4 ปีหลัง ‘มหาอุทกภัย’ สำรวจ ‘ภาคอุตสาหกรรม’

ปี2015-10-09

พุทธศักราช 2554..ช่วงเวลาแห่ง “ฝันร้าย” ของคนไทยแทบทั้งประเทศ เมื่อมวลน้ำมหาศาลไหลบ่าเข้าท่วมพื้นที่ภาคกลาง ซึ่งถือเป็น “ศูนย์กลางเศรษฐกิจ” มีประชากรและกิจกรรมต่างๆ หนาแน่น นิคมอุตสาหกรรมและชุมชนหมู่บ้านหลายแห่งจมอยู่ใต้น้ำนานนับเดือน เหตุน้ำท่วมในครั้งนั้นมีผู้สังเวยชีวิตไป 813 ศพ โดยธนาคารโลก (World Bank) ประเมินความเสียหายไว้ทั้งสิ้น 1.44 ล้านล้านบาท

ถือเป็น “มหาวิบัติภัย” ครั้งร้ายแรงที่สุดของประวัติศาสตร์ไทยในยุคสมัยใหม่ก็ว่าได้

พุทธศักราช 2558.. 4 ปีหลังน้ำท่วมใหญ่ สิ่งที่ได้เห็น คือบรรดาโรงงานต่างๆ พยายามหาทาง “ป้องกันพื้นที่”ของตนเองอย่างสุดกำลัง โดยเฉพาะนิคมอุตสาหกรรมที่ผ่านประสบการณ์เลวร้ายดังกล่าวมาแล้ว ซึ่ง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ทำการสำรวจนิคมฯ 7 แห่ง ในชื่อโครงการ “การจัดการความเสี่ยงน้ำท่วมเขตนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง” ว่าแต่ละแห่งวันนี้เป็นอย่างไรกันบ้าง

DSC01798
ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง TDRI

ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง TDRI  ในฐานะหัวหน้าคณะผู้ทำวิจัยโครงการนี้ เปิดเผยผลการศึกษา ว่าสิ่งที่พบคือ 1.โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมไม่ได้รับการแจ้งเตือนภัยที่ดีพอ โดย “สหรัตนนคร” กับ “บางกะดี” เป็น 2 นิคมอุตสาหกรรม ที่มีเสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการว่า ไม่ได้รับการเตือนภัยถึง 100 เปอร์เซ็นต์

ขณะที่ “นวนคร” ผู้ประกอบการกว่าร้อยละ 80 ตอบว่า ไม่ได้รับการเตือนภัย ด้าน “แฟคตอรีแลนด์” ผู้ประกอบการตอบว่าไม่ได้รับการเตือนภัยกว่าร้อยละ 70 ส่วน “โรจนะ”ตอบว่าไม่ได้รับการเตือนภัยอยู่ที่มากกว่าร้อยละ 60 และ “ไฮเทค” กับ “บางปะอิน” ผู้ประกอบการราวร้อยละ 55 ของทั้ง 2 นิคม ตอบว่าไม่ได้รับการเตือนภัย

“การเตือนภัยที่ชัดเจนไม่ใช่แค่การเปิดทีวีดูแล้วรู้ว่าน้ำมาถึงที่นั่นที่นี่ มวลน้ำเท่านั้นเท่านี้ แต่โรงงานไม่รู้ว่าน้ำจะท่วมหรือไม่หรือท่วมวันไหน นี่คือการเตือนภัยที่ชัดเจนและมีประโยชน์ ทุกคนผ่านประสบการณ์ปี’54 ดูทุกวันลุ้นทุกวัน ไม่รู้วันไหนจะท่วมสักที นี่คือข้อมูลที่ไม่ชัดเจน เพราะการได้รับการเตือนภัยที่ชัดเจน จะมีส่วนช่วยลดความเสียหาย ให้น้อยลง ดังนั้น ในอนาคตเราต้องคิดให้หนักขึ้น ว่าจะสร้างระบบเตือนภัยที่ดีได้อย่างไร?” ดร.สมชัย ระบุ

2.หลากหลายมาตรการรับมือน้ำท่วม จากการสำรวจพบว่า บริษัทต่างๆ ในนิคมอุตสาหกรรม เลือกวิธี “จัดทีมสังเกตการณ์” เพื่อเฝ้าระวังน้ำท่วมมากที่สุดถึงร้อยละ 53.6 รองลงมาคือการ “เตรียมเครื่องสูบน้ำ” ร้อยละ 33.3 ส่วนอันดับ 3 คือ “ย้ายเครื่องจักรขึ้นที่สูง” ร้อยละ 32.1 อันดับ 4 “ทำประกันภัยน้ำท่วมเพิ่ม” ร้อยละ 30.5 และอันดับ 5 “เตรียมคลังสินค้านอกพื้นที่” ร้อยละ 29.8

3.การซื้อประกันภัยน้ำท่วมทำได้ยาก โดยเฉพาะหลังปี 2554 ที่ผ่านมา พบว่าผู้ประกอบการที่เคยซื้อประกันภัย น้ำท่วม เกือบร้อยละ 60  ตอบว่าบริษัทประกันภัยไม่รับ ทำประกันให้อีก หรือถึงรับทำให้ก็จะคิดค่าเบี้ยประกันสูงขึ้น รองลงมาร้อยละ 20 ตอบว่าบริษัทประกันตั้งเงื่อนไขต่างๆ เพิ่มขึ้นกว่าเดิม ส่วนผู้ที่ไม่เคยซื่อประกันภัยน้ำท่วม ร้อยละ 20 ตอบว่าบริษัทประกันภัยไม่รับทำประกันให้

“บริษัทเขาไม่ขายให้แล้ว คือเขาไม่รับทำประกันภัยน้ำท่วมแล้ว ซึ่งกลุ่มแรกที่เคยซื้อ มีถึงเกือบ 60 เปอร์เซ็นต์ที่ตอบอย่างนั้น หรือบางแห่งก็บอกว่าขายให้แต่ขอกำหนดเงื่อนไขเพิ่มหรือขอเพิ่มเบี้ยประกัน” ดร.สมชัย กล่าว3.โครงสร้างคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำ (Water Board) ในส่วนตัวแทนจากภาคอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ เกือบร้อยละ 80  ระบุว่า การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ควรเป็นตัวแทนมากที่สุด รองลงมา กว่าร้อยละ 50  ระบุว่า ควรเป็นตัวแทนจากนิคมอุตสาหกรรมแต่ละแห่ง ส่วนบริษัทต่างๆ นั้นไม่ต้องการเข้าไปเป็นตัวแทน แต่ขอพื้นที่สำหรับการเสนอแนะ ข้อคิดเห็นให้แก่คณะกรรมการฯ

4.ผู้ประกอบการมีความเข้าใจปัญหาอุทกภัย และมีจิตสาธารณะมากขึ้น โดยกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 90 เห็นด้วยว่าการใช้ที่ดินมีความสำคัญต่อการบริหารจัดการน้ำท่วม, ร้อยละ 97.6 เห็นด้วยว่าการทำแผนการใช้ที่ดินจำเป็นต้องคำนึงถึงการบริหารจัดการน้ำร่วมด้วย, ร้อยละ 94 คิดว่าควรมีการทำแผนการใช้การที่ดินระดับลุ่มน้ำ และที่น่าสนใจคือ ร้อยละ 80 สนับสนุนมาตรการกำหนดให้โรงงานที่จะสร้างขึ้นใหม่ต้องไม่กีดขวางทางน้ำ

ขณะที่ด้านการมีส่วนร่วมของนิคมฯ กับชุมชน โดยรอบ พบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 68.7 เน้นการช่วยเหลือด้านงบประมาณ รองลงมา ร้อยละ 41.1 บริจาคสิ่งของที่จำเป็น อันดับ 3 ร้อยละ 38.6 จัดสถานที่พักพิงหากชุมชน

นอกนิคมฯ ประสบภัย อันดับ 4 ร้อยละ 32.5 ให้ความรู้ในการจัดการ ปัญหาน้ำท่วมแก่ชาวบ้าน และอันดับ 5 ร้อยละ 25.3 เป็นผุ้นำชุมชนเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม

“ที่ผมรู้สึกว่า ดีมาก คือมีคำถามหนึ่งว่าถ้ามีข้อจำกัดว่าโรงงานที่จะตั้งขึ้นต่อไปจะต้องไม่ขวางทางน้ำ 80 เปอร์เซ็นต์ตอบว่าเห็นด้วย อันนี้แสดงถึงการมีจิตสาธารณะมาก แล้วเรื่องการมีส่วนร่วมกับชุมชน ที่ตอบมาค่อนข้างสูงคือการช่วยเหลือด้านงบประมาณ อาจจะ มีการบริจาคสิ่งของที่จำเป็น อาจจะให้ที่พักพิงกรณีเกิด น้ำท่วมนอกนิคม แล้วก็อาจจะให้ความรู้ด้านการจัดการปัญหาน้ำท่วมกับชาวบ้านด้วย ส่วนการเข้าไปเป็นผู้นำการแก้ปัญหาน้ำท่วม ร้อยละ 25 บอกว่าพร้อม แต่ร้อยละ 75 อาจจะยังไม่พร้อม”

นักวิชาการจาก TDRI กล่าวทิ้งท้าย พร้อมสรุปว่า “ต้องเรียกความเชื่อมั่น” ให้กับผู้ประกอบการ ไม่ว่าระบบเตือนภัยที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพ แผนบริหารจัดการน้ำควรลงมือทำโดยไม่ชักช้า เพราะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า ดีกว่าการปล่อยให้เกิดความเสียหาย รวมถึงหามาตรการแก้ปัญหาการทำประกันภัยน้ำท่วม อีกทั้งควรเพิ่มบทบาทให้กับภาคอุตสาหกรรมในการเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำในคณะกรรมการฯ ด้วย

 ขณะเดียวกัน นิคมฯ เองก็ควรเพิ่มความร่วมมือกับ ชุมชนให้มากขึ้น โดยเฉพาะการให้ความรู้กับชุมชนหรือการ เข้าไปเป็นผู้นำชุมชนเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย

———

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน แนวหน้า วันพุธที่ 7 ตุลาคม 2558 ในชื่อ 4 ปีหลัง ‘มหาอุทกภัย’ สำรวจ ‘ภาคอุตสาหกรรม’