Trading Nation กับทางออกอุตสาหกรรมไทย: กรณีศึกษาอุตสาหกรรมกุ้งแปรรูปและยานยนต์และชิ้นส่วน

ปี2015-08-08

เสนอทิศทางการปรับตัวของอุตสาหกรรมไทยในสภาวะสูญเสียความสามารถทางการแข่งขัน
โดยใช้ยุทธศาสตร์การเป็น
Trading Nation
ด้วยการวางตำแหน่งอุตสาหกรรมในส่วนที่มีมูลค่าเพิ่มสูงและการบริหารจัดการห่วงโซ่มูลค่า

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

ในงานสัมมนาหัวข้อ “Trading Nation กับทางออกอุตสาหกรรมไทย: กรณีศึกษาอุตสาหกรรมกุ้งแปรรูปและยานยนต์และชิ้นส่วน” ที่จัดโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2558 ที่ผ่านมา นายสมเกียรติ    ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เผยว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมไทยต้องเผชิญกับปัญหาทางการค้าการลงทุน ทั้งเรื่องค่าแรง การขาดแคลนแรงงานรวมไปถึงการดึงดูดการลงทุนที่ลดลง ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านสามารถดึงดูการลงทุนจากต่างประเทศได้มากขึ้นเรื่อย ๆ อุตสาหกรรมไทยจึงควรปรับตัวเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์ปัจจุบันโดยการใช้ยุทธศาสตร์ Trading Nation ภายใต้นิยามการเป็น Industrial Nation with Trading Capability โดยมีองค์ประกอบหลักสามประการคือ หนึ่ง ภาคการผลิตและธุรกิจจำนวนมากอยู่ในตำแหน่ง (position) ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง (high-value added) ในห่วงโซ่คุณค่า (value chain) สอง ภาคการผลิตและธุรกิจมีความสามารถในการบริหารห่วงโซ่คุณค่าที่เหลือ (value-chain management) และสาม ภาครัฐสามารถขจัดอุปสรรคทางการค้าและการลงทุน ลดความเสี่ยงจากกฎระเบียบและ trade-related issues ของประเทศคู่ค้า ตลอดจนสร้างโอกาสใหม่ ๆ

ทางด้านนายเชษฐา อินทรวิทักษ์ นักวิชาการจากทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า จากกรณีศึกษาอุตสาหกรรมกุ้งแปรรูปซึ่งปัจจุบันเผชิญกับสภาวะขาดแคลนวัตถุดิบกุ้งเป็นอย่างมาก ได้เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการบริหารห่วงโซ่คุณค่า อาทิ การนำเข้าวัตถุดิบกุ้งหรือขยายฐานการผลิตไปต่างประเทศที่ยังมีทรัพยากรกุ้งอุดมสมบูรณ์เพื่อนำมาแปรรูปในไทย ในกรณีนี้ผู้ประกอบการต้องมีความสามารถในการบริหารจัดการเรื่องคุณภาพวัตถุดิบกุ้งที่นำเข้าจากต่างประเทศ นอกจากนี้ยังควรให้ความสำคัญกับกิจกรรม High Value Added เช่น การทำงานวิจัยและพัฒนาเรื่องสายพันธุ์กุ้ง เทคนิควิธีการเลี้ยงกุ้งที่ปลอดโรคแต่ต้นทุนต่ำ การพัฒนาผลิตภัณฑ์กุ้งเพิ่มมูลค่า เป็นต้น อีกทั้งภาครัฐควรทำความเข้าใจกับประชาคมโลกในประเด็นเกี่ยวกับแรงงาน การค้ามนุษย์และการแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ จากการเจรจา FTA เพื่อทดแทนสิทธิ GSP ที่หมดไป

ดร.เชษฐา อินทรวิทักษ์ นักวิชาการ ทีดีอาร์ไอ
ดร.เชษฐา อินทรวิทักษ์ นักวิชาการ ทีดีอาร์ไอ

ในส่วนกรณีศึกษาอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน นายสุนทร ตันมันทอง นักวิจัยจากทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า สถานการณ์ของอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนไทยมีทิศทางการเปลี่ยนแปลงหลักๆ ใน 3 ด้าน ได้แก่ การเกิดศูนย์กลางการผลิตรถยนต์แหล่งใหม่ที่อินโดนีเซีย เครือข่ายการผลิตยานยนต์ของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านในรูปแบบ Thailand-plus-one และการเข้ามาลงทุนด้านชิ้นส่วนยานยนต์โดย SMEs สัญชาติญี่ปุ่น สำหรับการปรับใช้ยุทธศาสตร์ Trading Nation เพื่อตอบรับกับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนของไทยควรให้ความสำคัญกับงานด้านออกแบบและพัฒนาซึ่งเป็นส่วนที่สร้างมูลค่าเพิ่มได้สูง การปรับใช้เทคโนโลยีและการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อเพิ่มผลิตภาพ นอกจากนี้ต้องพัฒนาความสามารถในการบริหารจัดการเครือข่ายในภูมิภาคเพื่อให้สอดคล้องกับ Thailand-plus-one Model ในส่วนของภาครัฐควรช่วยเหลือผู้ประกอบการในด้านการลดอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (Non-Tariff Measures) ให้หมดไป

นายเชษฐากล่าวสรุปทางออกของอุตสาหกรรมไทยไว้ว่า ไทยจำเป็นต้องปรับใช้ยุทธศาสตร์ Trading Nation โดยยังคงมีภาคการผลิตเป็นรากฐานที่สำคัญ และวางตำแหน่งของอุตสาหกรรมไว้ในส่วนที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ขณะเดียวกันต้องมีความสามารถในการบริหารจัดการห่วงโซ่มูลค่าในส่วนอื่น ๆ ด้วย