การเจรจา TPP ของ 12 ประเทศ กระทบไทยด้านการส่งออก ขีดความสามารถในการแข่งขัน แนะรัฐศึกษากรอบให้ชัดเจน ข้อดี-ข้อเสีย พร้อมเดินหน้าเจรจาข้อตกลงอาเซป เพื่อขยายการค้า
ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวระหว่างการสัมนาสาธารณะเรื่อง “TPP กับทางเลือกของประเทศไทย” ว่า การส่งออกของไทยในช่วงที่ผ่านมามีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องจากที่เคยส่งออกสูงสุดถึง 25% และลดลงมาอยู่ระดับติดลบ เนื่องจากปัจจัยหลายด้าน โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจโลก และการขยายตัวของการส่งออกที่ลดลงอย่างรวดเร็วชี้ให้เห็นว่าไทย กำลังมีปัญหาเชิงโครงสร้างของภาคการส่งออก แม้การส่งออกในปี 2558 ไทยมีตลาดส่งออกที่ยังขยายตัว 2 แห่งสำคัญ คือ สหรัฐ แต่ต้องยอมรับว่าตลาดนี้ยังคงเสี่ยงอยู่บ้าง และกลุ่มประเทศ CLMV ที่ยังช่วยด้านการขยายตัวของการส่งออก
นอกจากนี้ การตกลง TPP จะส่งผลกระทบให้ไทยในทันที ด้านการส่งออก เนื่องจากการลดลงของภาษี ส่วนการลงทุนจากข้อตกลงดังกล่าวจะนำไปสู่การสร้างห่วงโซ่การผลิต (Supply Chain) ระหว่างประเทศสมาชิก TPP ทำให้เห็นว่าการลงทุนบางอุตสาหกรรม เช่น ยานยนต์จะต้องเปลี่ยนฐานการผลิตไปอยู่ในประเทศสมาชิกด้วยกัน เพื่อให้ได้แหล่งกำเนิดสินค้าตามข้อตกลง เพื่อให้ได้สิทธิพิเศษทางการค้าจากข้อตกลง แม้การเจรจาจะยังไม่มีข้อสรุปในเรื่องของภาษีก็ตาม แต่แนวโน้มการใช้ฐานการผลิตในประเทศสมาชิกจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
อย่างไรก็ดี การเจรจาเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ของไทย ยังไม่สามารถช่วยให้การส่งออกของไทยขยายตัวได้ตามที่ต้องการ เพราะการเจรจาของไทยส่วนใหญ่อยู่กับประเทศเล็ก และการใช้สิทธิพิเศษยังน้อยมาก และการที่ไทยไม่ได้เป็นสมาชิก TPP จะส่งผลถึงขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยด้วย
“ผลกระทบจาก TPP จะเห็นในทันที คือ ทำให้สินค้ายานยนต์ สิ่งทอ โดยอัตราภาษีลดลง ภาคบริการจะดึงดูดการลงทุน ส่วนสินค้าเกษตรภาษีลดลง ทั้งนี้ สัดส่วนของการส่งออกไปยังประเทศ FTA /TPP เทียบกับการส่งออกทั้งหมด โดยมาเลเซียจะเพิ่มขึ้นจาก 60% ไปอยู่ที่ 70% เวียดนาม จาก 40% ไปอยู่ที่ 60% ขณะที่ไทยไม่เปลี่ยนแปลง”
ดร.เดือนเด่น กล่าวอีกว่า ทางเลือกของประเทศไทย คือ ควรเร่งเจรจา ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) หรือ Asean+6 ฟื้นเจรจา FTA กับยุโรป อย่างไรก็ตามต้องศึกษารายละเอียดข้อตกลงเพื่อประเมินข้อดีข้อเสียให้ชัดเจน
นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย หรือสภาผู้ส่งออก กล่าวว่า ผลของการเจรจา TPP ใน 12 ประเทศ สิ่งที่จะกระทบ คือ คำสั่งซื้อของปีหน้าจะย้ายไปยังประเทศสมาชิก TPP ที่มีวัตถุดิบและสินค้าเหมือนไทย ซึ่งเป็นผลกระทบระยะสั้นและเกิดขึ้นทันที ส่วนระยะยาวจะเกิดผลกระทบต่อภาพรวมการค้าและการลงทุนจากเป้าหมายข้อตกลงที่จะพัฒนา Supply Chain ขนาดใหญ่ของโลก ซึ่งจะมีการสนับสนุนและถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กลุ่มประเทศสมาชิกซึ่งจะส่งผลกระทบกับไทยด้านขีดความสามารถการผลิตและการแข่งขัน ทั้งนี้ เอกชนต้องการให้รัฐแสดงเจตจำนงค์ในการเข้าร่วมเพื่อดึงดูดลูกค้าที่จะหันไปซื้อสินค้าจาก TPP รวมทั้งวางกรอบยุทธศาตร์ทั้งประเทศไม่ใช่เพียงกรอบ TPP เพื่อเตรียมความพร้อมการเข้าเจรจากับต่างประเทศ
———-
หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน ประชาชาติธุรกิจ วันพฤหัสบดีที่ 8 ตุลาคม 2558 ในชื่อ ทีดีอาร์ไอเผยการเจรจา TPP ของ 12 ประเทศเชื่อกระทบส่งออกไทย เร่งรัฐศึกษากรอบข้อดี-ข้อเสียให้ชัดเจน