดโดยเฉพาะครู/อาจารย์
2. ต้องสร้างสถานศึกษาพิเศษ สำหรับเด็กพิเศษที่ต้องการเรียนใน Smart TVET School เพื่อเป็นการสร้าง“เด็กอาชีวะรุ่นใหม่” โดยการคัดเลือกสถานศึกษาต้นแบบในทุกจังหวัดใหญ่หรือภูมิภาคของประเทศเพื่อให้เป็นสถานศึกษาที่มีครูดี สถานที่ฝึก (เครื่องมืออุปกรณ์พร้อม) สำหรับเด็กเก่งเข้ามาเรียนอาชีวศึกษาโดยเฉพาะในสายช่าง (อุตสาหกรรม) ได้รับทุนการศึกษา วางหลักสูตรร่วมกับสถานประกอบกิจการหรือผู้ใช้นักศึกษาที่จบ เพื่อการันตีผู้จบเหล่านี้ว่ามีงานทำและมีรายได้ดี
3. สำหรับผู้เรียนอาชีวศึกษาในสายช่างอื่นๆ อาจจะเน้นต่างจากนักศึกษากลุ่มที่กล่าวมาคือ เน้นในทางปฏิบัติร่วมกับผู้ใช้หรือสถานประกอบกิจการให้มากที่สุด อาจจะปรับลดหลักสูตรให้เหลือระยะเวลาเรียนภาควิชาการและฝึกงานจริง (ระบบทวิภาคี) อย่างละเท่าๆ กัน โดยสถานศึกษาพิจารณาจัดหลักสูตรให้ชัดเจนว่า จะให้เด็กที่จบไปทำงานกับใครที่ไหน (ดูตลาดเป็นหลัก)
4. กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ร่วมกับ สำนักงานคระกรรมการอาชวศึกษา (สอศ.) และสมาคมวิชาชีพ สภาวิชาชีพต้องร่วมกันกำหนดอัตราค่าจ้างที่เหมาะสม (สูงกว่าผู้จบสายสามัญ) และจะต้องไม่แตกต่างจากผู้จบระดับปริญญาตรีสายอาชีพมากนัก อาทิ ผู้จบ ปวช. ได้เงินเดือน 1 หมื่นบาทขึ้นไป จบ ปวส. 1.2-1.3 หมื่นบาทขึ้นไป เป็นต้น และสำหรับเด็กจบ Smart ปวช. อาจจะให้เงินเดือนที่สูงกว่าเช่นเริ่มต้น 1.2 หมื่นบาท เป็นต้น
5. ให้ความสนใจกับอาชีวศึกษาเอกชนมากกว่า 400 แห่ง ปัจจุบันคุณภาพของสถานศึกษาและทางการเรียนการสอนไม่ดีนักรับนักเรียนโดยไม่มีการคัดกรองเท่าที่ควรอีกทั้งยังได้รับการดูแลจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน (สช.) ไม่ค่อยทั่วถึงไม่ค่อยได้รับการเอาใจใส่จนอาจจะต้องพิจารณาลดภาระ สช. เนื่องจากดูแลสถานศึกษาเอกชนระดับการศึกษาพื้นฐานมากอยู่แล้ว ควรย้ายอาชีวศึกษาเอกชนไปอยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ. ) น่าจะเหมาะสมกว่า เพื่อให้อาชีวศึกษาเอกชนสามารถผลิตบุคลากรตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานได้ดีและมีประสิทธิภาพมากขึ้นภายใต้รั้วเดียวกันกับ สอศ.
มาตรการเชิงบังคับ ผู้เขียนเห็นว่าควรจะนำมาใช้ได้แล้ว
1. เพื่อให้เป้าหมายในการเพิ่มสัดส่วนของผู้เรียนต่อจากม. 3 เป็นสายสามัญต่อสายอาชีพปัจจุบันจาก 67:33 ให้เป็น 50:50 ในอีก 5-10 ปีข้างหน้า ควรจะต้องดำเนินการตามแนวทางของสภาการศึกษาฯ ดังนี้
– จะต้องจัดตั้งผู้เข้ามารับผิดชอบหาวิธีการในการคัดกรองนักเรียนในระดับ ม. 3 ที่จะจบว่าสมควรจะเรียนต่อสายสามัญ หรือเรียนต่อสายอาชีพ โดยใช้มาตรการทางด้านงบประมาณ (Unit Cost) มาใช้ให้แตกต่างกันอย่างชัดเจน อาทิ ให้การสนับสนุนรายหัวผู้เรียนสายอาชีพมากกว่าสายสามัญร้อยละ 30-50 เป็นต้น
– จำกัดจำนวนนักเรียนสายสามัญต่อชั้นเรียน โดยมีข้อตกลงว่าจะมีนักเรียนไม่เกิน 30 คนต่อห้อง และถ้าเรียนเกินกว่าจำนวนที่กำหนดจะไม่ได้รับเงินอุดหนุนรายหัว
– โดยภาพรวมของประเทศจะร่วมกำหนดเป้าหมายว่าแต่ละปีจะลดผู้เรียนสายสามัญได้ปีละเท่าไร และในการบังคับใช้ข้อตกลงคือ เมื่อครบจำนวนโควต้าแล้วจะไม่ได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายรายหัวหรือผู้เรียนไม่ได้รับเงินกู้เรียนเพื่อให้ได้เป้าหมาย 50:50 ให้เร็วที่สุด
2. นอกจากนั้นควรเน้นผู้เรียนสายมัธยมศึกษาฐานวิทยาศาสตร์ให้มากขึ้นเพื่อให้มีวัตถุดิบหรือจำนวนผู้จบ ม. 3 ที่จะเข้าเรียนสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากขึ้น โดยอาจจะใช้มาตรการอุดหนุนหรือการกู้ยืมเงินเป็นเครื่องมือในการสนับสนุนผู้เรียนสายวิทยาศาสตร์มากขึ้น ขณะเดียวกัน เมื่อเข้าสู่มัธยมศึกษาสายอาชีพฐานวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีควรจะได้รับการอุดหนุนรายหัวที่สูงกว่าการเรียนสายอื่นๆ ถ้าทำได้จริงจะเป็นแนวทางในการสนับสนุนให้มีผู้จบมัธยมศึกษาสายอาชีพโดยเฉพาะมัธยมสายอาชีพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เพียงพอและมีคุณภาพสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานในระยะเวลาไม่เกิน 10 ปี
ถ้าทุกฝ่ายมีความจริงใจและจริงจังในที่สุดอาชีวศึกษาก็จะกลับมาสร้างชาติได้อย่างเต็มภาคภูมิ