tdri logo
tdri logo
8 กันยายน 2015
Read in Minutes

Views

ดร.อัมมาร ตีโจทย์แพ็กเกจ ศก. เงินกู้หมู่บ้าน-เอสเอ็มอี 2.3 แสนล้าน

รัฐบาลประยุทธ์ 3 บูตเศรษฐกิจไทยที่อ่อนเปลี้ยด้วยการประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยเม็ดเงินกว่า 136,000 ล้านบาท เตรียมชงแนวทางช่วยเอสเอ็มอีอีก 102,500 ล้านบาท รวม 238,500 ล้านบาท ท่ามกลางความหวังเม็ดเงินก้อนนี้จะหนุนเศรษฐกิจให้คึกคัก “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “ศ.ดร.อัมมาร สยามวาลา” นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เพื่อกะเทาะโจทย์เศรษฐกิจและผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น

9-8-2015 4-16-24 PM
(ที่มารูปภาพ: ประชาชาติธุรกิจ)
  • จะเรียกแพ็กเกจที่รัฐบาลใช้เงิน 1.36 แสนล้านบาท ลงไปสู่ระดับฐานรากนี้ว่าอย่างไร

คุณจะยุให้ผมใช้คำว่า “ประชานิยม” แต่ที่ผมเช็กคือคำว่า “ประชานิยม” คือ การสร้างภาระที่เกิดขึ้นต่อรัฐและต่อสาธารณะ จนปรากฏประโยชน์แก่ประชาชนทั้งระดับฐานรากรวมถึงคนชั้นกลาง ซึ่งสิ่งนี้บางทีก็ใช้ในนามคำว่า “กระตุ้นเศรษฐกิจ” อย่างที่เกิดขึ้นกับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2558 ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดี 10 ปีที่ผ่านมาก็มีการกระตุ้นเศรษฐกิจมาตลอด ตัวอย่างโครงการจำนำข้าวทุกเมล็ดในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถ้าจะบอกว่าโครงการนี้สนับสนุนฐานราก ชาวนาได้ประโยชน์ 300,000 ล้านบาท แต่รัฐบาลขาดทุนถึง 600,000 ล้านบาท ผมเรียกว่า อันนี้เป็นประชานิยมที่เลว เพราะไม่เพียงทำรัฐขาดทุนสูงมาก แต่ยังทำลายกระบวนการทุกอย่างในการขายข้าวของประเทศไทย แต่ก็มีประชานิยมที่ผมสนับสนุนมากและสนับสนุนจนถึงทุกวันนี้ ทั้งที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เลิกสนับสนุนไปแล้ว คือ โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค เพราะโครงการนี้ได้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างระบบสาธารณสุขทั้งประเทศ แล้วเกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างเป็นรูปธรรมจับต้องได้

  • การเติมเงินหมู่บ้านอีก 60,000 ล้านบาท เท่ากับต่อยอดประชานิยม

อย่าไปสนใจชื่อ แต่ให้ดูโจทย์ของรัฐบาลว่าคืออะไร ตอนนี้สิ่งที่ผมยอมรับโดยสมบูรณ์คือ เศรษฐกิจเวลานี้กำลังดิ่งลงแรง ต่างประเทศก็ดิ่งลง ครัวเรือนไทยมีหนี้สินเยอะมาก และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจไทยตกต่ำ ทำให้การกระตุ้นให้เกิดอำนาจซื้อภายในประเทศเป็นไปด้วยความยากลำบาก กระนั้น คุณสมคิดก็ยังบากหน้าที่จะกระจายอำนาจซื้อไปให้ครัวเรือน ด้วยมาตรการ 136,000 ล้านบาท ซึ่งดูน้อยกว่าที่ผมคิดเยอะ ในก้อนนี้มีเพียง 60,000 ล้านบาทเท่านั้น ที่จะไปผ่านกองทุน หมู่บ้าน ซึ่งผมคิดว่า ไม่ควรทำ เพราะผมไม่เห็นด้วยกับการสร้างหนี้ให้กับประชาชน แล้วรัฐบาลจะแน่ใจได้อย่างไรว่า เขาจะไปลงทุนผลิตของเพิ่ม เมื่อครัวเรือนมีหนี้สินเยอะแยะ เขาก็น่าจะเอาเงินก้อนนี้ไปแก้ปัญหาหนี้เก่าก่อน แม้รัฐบาลจะกำหนดว่า ไม่สามารถนำเงินนี้ไปรีไฟแนนซ์ได้ แต่ถ้าชาวบ้านมีหนี้ท่วมหัว เขามีทุกข์ สิ่งแรกที่เขาควรทำคือ เอาเงินกู้ที่ไม่มีดอกเบี้ยไปใช้คืนหนี้ที่มีดอกเบี้ย จะไม่ดีกว่าหรือ ดังนั้น ผมจึงมองว่าการให้เงินหมู่บ้านก้อนนี้ จึงเป็นตัวอุ้มเศรษฐกิจได้อย่างจำกัด

  • ต้องมีมาตรการอื่นให้เงินหมุนเวียนเพิ่ม

รัฐบาลต้องทำอะไรอีกหลายอย่างเพื่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อให้เกิด Multiplier Effect (ผลทวีคูณต่อระบบเศรษฐกิจ) ที่คุณสมคิดต้องบากหน้าทำเช่นนี้ เพราะโจทย์ของเขาชัดเจนคือต้องการให้เกิดการหมุนเวียนเงินในระบบ ให้เกิดการใช้จ่ายเงินให้มากขึ้น โดยเฉพาะจากฐานราก เขามีความเห็นและมุมมองที่ชัดเจน ทั้งที่เขารู้ดีว่า ครัวเรือนไทยปัจจุบันมีหนี้เยอะ ปัญหาหนี้สินของชาวบ้านเกิดจากการแจกสินเชื่อโดยรัฐบาลทั้งสิ้น และหลายรัฐบาลก็ทำเป็นอย่างเดียวคือ เขียนเช็ค หรือให้แบงก์รัฐเขียนเช็คจ่ายเงิน เพราะมันง่าย ทุกวันนี้จึงมีคนอยากเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี แต่มีปัญหาเรื่องเทคโนโลยี เรื่องทรัพยากรบุคคล ซึ่งการปรับปรุงพัฒนาเรื่องเหล่านี้ทำยากกว่าการแจกสินเชื่อ

  • มาตรการช่วยเอสเอ็มอีก็ไม่ต่างจากยุคก่อน

ใช่ เพราะรัฐบาลคิดว่ามีโซลูชั่นเดียวคือแจกเงินแจกสินเชื่อ เขียนเช็ค ทั้งที่ทุกคนรู้ว่า เอสเอ็มอีเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีความเสี่ยง ดังนั้น ถ้าคุณต้องการให้คนหลุดจากกงกรรมกงเกวียนของความยากจน การให้กู้เงินไปทำธุรกิจใหม่ เป็นสิ่งที่ ไม่ควรทำอย่างยิ่ง แล้วการให้เงินต้องให้อย่างมีความรู้ อย่างละเอียด ไม่เช่นนั้น คุณจะสร้างกรรมให้ชาวบ้านให้เขามีหนี้สินพอกพูน หรือทำให้ธุรกิจเขาล้มละลายได้

  • ประเมินมาตรการใส่เงินในกองทุนหมู่บ้านจะล้มเหลวหรือไม่

แต่สิ่งที่ทีมเศรษฐกิจชุดนี้ทำในแพ็กเกจ 136,000 ล้านบาท ที่นอกเหนือการให้กองทุนหมู่บ้านกู้ ผมคิดว่าเข้าท่า เพราะเป็นการผลักเงินออกไป ซึ่งถ้าเขาทำเพราะอยากได้คะแนนนิยม ก็ช่างเขา ในอีก 2 มาตรการในเงินก้อนนี้ ให้ตำบลละ 5,000,000 บาท เพื่อไปทำโครงการสาธารณประโยชน์ เช่น สร้างถนน ขุดดิน ถมดินใหม่ ตามกฎเคนส์เซียน (ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ที่เกี่ยวกับการกระตุ้นเศรษฐกิจ) มันก็เวิร์ก ถ้าค่าจ้างตกไปถึงมือชาวบ้าน มันก็เป็นรายได้ ไม่ใช่สินเชื่อ ไม่ได้สร้างหนี้ อันนี้ควรทำ
การลงทุนโครงการย่อย ๆ วงเงิน 40,000 ล้านบาท ซึ่งสร้างแล้วก็จะเป็นทรัพย์สินของรัฐ ผมว่า อันนี้น่าจะสร้าง Multiplier Effect ได้ที่สุด เพราะเงินที่ใช้ไปมันจะไม่ติดลบแต่จะสร้างงาน สร้างรายได้ให้ประชาชน เพราะรัฐบาลจำเป็นต้องสร้างหนี้ภาครัฐ เพื่อถมเศรษฐกิจที่ตกต่ำ เขาจึงมีความชอบธรรมก่อหนี้ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจอย่างนี้

  • มาตรการต่อไปรัฐบาลเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน คาดหวังผลอย่างไร

อันนี้จะทำให้เกิดผลทวีคูณทางเศรษฐกิจได้มาก เพราะวงเงินใหญ่ แต่ปัญหาตอนนี้คือการใช้งบฯลงทุนอืดมาก ๆ เป็นปัญหามาก ทั้งที่รัฐบาลชุดนี้น่าจะทำส่วนนี้ได้เร็วขึ้น และมากขึ้น แม้ว่าจะต้องใช้เวลาในการวิเคราะห์ต้นทุน-ผลประโยชน์ของโครงการ หรือศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการค่อนข้างยาวนาน แต่รัฐบาลนี้น่าจะอดทนรอได้ เมื่อเทียบกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ที่จะไม่อดทนรอ หรือถ้ารอได้ ทำออกมาแล้วก็อาจไม่เชื่อด้วย เช่น กรณีคลองด่าน เป็นต้น

  • รัฐบาลควรเตรียมเมนูลงทุนอย่างไร

ควรมีการเตรียมรายการโครงการลงทุนก่อสร้างในระยะยาวไว้ เพราะประเทศไทยมีเงินลงทุนอยู่แล้ว และควรเตรียมไว้เยอะ ๆ เพราะในเวลาที่เกิดปัญหาเศรษฐกิจไม่ดี รัฐบาลก็สามารถหยิบเมนูโครงการลงทุนเหล่านี้ออกมาลุยได้ทันที แล้วเลือกสปีดได้ว่าจะเร็ว ช้า ยืด หด การก่อสร้างระบบรางน่าจะก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจในประเทศอยู่มาก แต่ต้องดูด้วยว่ามีส่วนนำเข้า (Import Content) มากน้อยแค่ไหน

แล้วสิ่งที่ต้องทำควบคู่กันคือ ภายใน 3 เดือนนี้ รัฐบาลควรมีแผนระยะยาวที่จะลงมือปฏิบัติ ในส่วนที่เป็นการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจที่แท้จริง เช่น เรื่องนโยบายการส่งเสริมการลงทุน ผ่านบีโอไอ นโยบายค่าจ้างแรงงาน ต่อไปนี้รัฐบาลควรระบุว่า จะมีการขึ้นค่าจ้างแรงงานปีละกี่เปอร์เซ็นต์ ต่อเนื่องทุกปี เพื่อให้เอกชนได้มองแผนระยะยาวมากขึ้น

————–
หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน ประชาชาติธุรกิจ ประจำวันจันทร์ที่ 7-9 กันยายน 2558 ในชื่อ ‘อัมมาร’ ตีโจทย์แพ็กเกจ ศก. เงินกู้หมู่บ้าน-เอสเอ็มอี 2.3 แสนล้าน

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด