การเคหะแห่งชาติร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) จัดสัมมนาเผยแพร่ “โครงการศึกษาวิจัยบทบาทของ การเคหะแห่งชาติในการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้ยากจนในชนบท” เพื่อนำผลการศึกษามาวิเคราะห์และวางแผนกระบวนการพัฒนาที่อยู่อาศัย สำหรับผู้ยากจนในชนบทได้อย่างเหมาะสม โดยมี นายกฤษดา รักษากุล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ เป็นประธานเปิดงาน ณ โรงแรม เดอะ แกรนด์ โฟร์วิงส์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ เมื่อเร็วๆ นี้
นายกฤษดา รักษากุล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ เปิดเผยว่า การเคหะแห่งชาติเป็นองค์หลักในการแก้ปัญหาและพัฒนาที่อยู่อาศัย สำหรับผู้มีรายได้น้อยถึงรายได้ปานกลาง ซึ่งการพัฒนาที่อยู่อาศัย สำหรับผู้ยากจนในชนบทถือเป็นส่วนหนึ่ง ในภารกิจขององค์กร เนื่องจากความต้องการ ที่อยู่อาศัยได้กระจายไปทั่วทุกพื้นที่ของ ประเทศไทยไม่ได้จำกัดแค่ในเขตชุมชนเมือง เท่านั้น เพียงแต่ว่าบทบาทของการเคหะแห่งชาติ ในด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยในชนบท ยังมีไม่มากนัก จึงได้มอบหมายให้ TDRI ดำเนินโครงการศึกษาวิจัยบทบาทของการเคหะแห่งชาติในการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้ยากจนในชนบท เพื่อศึกษาสภาพปัญหาและปริมาณความต้องการของผู้ยากจนใน พื้นที่ชนบทที่ยังขาดแคลนที่อยู่อาศัยและที่ทำกินในการดำรงชีวิต ทั้ง 4 ภูมิภาค พร้อมทั้งจัดทำโครงการนำร่องจำนวน 1 โครงการ ตลอดจน สร้างกระบวนการการมีส่วนร่วมของหน่วยงานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อบูรณาการความร่วมมือในการพัฒนาให้เป็นรูปธรรมและ เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อชุมชนอย่างยั่งยืน
สำหรับผลการศึกษาวิจัย ดร.นณริฏ พิศลยบุตร หัวหน้าโครงการ วิจัยฯ TDRI เปิดเผยว่า ได้ทำการวิเคราะห์จัดกลุ่มประเด็นปัญหา ความยากจน แบ่งออกเป็นกลุ่มย่อย 3 กลุ่ม พร้อมนำเสนอแนวทางแก้ไข และระบุหน่วยงานที่น่าจะเข้ามาดูแล ประกอบด้วย กลุ่มที่มีปัญหา ที่อยู่อาศัยร่วมกับปัญหาที่ดินทำกิน กลุ่มที่มีปัญหาที่อยู่อาศัยร่วมกับปัญหา ความยากจน และกลุ่มที่มีปัญหาที่อยู่อาศัย เพียงอย่างเดียว โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อ เกษตรกรรม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารออมสิน สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) เป็นต้น ส่วนบทบาทของการเคหะแห่งชาติที่จะสามารถเข้ามาดูแล ในแง่ที่ยังไม่มีองค์กรใด มีบทบาทชัดเจน มี 2 บทบาท คือ บทบาทหน่วยงานหลัก ได้แก่ กำหนด “แบบ” บ้านมาตรฐานที่เหมาะสมกับผู้ยากจนในชนบท ให้คำปรึกษาในเชิงวิชาการด้านการพัฒนาเมือง และจัดหาที่อยู่อาศัย ให้ผู้มีรายได้น้อยในพื้นที่พิเศษที่ยังไม่มีหน่วยงานใดให้การช่วยเหลือ รวมทั้งเป็นศูนย์กลางในการติดต่อกับภาคธุรกิจ เพื่อขอรับบริจาคและจัดหาวัสดุก่อสร้างที่เหมาะสม และบทบาทหน่วยงานสนับสนุน ได้แก่ ให้คำปรึกษา ทางด้านเทคนิคเกี่ยวกับการออกแบบบ้านที่ถูกสุขลักษณะ เหมาะต่อ การอยู่ร่วมกันในชุมชน ตลอดจนเป็นผู้ประสานงานกับหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยอย่างบูรณาการ
กรณีจัดทำโครงการนำร่องการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้ยากจน ในชนบท ได้คัดเลือกพื้นที่หมู่ที่ 3 บ้านปฏิรูปที่ดิน ตำบลไทยสามัคคี อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีปัญหา ความซับซ้อนระดับกลางมีปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัย ปัญหาพื้นที่ทำกิน ทับซ้อนกับแนวเขตอุทยานต้องอพยพออกจากพื้นที่ และประชาชน ในพื้นที่มีความยากจน โดยชุมชนดังกล่าวเป็นชุมชนที่พร้อมแก้ไขปัญหา แต่ขาดองค์ความรู้ในเรื่องของการออกแบบบ้านที่เหมาะสม ซึ่งน่าจะเป็น บทบาทที่การเคหะแห่งชาติสามารถเข้ามาเติมเต็มช่วยเหลือแก้ปัญหา ดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ
——-
หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 14 กันยายน 2558 ในชื่อ กคช. มอบให้ TDRI ศึกษาวิจัยบทบาทขององค์กร ในการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้ยากจนในชนบท