สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)
ที่ผ่านมา สภาพภูมิอากาศรุนแรง (Extreme Weather Events) ในรูปของภาวะน้ำท่วมและภัยแล้ง เกิดบ่อยครั้งขึ้นและในหลายๆ ครั้ง ได้นำความเสียหายอย่างมากมาสู่ภาคเกษตรไทย ในขณะที่ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่า เหตุการณ์ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงจะทวีความรุนแรงมากขึ้นในช่วง 30 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะภัยพิบัติน้ำท่วมและปัญหาภัยแล้งขาดแคลนน้ำ ด้วยเหตุนี้ ทีดีอาร์ไอจึงทำการศึกษาเพื่อชี้ให้เห็นว่าสภาพภูมิอากาศรุนแรงได้สร้างผลกระทบต่อการผลิตภาคเกษตรไทยในช่วงที่ผ่าน และจะน่าเป็นห่วงยิ่งขึ้นหากเกษตรกรโดยรวมยังคงใช้น้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดไม่มีประสิทธิภาพและไม่ได้เตรียมการรับมือกับความเสี่ยงหรือสถานการณ์ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
ดร.ชัยสิทธิ์ อนุชิตวรวงศ์ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ฝ่ายการวิจัยแผนงานเศรษฐกิจรายสาขา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและสภาพอากาศรุนแรงเป็นเรื่องใกล้ตัวที่มีการพูดถึงกันมากในระยะหลังทั้งภาวะน้ำแล้งหรือน้ำท่วม ฉะนั้นเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับผลกระทบของปัจจัยทางด้านสภาพภูมิอากาศรุนแรงต่อการผลิตภาคเกษตร ทีดีอาร์ไอจึงทำการวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์ด้วยการใช้แบบจำลองทางเศรษฐมิติเพื่อศึกษาว่า สภาพภูมิอากาศรุนแรงมีผลกระทบต่อการผลิตภาคเกษตรในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาในช่วงฤดูแล้งมากน้อยเพียงใด โดยวิเคราะห์ทั้งผลกระทบที่เกิดกับปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิต์ซึ่งเป็นแหล่งน้ำต้นทุนสำคัญสำหรับการเพาะปลูกในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาในช่วงฤดูแล้ง และ ผลกระทบของสภาพภูมิอากาศรุนแรงต่อการตัดสินใจจัดสรรพื้นที่ทำการเกษตรและปริมาณผลผลิตทางการเกษตร
ผลการวิเคราะห์แบบจำลองโดยรวมชี้ให้เห็นว่า สภาพภูมิอากาศแล้งรุนแรงและปริมาณน้ำฝนมีอิทธิพลอย่างมากต่อปริมาณน้ำที่ไหลเข้าเขื่อนทั้งสองแห่งและต่อการผลิตภาคเกษตรในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยพบว่า หากในช่วงฤดูฝนเกิดภาวะน้ำแล้งรุนแรงและมีปริมาณฝนตกน้อยในพื้นที่เหนือเขื่อน จะทำให้มีน้ำไหลเข้าเขื่อนลดลงซึ่งส่งผลทำให้ปริมาณน้ำต้นทุนในช่วงต้นฤดูแล้งลดลงตามไปด้วย นอกจากปัจจัยด้านสภาพภูมิอากาศแล้ว การขยายตัวของเมืองหรือชุมชนเหนือเขื่อน รวมถึงการเพิ่มสัดส่วนพื้นที่เพาะปลูกพืชที่ต้องการใช้น้ำมาก เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยอธิบายการลดลงของปริมาณน้ำที่ไหลเข้าเขื่อน ซึ่งมีผลต่อปริมาณน้ำต้นทุนสำหรับการเพาะปลูกในช่วงต้นฤดูแล้ง
นอกจากนั้น การศึกษานี้ยังได้วิเคราะห์ปัจจัยที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ปลูกพืชหลัก เช่น ข้าว อ้อย และต่อผลผลิตต่อไร่ของพืชเหล่านี้ด้วย โดยรวมพบว่า ทั้งปัจจัยทางด้านราคาผลผลิตและปัจจัยด้านสภาพภูมิอากาศล้วนมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจในการจัดสรรพื้นที่เพาะปลูกพืชต่างๆ และต่อปริมาณผลผลิตของพืช สำหรับปัจจัยทางด้านสภาพภูมิอากาศนั้น นอกจากจะมีผลต่อปริมาณน้ำต้นทุนสำหรับการเพาะปลูกในช่วงฤดูแล้งตามที่อธิบายข้างต้น ภาวะน้ำแล้งรุนแรงในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาในรอบปีที่ผ่านมานับเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เกษตรกรในบางพื้นที่ตัดสินใจลดพื้นที่เพาะปลูกพืชที่ต้องการใช้น้ำมาก นอกจากนั้น การดำเนินนโยบายของรัฐบาลก็มีผลกระทบต่อภาคเกษตรมากเช่นกัน เช่น การแทรกแซงตลาดสินค้าข้าวกระตุ้นให้เกษตรกรโดยรวมหันมาขยายพื้นที่เพาะปลูกข้าว การสนับสนุนเงินงบประมาณเพื่อการวิจัยและพัฒนาข้าวช่วยเพิ่มผลผลิตต่อไร่ของข้าว เป็นต้น
ผลการศึกษายังพบอีกว่า ประสิทธิภาพการใช้น้ำชลประทานในลุ่มน้ำเจ้าพระยามีความแตกต่างกันในเชิงพื้นที่และในแต่ละประเภทพืชที่ปลูก โดยพบว่ามูลค่าทางเศรษฐกิจของน้ำชลประทานในการปลูกข้าวและอ้อยในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาโดยเฉลี่ยสูงกว่าการเพาะปลูกในฝั่งตะวันตก ในขณะที่การปลูกอ้อยให้มูลค่าทางเศรษฐกิจของน้ำชลประทานโดยเฉลี่ยสูงกว่าข้าว
อย่างไรก็ดีในช่วงที่ผ่านมาเกษตรกรส่วนใหญ่ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยายังคงปลูกข้าวเป็นหลักทั้งๆ ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจของน้ำชลประทานโดยเฉลี่ยต่ำกว่าการปลูกพืชอื่น กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ มีการใช้น้ำสิ้นเปลืองมากในกิจกรรมที่ให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจต่ำ ด้วยเหตุที่ปัญหาการขาดแคลนน้ำมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นในอนาคต ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งและการแย่งชิงทรัพยากรน้ำระหว่างภาคส่วนต่างๆ
โดยรวมแล้ว เนื่องจากสภาพภูมิอากาศรุนแรงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลกระทบโดยตรงและโดยอ้อมต่อการผลิตภาคเกษตรโดยรวม เกษตรกรจึงควรให้ความสำคัญมากขึ้นกับประสิทธิภาพการใช้น้ำในการเพาะปลูกหรือการใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำเกษตรโดยเฉพาะการพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำไว้ใช้ในแปลงเกษตร และการวางแผนการเพาะปลูก เช่น การเลือกชนิดพืชและพันธุ์พืชที่จะปลูกให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และภูมิอากาศ เป็นต้น เกษตรกรควรให้ความสำคัญกับการวางแผนการเกษตร การปรับตัวและการบริหารความเสี่ยงด้านต่างๆ เพื่อรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นในอนาคต
อย่างไรก็ดี ภาครัฐควรมีบทบาทสำคัญในการให้ความรู้ที่ถูกต้องและให้คำแนะนำแก่เกษตรกรอย่างทั่วถึง โดยชี้ให้เห็นถึงปัญหาภัยแล้ง ความสำคัญของการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพและการพัฒนาแหล่งน้ำในแปลงเกษตรเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง รวมถึงเสนอทางเลือกและแนวทางในการทำการเกษตรเพื่อรับมือกับความท้าทายใหม่ สำหรับการจัดการกับปัญหาการขาดแคลนน้ำและการใช้น้ำไม่มีประสิทธิภาพในระดับท้องถิ่นนั้น มีความจำเป็นต้องปรับระบบการบริหารจัดการน้ำโดยสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มผู้ใช้น้ำและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของเกษตรกรผู้ใช้น้ำเพื่อให้เกษตรกรมีความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกัน ร่วมกันดูแลรักษาและใช้ประโยชน์ ซึ่งจะช่วยจูงใจให้เกษตกรผู้ใช้น้ำใช้น้ำประหยัดมากขึ้น
นอกจากนั้น ภาครัฐควรสนับสนุนงบประมาณเพิ่มขึ้นในการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ นวัตกรรมและเทคโนโลยี ในการทำเกษตรเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความท้าทายใหม่ๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาภาคเกษตรไทยในระยะยาว รวมถึงควรมีระบบข้อมูลและการถ่ายทอดความรู้และการพัฒนาทักษะให้กับเกษตรกรกลุ่มเป้าหมาย เพื่อทำให้เกษตรกรมีความเข้าใจและสามารถนำเอาไปปรับใช้ในแปลงเกษตรของตนให้เกิดเป็นรูปธรรม ในขณะเดียวกันรัฐบาลต้องไม่ดำเนินนโยบายที่ทำให้พฤติกรรมของเกษตรกรเบี่ยงเบนไป.