สราวุธ ไพฑูรย์พงษ์
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)
ท่านผู้อ่านส่วนใหญ่ รวมทั้งผู้เขียนคงเห็นด้วยกับมาตรการระยะสั้นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศที่รัฐจะนำออกมาใช้ โดยพุ่งเป้าไปที่เศรษฐกิจภายในประเทศและผู้มีรายได้น้อย ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในเศรษฐกิจนอกระบบและภาคเกษตร (ทั่นไม่ให้ใช้คำว่าเศรษฐกิจรากหญ้า)
วันนี้ผู้เขียนขออนุญาตให้ข้อมูลเพิ่มเติมของภาคเกษตรในส่วนซึ่งอาจจะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ยังไม่ได้ให้ความสำคัญเท่าที่ควร
แรงงานเกษตรกำลังแก่ลงเรื่อยๆ และจะแก่ลงอีกมาก เรื่องนี้อาจไม่ใช่เรื่องใหม่ อาจเป็นแค่ความรู้สึก แต่ยังไม่ได้เข้าไปศึกษาดูกันอย่างจริงจังว่าแรงงานเกษตรแก่ลงจริงหรือเปล่า แก่ลงแค่ไหน และถ้ารู้ว่าแก่ลงจริง แล้วควรปฏิบัติหรือมีนโยบายให้บังเกิดผลดีต่อภาคเกษตรกรรมและประเทศอย่างไร
เรารู้กันมานานแล้วเช่นกันว่าเกษตรกรรมเป็นหัวใจหรือกระดูกสันหลังของชาติ เรารู้ด้วยว่าในขณะที่ประเทศพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ภาคเกษตรค่อยๆ อ่อนแอลง โดยเฉพาะในด้านแรงงาน แรงงานภาคเกษตรเคลื่อนย้ายไปทำงานในเมืองด้วยเหตุผลต่างๆ ที่สำคัญคือการหางานทำที่มีรายได้ดีกว่าเดิม และที่คงไม่มีใครลืมคือ ลูกหลานรุ่นหลังๆ ของคนภาคเกษตรเข้าไปรับการศึกษาระดับสูงในเมือง มีการศึกษาดีขึ้น และเมื่อจบการศึกษาส่วนใหญ่ก็ไม่ได้กลับไปทำงานในบ้านเกิดของตน เนื่องจากความจำเป็นต้องหางานที่เหมาะสมกับระดับการศึกษาที่สำเร็จมาในระดับที่สูงกว่าความต้องการของพื้นที่ กอปรกับรสนิยมที่เปลี่ยนไปตามสังคมในเมืองโดยไม่รู้ตัว
คนพวกนี้เป็นคนรุ่นหนุ่มสาวที่จำนวนมากไม่สามารถทำงานต่อไปในภาคเกษตรได้ เมื่อต้องออกไปทำงานที่อื่นในเมือง ส่วนที่เหลือจะเป็นคนมีอายุพ้นวัยหนุ่มสาวไปแล้ว
เรื่องนี้ ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ เพื่อนที่ทีดีอาร์ไอเคยเผยว่าสถานการณ์แรงงานภาคเกษตรของไทยอยู่ในขั้นวิกฤต ส่วนใหญ่อายุมากและมีจำนวนลดลงร้อยละ 1 ต่อปี และจะพึ่งพาแรงงานต่างด้าวทดแทนได้น้อยลง โดยเฉพาะภายหลังจาก เปิดเออีซีแล้ว แต่ ดร.ยงยุทธ บอกแต่เพียงว่าแรงงานเกษตรร้อยละ 43 อายุมากกว่า 50 ปี ผู้เขียนเห็นว่าประเด็นแรงงานเกษตรอายุมากขึ้นหรือแก่ลงเป็นประเด็นสำคัญต่อการกำหนดนโยบายของประเทศ จึงขอให้รายละเอียดเพิ่มเติมให้เห็นแนวโน้มที่ชัดเจนขึ้น
ในปี 2540 เรามีแรงงานภาคเกษตร 16.5 ล้านคน และ 10 ปีต่อมาลดลงเหลือ 15.5 ล้านคน และลดลงเหลือ 13.5 ล้านคน ในปีที่แล้ว ในขณะที่แรงงานเกษตรลดลง สิ่งที่ซ้ำเติมคือโครงสร้างอายุของแรงงานภาคเกษตรเปลี่ยนแปลงไป คือมีแรงงานใน วัยสูงอายุมากขึ้น จากปี 2540 ที่มีแรงงานเกษตรกลุ่มอายุ 60 ขึ้นไปเพียงร้อยละ 8 ก็เพิ่มเป็น ร้อยละ 11 ในปี 2550 เป็นร้อยละ 13 ในปี 2554 และ เพิ่มอย่างรวดเร็วเป็นร้อยละ 18 ในปี 2557 ทำนองเดียวกัน แรงงานเกษตรในกลุ่มอายุ 50-59 ก็เพิ่มสัดส่วนขึ้น จากร้อยละ 14 ในปี 2540 เพิ่มเป็นร้อยละ 20 ในปี 2550 เป็นร้อยละ 21 ในปี 2554 และร้อยละ 25 หรือ 1 ใน 4 ของแรงงานเกษตร ในปี 2557 แรงงานกลุ่มนี้ต่อไปก็แก่ลงเป็นกลุ่มอายุ 60+
สำหรับท่านผู้อ่านที่อ่านกราฟเป็นหรือถนัดดูกราฟ จะเห็นว่าในช่วงอายุ 15-29 เส้นกราฟของปี 2557 ลดลงจากเส้นกราฟปี 2540 อย่างเห็นได้ชัด ในขณะที่เส้นกราฟของกลุ่ม อายุตั้งแต่ 40 ขึ้นไป รวมทั้งกลุ่ม 50+ และ 60+ เส้นกราฟของปี 2557 เคลื่อนขึ้นอยู่สูงกว่าเส้นกราฟของปี 2540 ชัดเจนเช่นกัน
ประเทศไทยเข้าสู่ภาวะสังคมผู้สูงวัยด้วยสาเหตุทางประชากรคือ อัตราการเกิดลดลง และประชาชนอายุยืนขึ้น จึงทำให้มีผู้สูงอายุเป็นสัดส่วนมากขึ้น แต่สำหรับแรงงานภาคเกษตรแก่ลงเร็วกว่าเพราะโดน 2 เด้ง คือ นอกจากแก่ตามสาเหตุประชากรเพราะเกิดน้อยลงและคนอายุยืนขึ้น ยังบวกกับการย้ายถิ่นจากชนบทเข้าสู่เมือง รวมทั้งการขยายตัวของเมือง ประชาชนและแรงงานเกษตรจึงแก่ตัวเร็วกว่าประชากรในเมืองและระดับประเทศ
แล้วไง… การสูงวัยหรือการแก่ตัวของแรงงานเกษตรมีผลกระทบเชิงนโยบายประสิทธิภาพการผลิตของแรงงาน การพึ่งพาแรงงานต่างด้าวและเครื่องจักรหรือเทคโนโลยี และการคุ้มครองทางสังคมสวัสดิการ รวมทั้งปัญหาการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุในภาคเกษตร
ผู้เขียนอยากเน้นในประเด็นหลังสุดว่า เนื่องจากแรงงานเกษตรส่วนใหญ่เป็นการทำงานส่วนตัวหรือช่วยครอบครัว จึงไม่ได้รับการคุ้มครองจากกองทุนประกันสังคม (แม้แรงงานนอกระบบจะมีประกันสังคมมาตรา 40 ก็ตาม แต่ก็ยัง เป็นส่วนน้อย) ในขณะที่มีแรงงานเกษตรที่เป็นลูกจ้างหรือการจ้างงานอย่างเป็นทางการ เพียงร้อยละ 9-14 ของแรงงานเกษตร ซึ่งในจำนวนนี้ประมาณร้อยละ 20 ไม่ได้เป็นลูกจ้างตลอดปี แรงงานเกษตรเกือบทั้งหมดจึงยังไม่ได้รับความคุ้มครองเต็มที่จากประกันสังคมและกองทุนทดแทน ทำให้ขาดโอกาสในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่เหมาะสมเมื่อยามเจ็บไข้ได้ป่วย
ดังนั้น มาตรการของรัฐที่กำลังออกมาจะช่วยแรงงานเกษตรได้ แม้จะเป็นมาตรการระยะสั้นเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและยังไม่มีผลในระยะยาว
อย่างไรก็ตาม ในรัฐบาลก่อนๆ บางรัฐบาล การให้เงินหรือความช่วยเหลือแก่ชาวบ้านที่อยู่ห่างไกลมีลักษณะเสมือนไอติมแท่งที่ถูกแทะไปตลอดทาง กว่าจะถึงมือชาวบ้านก็เหลือแต่ไม้ที่อาจมีเศษไอติมเหลืออยู่นิดหน่อย
ผู้เขียนมั่นใจว่ารัฐบาลนี้ไม่ชั่วร้ายอย่างนั้น
———————
ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 3 กันยายน 2558 ใน “คอลัมน์: ดุลยภาพดุลยพินิจ: แรงงานภาคเกษตรแก่ลง ”