กระตุ้นอสังหาฯ ระวังติดกับดักหนี้

ปี2015-10-20

หลังคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ มาตรการการเงินการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์  ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการ ทีดีอาร์ไอ ประเมินผลกระทบ ระบุ มาตรการนี้ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจที่ซบเซาได้ แต่เป็นเพียงระยะสั้น เตือนระยะกลางจะกลับมาติดกับดักหนี้อีก

10-20-2015 9-04-07 PM
ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการ ทีดีอาร์ไอ

จากมาตรการกระตุ้นภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบ เมื่อ 13 ต.ค.ที่ผ่านมา ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) วิเคราะห์ผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทย สรุปได้ดังนี้ คือ

1.ภาคอสังหาริมทรัพย์ถือเป็นภาคธุรกิจที่ใหญ่ เพราะมีความเกี่ยวเนื่องกับกลุ่มธุรกิจที่ผลิตวัตถุดิบมาก เช่น วัสดุก่อสร้าง เครื่องครัว เฟอร์นิเจอร์ ฯลฯ และยังเกี่ยวข้องกับหลายๆ กิจกรรม ทั้งภาคการผลิตและบริการ ประเด็นสำคัญคือมีการเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมอื่นๆ ในด้านวัตถุดิบค่อนข้างมาก จึงทำให้มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจมาก แม้ถ้านับเฉพาะการก่อสร้าง จะมีความสำคัญประมาณร้อยละ 2.4 ของจีดีพี (ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ) เท่านั้น แต่ถ้ารวมความต้องการวัตถุดิบอื่นๆ จะมีความสำคัญสูงกว่า ยิ่งถ้ารวมผลทั้งทางตรงและทางอ้อม ผลทางอ้อมจะส่งผลดีกับอุตสาหกรรมที่ผลิตวัตถุดิบที่ป้อนให้กับการก่อสร้าง ตั้งแต่ผู้ผลิตปูน ไปจนถึงกลุ่มวัสดุตกแต่งบ้าน

2.นโยบายนี้มีรูปแบบเดียวกันกับโครงการรถคันแรก แต่มีแรงกระตุ้นที่เบากว่า โดยนโยบายนี้มีมาตรการนำมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ที่ซื้อมาลดหย่อนภาษีเงินได้นั้น ส่วนตัวมองว่า มีลักษณะคล้ายกับโครงการรถคันแรกมาก คือเป็นการพยายามลดต้นทุนการดำเนินการ นโยบายในลักษณะนี้มีความน่ากังวลใจ เพราะเป็นการสนับสนุนการก่อหนี้ให้เร็วขึ้น ในลักษณะเดียวกับรถคันแรกที่ทำให้คนตัดสินใจรีบซื้อก่อน ผลที่คาดจึงน่าจะเกิดขึ้นคล้ายๆ กัน แต่อาจจะส่งผลกระทบน้อยกว่า เพราะการซื้อบ้านมีต้นทุนที่สูงกว่ารถ มีข้อจำกัดอื่นๆ เช่น ห้ามเคยเป็นเจ้าของมาก่อน แต่ที่แน่ๆ คือ ผลของโครงการจะทำให้เกิดการกระตุ้นในระยะสั้น ทำให้สามารถขายบ้านได้เยอะ แต่พอระยะปานกลางจะประสบปัญหาแบบเดียวกันคือ ตลาดจะซบเซา

นโยบายนี้สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้บ้าง เพราะคนที่เป็นหนี้รถคันแรก อาจจะเริ่มใช้หนี้หมดแล้ว เพราะโครงการนี้จะเป็นแบบเดียวกับโครงการรถคันแรก คือ เป็นการสร้างหนี้ให้กับคนกลุ่มรายได้น้อย ถ้าเศรษฐกิจไม่ดีพอที่จะสร้างรายได้ อาจจะทำให้เกิดปัญหาหนี้ในระยะกลางได้ คงต้องจับตาดูหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ด้วยเช่นกัน

3.นโยบายนี้จะเร่งให้เกิดการใช้จ่ายที่เร็วกว่าปกติ ผ่านการลดค่าดำเนินการต่างๆ ซึ่งผลจึงน่าจะเป็นการดึงเม็ดเงินระยะกลางมาใช้ในระยะสั้น ดังนั้น ระยะสั้นเศรษฐกิจน่าจะโตเพิ่มขึ้น แต่ระยะกลางจะซบเซากว่าเดิม แต่การซบเซาขนาดจะไม่ใหญ่เท่าโครงการรถคันแรก เพราะวงเงินของโครงการนั้นยังถือว่าเล็ก ที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยที่ซบเซา ส่วนหนึ่งมาจากการที่คนติดภาระหนี้โครงการรถคันแรก ซึ่งจะเริ่มทยอยชำระหนี้หมดในปีหน้า

ตอนแรกหวังว่าจะทำให้คนที่ผ่อนหนี้รถคันแรกหมดจะได้มีกำลังซื้อเหลือมาผลักดันเศรษฐกิจ แต่ถ้ารัฐบาลไปสร้างหนี้ใหม่ เศรษฐกิจระยะแรกอาจจะดี เพราะว่าไปกระตุ้นรายจ่าย แต่ระยะกลางจะกลับมาติดกับดักหนี้กันอีก เนื่องจากเม็ดเงินที่นำมาใช้ โครงการไม่ได้มากนัก คือ ระดับการให้สินเชื่อ 10,000 ล้านบาท ถ้าเทียบกับโครงการรถคันแรก ดังนั้นนโยบายนี้คงไม่ส่งผลกระทบใหญ่โตในระดับรถคันแรก

——————–

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน มติชน เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2558 ในชื่อ ‘นักวิชาการ-เอกชน’เตือน กระตุ้นอสังหาฯ-ติดกับดักหนี้