อย่าเพิ่งลืมเรื่องน้ำ: แม้ไม่วิกฤติก็ต้องบริหารจัดการรับภัยท่วม-แล้งรุนแรงกว่าอดีต

ปี2015-09-10

อติญา อารยพงศ์
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

งานวิจัยทั้งในไทยและต่างประเทศ บ่งชี้ว่า การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศกำลังเป็นปัญหาใหญ่ของโลก และนัยยะของภาวะโลกร้อนต่อประเทศไทย จะทำให้เราเจอภัยแล้งและภัยน้ำท่วมถี่ขึ้น และรุนแรงมากขึ้นกว่าในอดีต เช่นเดียวกับ ข้อมูล ของ ศ.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล ที่เคยระบุว่า ภาวะลานีญาที่เกิดขึ้นในต้นปี 2553 น่าจะเป็นสัญญาณบ่งชี้ล่วงหน้าว่า จะมีภาวะฝนตกชุกในปี 2554 ซึ่งเป็นปีที่เราเผชิญกับมหาอุทกภัย

ข้อบ่งชี้ด้านภูมิอากาศ เป็นสัญญาณเตือนให้ต้องมีการเตรียมรับมือกับสถานการณ์ในอนาคต ที่นอกจากจะให้ความสำคัญเรื่อง “ฮาร์ดแวร์” หรือการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานแล้ว รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับ “ซอฟต์แวร์” โดยเฉพาะระบบบริหารจัดการน้ำของประเทศ ทั้งในภาวะปกติและยามวิกฤติ เพราะอย่างน้อยประเทศไทยก็มีบทเรียนและต้นทุนที่จ่ายไปแล้วในอดีต

จากเหตุการณ์มหาอุทกภัยในปี 2554 เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจประมาณ 1.54 ล้านบาท หลังไทยเจอพายุ 5 ลูก ติดต่อกัน แต่มหาอุทกภัยไม่ได้เกิดขึ้นเพราะ ปัจจัยทางธรรมชาติ หรือเพราะเราขาดโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการลำเลียงมวลน้ำมหาศาลลงสู่ทะเลเท่านั้น แต่ความล้มเหลวใน “การบริหารจัดการน้ำ” ของรัฐบาลยังมีส่วนสำคัญในเหตุการณ์นี้ด้วย
ท่านผู้อ่านน่าจะยังจำภาพเหตุการณ์ที่ประตูบางโฉมศรี จ.สิงห์บุรี พังลงมา หรือที่มีนักการเมืองบางคนใช้อิทธิพลปิดประตูน้ำไม่ให้น้ำไหลผ่านพื้นที่ของตน จนส่งผลต่อระดับความเสียหายในภาพรวม ปัจจัยสำคัญที่นำมาสู่สถานการณ์ดังกล่าว เกิดจากรัฐบาลเลือกใช้เครื่องมือการจัดการน้ำที่ผิดพลาด

เริ่มต้นจากการใช้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ในการแก้ไขสถานการณ์ ซึ่งมีส่วนทำให้การทำงานเป็นแบบ “ตัวใครตัวมัน” แทนการใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ที่กำหนดให้แก้ปัญหาแบบบูรณาการ โดยมีศูนย์กลางบัญชาการและประสานงานที่ชัดเจน การรับมือน้ำท่วมในขณะนั้นจึงซ้ำซ้อน และขาดข้อมูลสารสนเทศที่น่าเชื่อถือและทันการณ์

ปี 2558 ประเทศไทยเผชิญปัญหาน้ำ อีกครั้ง แต่ครั้งนี้เป็น น้ำแล้ง คำถามคือ เราจะบริหารจัดการน้ำอย่างไร ที่ไม่ใช่เพียงแค่ตอบสนองให้สถานการณ์ผ่านไปเท่านั้น แต่บริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพ เป็นธรรม และยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม น้ำท่วมและแล้งมีสภาพปัญหาที่แตกต่างกัน การแก้ปัญหาน้ำท่วมนั้น จำเป็นต้องใช้การจัดการแบบรวมศูนย์เพื่อให้การดำเนินงานมีเอกภาพ เช่น การตั้งคณะกรรมการที่ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญหลากสาขา ร่วมทำแผนปฏิบัติยามฉุกเฉินและรวบรวมข้อมูลเพื่อใช้ในการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรี นอกจากนี้ คณะกรรมการต้องมีหน้าที่ควบคุมการปฏิบัติงานในยามฉุกเฉิน โดยอำนาจการตัดสินใจยังคงเป็นของนายกรัฐมนตรี หัวใจสำคัญคือ ต้องปราศจากการแทรกแซงของฝ่ายการเมือง นอกจากนี้ ในการบริหารจัดการน้ำต้องดำเนินมาตรการเชิงรุกและมองสถานการณ์มากกว่า “ปีชนปี”

หลักการ “การมีที่อยู่ ที่ไปให้น้ำ” (Room for Water) ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นวิธีแก้ปัญหาที่ตรงจุด และเข้าใจง่าย โดยเตรียมที่รองรับน้ำและ เส้นทางระบายน้ำลงสู่ทะเล เช่น ที่ราบ ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เนื่องจากน้ำจะเดินทางผ่านที่ราบลุ่มอย่างช้าๆ ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังบนเส้นทางที่น้ำผ่านเป็นระยะเวลาสั้นๆ ข้อดีคือ จะมีเวลามากพอสำหรับเตรียมการรับมือน้ำท่วมได้ล่วงหน้า

คำถามคือ แล้วพื้นที่ใดจะรับหน้าที่ กักเก็บน้ำแทนพื้นที่อื่นๆ?

หลายฝ่ายมองว่า พื้นที่เกษตรมีความเหมาะสมที่จะรับน้ำ เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำไหลเข้าท่วมเขตเมือง เพราะเชื่อว่า น้ำท่วมพื้นที่เกษตรมีความเสียหายต่ำ และมีผลกระทบ ในวงแคบกว่าน้ำท่วมเขตเมือง แต่ข้อเสนอนี้ยังเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่เป็นธรรม
ทางออกหนึ่งคือ การนำแนวคิดผู้ได้รับประโยชน์เป็นผู้จ่าย (Benef iciary-pay Principle) มาใช้เป็นกลไกในการเก็บภาษีจากประชาชนในกรุงเทพฯ และในเขตเมือง เพื่อนำเงินมาชดเชยความเสียหายให้กับเกษตรกร ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่กักเก็บน้ำ แนวทางดังกล่าวยังช่วยลดความขัดแย้ง และนำไปสู่สถานการณ์สมประโยชน์ทุกฝ่าย (Win-Win Situation)

สำหรับ “ภัยน้ำแล้ง” โจทย์ใหญ่คือ การขาดความตระหนักในความคุ้มค่าของการใช้น้ำสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้ศึกษาโดยการวัดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจของน้ำชลประทานที่ใช้ในการปลูกข้าวและอ้อย พบว่าเกษตรกรในบริเวณพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนบน ที่ได้รับน้ำจากทั้งแม่น้ำท่าจีนและเขื่อนวชิราลงกรณ์ มีแนวโน้มใช้น้ำคุ้มค่าน้อยกว่า เมื่อเทียบกับฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ที่สามารถใช้น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเท่านั้น ซึ่งมีแนวโน้มใช้น้ำอย่างระมัดระวังและคุ้มค่ามากกว่า

ดังนั้น การรับมือกับปัญหาน้ำแล้ง จึงต้องกระจายอำนาจจัดการน้ำไปสู่ชุมชน เพราะชุมชนทราบความต้องการใช้น้ำที่แท้จริง โดยภาครัฐมีบทบาทในการดูแลกติกา เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและต่อเนื่องเพื่อป้องกันสถานการณ์ “มือใครยาว สาวได้สาวเอา” ปัจจุบันคณะกรรมการลุ่มน้ำในประเทศไทยมีทั้งหมด 25 ชุด ประกอบด้วยผู้แทนจากหลายภาคส่วน ตั้งแต่ส่วนกลางจนถึงชุมชน

สิ่งที่ยังขาดอยู่ในการบริหารจัดการน้ำแล้งคือ ข้อมูลและกำลังคน เช่น การพัฒนาข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับการจัดสรรน้ำการเชื่อมโยงข่าวสาร รวมถึงการพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้คณะกรรมการดังกล่าว ยังไม่สามารถจัดการน้ำอย่างเต็มประสิทธิภาพ

ประเทศไทยยังเหลือโจทย์ในการพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำอีกหลายข้อ แต่จุดเริ่มต้นที่ดีคือ การเรียนรู้บทเรียนจากอดีตอย่างลึกซึ้ง และอย่าให้ความตั้งใจในการแก้ปัญหาเรื่องน้ำเกิดขึ้นเฉพาะในยามวิกฤติ

———–

ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 10 กันยายน 2558 ใน ‘อย่าเพิ่งลืมเรื่องน้ำ : แม้ไม่วิกฤติก็ต้องบริหารจัดการ