ความท้าทายต่อการเปลี่ยนแปลงของกระบวนการยุติธรรมไทยในทศวรรษหน้า

ปี2015-09-11

ในงานสัมมนาหัวข้อ “แนวทางการพัฒนาและการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของกระบวนการยุติธรรมไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า” ที่จัดโดยสำนักงานกิจการยุติธรรม ร่วมกับ มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ในวันที่ 8 กันยายน 2558 นั้น รศ.ดร. จักรกฤษณ์ ควรพจน์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านกฎหมายเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย และหัวหน้าโครงการวิจัย เผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นพลวัตทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง การพัฒนาทางด้านการศึกษา ความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยี การแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจการค้า การลงทุน อีกทั้งประชาชนมีสิทธิและเสรีภาพมากขึ้น เหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีผลกระทบต่อกระบวนการยุติธรรมทั้งสิ้น จึงมีความจำเป็นที่กระบวนการยุติธรรมไทยจะต้องทบทวนบทบาทและพัฒนาการดำเนินงาน เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องพร้อมรับมือกับความท้าทายต่างๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอีกด้วย

รศ.ดร. จักรกฤษณ์ กล่าวต่อว่า โครงการวิจัยนี้เป็นการศึกษากระบวนการยุติธรรมไทยกับสังคมซึ่งมี 3 พลวัตที่เปลี่ยนแปลงไป ได้แก่ พลวัตทางกฎหมายและการเมือง พลวัตทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม และพลวัตทางเทคโนโลยี โดยพลวัตแรกนั้นมุ่งเน้นไปที่ความรู้ความเข้าใจในหลัก “นิติธรรม” (Rule of Law) และเรียกร้องให้มีการขยายบริบทของการใช้หลักนิติรัฐไปยังภาคส่วนต่างๆ นับตั้งแต่ระดับท้องถิ่น ระดับรัฐ และระดับระหว่างประเทศ รวมถึงจะต้องใช้กับภาคเอกชนด้วย หลักนิติธรรมมีขอบเขตที่กว้างกว่าการเป็นหลักกฎหมายหรือหลักการทางการเมืองการปกครอง หากแต่เป็นหลักการที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับความสงบสุขของสังคมและมีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

JusticeTrends (2)
รศ.ดร. จักรกฤษณ์ ควรพจน์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านกฎหมายเศรษฐกิจ ทีดีอาร์ไอ

ในพลวัตทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมนั้น การก่ออาชญากรรมมีความสัมพันธ์กับระบบเศรษฐกิจ ยิ่งเมื่อเราเข้าสู่ประชาคมอาเซียนและมีระบบเศรษฐกิจแบบเสรีมากยิ่งขึ้นเท่าไร ความเสี่ยงที่จะเกิดอาชญากรรมก็เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (economic crimes) เช่น การฟอกเงิน การหลีกหนีภาษีเงินได้ การค้ามนุษย์ ผลกระทบของการแข่งขันทางการค้า และการกระทำความผิดจะมีลักษณะเป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติมากขึ้น ขณะที่ด้านสังคมนั้น ในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปในลักษณะที่มีความหลากหลายทางสังคมมากขึ้น อีกทั้งยังมีเทคโนโลยีสื่อสารเจริญรุดหน้า สื่อออนไลน์ อินเทอร์เน็ต สิ่งต่างๆ เหล่านี้ทำให้สังคมและวัฒนธรรมในการพบปะผู้คนเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้ไม่มีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ขาดความอบอุ่นในครอบครัว จนกลายเป็นสังคมก้มหน้า ปัจเจกบุคคลจะขาดทักษะในการสื่อสารกับผู้คน
ในพลวัตสุดท้ายทางด้านเทคโนโลยี รศ.ดร. จักรกฤษณ์ ชี้แจงว่า เทคโนโลยีสารสนเทศและเทคโนโลยีชีวภาพจะเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากยิ่งขึ้น มีความท้าทายในมิติทางกฎหมายและอาชญากรรม เช่น อาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ สิทธิทางสุขภาพและความเป็นมนุษย์ ทรัพย์สินทางปัญญา จริยธรรมในการประกอบวิชาชีพทางด้านเทคโนโลยี หรือการอบรมสร้างเสริมศักยภาพของบุคคลากรที่เกี่ยวข้องให้เท่าทันกับสังคมที่มีความซับซ้อนจากการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น เป็นต้น
รศ.ดร. จักรกฤษณ์ กล่าวสรุปว่า ในอนาคตสังคมจะมีความสลับซับซ้อนและเกี่ยวข้องในหลายๆ มิติ ในการต่อสู้กับประเด็นและภัยคุกคามใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการก่อการร้าย ปัญหาสาธารณสุข ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาความยากจน ฯลฯ หลักนิติธรรมไม่อาจถูกจำกัดอยู่ในความหมายดั้งเดิม เฉพาะในบริบทที่มุ่งควบคุมการใช้อำนาจรัฐ และรับประกันกระบวนการยุติธรรมที่เปิดเผยโปร่งใสและเป็นธรรมเท่านั้น บทบาทและขอบเขตของหลักนิติธรรมจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดยหลักนิติธรรมควรจะมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาใหม่ๆ ดังกล่าวด้วย

สังคมไทยจะต้องผันตัวเองไปเป็นสังคมนิติรัฐที่ตั้งอยู่บนหลักนิติธรรม แต่การสร้างหลักนิติธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม หาได้เป็นสิ่งที่อาจกระทำได้โดยง่ายไม่ จำเป็นต้องอาศัยอำนาจทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม เพื่อสร้างสรรค์ผลักดันหลักนิติธรรมให้เกิดขึ้น ในหลายประเทศ การสร้างสังคมนิติรัฐได้กระทำโดยอาศัยการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เฉียบขาด ผ่านสงครามกลางเมือง แต่การใช้ความรุนแรงก็หาใช่วิถีทางที่ถูกต้องไม่ การสร้างระบบนิติรัฐและหลักนิติธรรม ควรกระทำโดยผ่านวิถีทางแห่งสันติภาพ เช่น ด้วยการโต้เถียงบนหลักการของเหตุและผล หรือด้วยกระบวนการเลือกตั้ง นอกจากการปกครองระบอบประชาธิปไตยจะช่วยก่อให้เกิดนิติรัฐแล้ว ระบบการยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพก็จะมีส่วนเกื้อหนุนก่อให้เกิดนิติรัฐและหลักนิติธรรมขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน