การจัดการทรัพยากรมนุษย์ใน CLMV โอกาสหรือข้อท้าทาย?

ปี2015-11-30

สราวุธ ไพฑูรย์พงษ์

ทรัพยากรมนุษย์คือปัจจัยที่สำคัญที่สุดของการพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาประเทศหรือพัฒนาองค์การหรือแม้แต่ชุมชนหรือครอบครัวก็ตาม หากปราศจากทรัพยากรมนุษย์ในปริมาณและคุณภาพที่ต้องการ ประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการใช้ทรัพยากรอื่นๆ เพื่อพัฒนาองค์การหรือพัฒนาประเทศย่อมไม่เกิดขึ้น ขณะเดียวกัน CLMV (ประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ก็เป็นเพื่อนบ้านในลุ่มแม่น้ำโขงที่ต้องพึ่งพาอาศัยกันอย่างใกล้ชิด รวมทั้งเป็นแหล่งทรัพยากรและการลงทุน ทั้งสองอย่างนี้จึงเป็นประเด็นที่น่าสนใจ อย่างยิ่ง

ในโลกยุคโลกาภิวัตน์ที่มีความเสรีทางเศรษฐกิจมากขึ้น ทุนเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรี การบริหารและคุณภาพของทรัพยากรมนุษย์ของแต่ละประเทศนอกจากจะกลายเป็นจุดดึงดูดสำคัญของการลงทุนแล้วยังเป็นตัวกำหนดรูปแบบการลงทุนอีกด้วย บริบทความเสรีทางเศรษฐกิจของอาเซียนและลุ่มแม่น้ำโขงก็ไม่ต่างกัน เราจะสังเกตเห็นได้ว่าฐานการลงทุนของอุตสาหกรรมหลายอย่างใช้ประเทศในภูมิภาคอาเซียนเป็นฐานการผลิต ที่พบมากอย่างมีนัยสำคัญคือ 3 ฐานการผลิตของอุตสาหกรรม อย่างแรกคืออุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น (Labour Intensive) เน้นการใช้แรงงานราคาถูก เช่น อุตสาหกรรม สิ่งทอ อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหารสด และอุตสาหกรรมอาหารแช่แข็ง เป็นต้น อย่างที่สองคือการถูกเลือกให้เป็นปลายทางของการรับจ้างผลิตสินค้าในห่วงโซ่การผลิต (Original Equipment Manufacturer, OEM) อาทิ การผลิตและ/หรือประกอบชิ้นส่วนต่างๆ เพื่ออุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และอย่างที่สาม คือการเป็นฐานการผลิตและประกอบสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์

ทำไม?

11-30-2015 9-39-27 AM
ที่มารูปภาพ: มติชนออนไลน์

คำตอบก็คือ อาเซียนเนื้อหอมมากในแง่การลงทุนเพราะเป็นภูมิภาคที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจ การอุปโภคบริโภคหรือตลาดในภูมิภาคนี้ยังมีการขยายตัว แม้การเติบโตทางเศรษฐกิจและการขยายตัวของตลาดจะไม่สูงลิ่วแต่ก็สวนทางกับกระแสเศรษฐกิจโลกที่หดตัวลง ที่สำคัญทรัพยากรธรรมชาติยังอุดมสมบูรณ์กว่าเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น เส้นทางคมนาคมมีจุดเชื่อมโยงและกระจายการส่งสินค้าไปยังภูมิภาคอื่นได้สะดวก และที่สำคัญมีต้นทุนการบริหารจัดการที่ต่ำกว่าการลงทุนในภูมิภาคอื่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งต้นทุนด้านการบริหารจัดการแรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม สมาชิกใหม่กลุ่มล่าสุดของอาเซียน หรือที่รู้จักกันในนามกลุ่มประเทศ CLMV กำลังได้รับความสนใจอย่างมากจากนักลงทุน

ปีที่ผ่านมา CLMV มีอัตราเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 7 และมีตัวเลขการลงทุนจากต่างชาติ (Foreign Direct Investment, FDI) มากถึง 13.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ กลุ่ม CLMV มีข้อได้เปรียบชาติอาเซียนอื่นๆ คือมีทรัพยากรธรรมชาติมาก มีประชากรวัยแรงงานในสัดส่วนที่สูง (รวมกัน 4 ชาติเกือบ 100 ล้านคน) อีกทั้งมีค่าแรงในระดับต่ำ (หากเปรียบเทียบกับประเทศไทยหลังขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาท มีเพียงสิงคโปร์ มาเลเซีย และบรูไน เท่านั้นที่มีระดับค่าจ้างเฉลี่ยสูงกว่าประเทศไทย)

เมื่อพิจารณาตำแหน่งทางภูมิศาสตร์จะพบว่า สปป.ลาวและพม่ามีอาณาเขตติดกับประเทศจีนและอินเดีย การขยายการลงทุนในกลุ่ม CLMV สามารถขยายฐานการจำหน่ายไปยังประเทศจีนและอินเดียซึ่งมีประชากรจำนวนมากอีกด้วย (จีนและอินเดียมีประชากรรวมกันราว 2.5 พันล้านคน) จริงอยู่ที่ประเทศอื่นในภูมิภาคอาเซียนอย่างอินโดนีเซีย เป็นต้น ก็มีจำนวนแรงงานมากและมีค่าจ้างในระดับต่ำกว่าไทย แต่ในแง่ภูมิศาสตร์ ประเทศอินโดนีเซียเสียเปรียบอย่างน้อยก็ในแง่การคมนาคมขนส่ง เพราะประเทศมีลักษณะเป็นเกาะ

การลงทุน ในกลุ่มประเทศ CLMV จึงได้รับความนิยมมาก มีนักลงทุนจากประเทศไทยไปลงทุนในกลุ่มประเทศ CLMV เป็นจำนวนมาก ในปีที่ผ่านมาการลงทุนของไทยใน CLMV มีมูลค่ากว่า 8 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยเวียดนามเป็นประเทศที่นักลงทุนไทยนิยมไปลงทุนมากที่สุด มีมูลค่ารวมราว 2.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ รองลงมาคือ กัมพูชา (มูลค่าราว 2.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ) สปป.ลาว (มูลค่าราว 1.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ) และเมียนมา (มูลค่าราว 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ) ตามลำดับ

อุตสาหกรรมไทย ที่ไปลงทุนมากที่สุดใน CLMV คืออุตสาหกรรมการผลิตและค้าส่งและค้าปลีกขนาดใหญ่ เช่น กลุ่ม CP บมจ.ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ และบริษัทไทยนครพัฒนา เป็นต้น อุตสาหกรรมเกี่ยวกับเหมืองแร่และพลังงาน เช่น บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) เป็นต้น รวมถึงอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง เช่น บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG สำหรับอุตสาหกรรมบริการ เช่น ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคาร CIMBT และธนาคารกสิกรไทย รวมถึงการขยายตัวของโรงพยาบาล เช่น โรงพยาบาลกรุงเทพ เป็นต้น อุตสาหกรรมอาหาร เช่น บริษัท ทีไทยสแนคฟูดส์ จำกัด เป็นต้น นอกจากนั้นยังมี ผู้ประกอบการ SMEs ขนาดใหญ่ก็ไปเปิด แฟรนไชส์ในกลุ่ม CLMV ด้วย เช่น บริษัท Sayam International ผู้ขยายแฟรนไชส์ธุรกิจความงามชื่อดัง วุฒิศักดิ์คลินิก อีกด้วย

แน่นอนการขยายการลงทุนไปยังประเทศเหล่านี้เป็นโอกาสที่สำคัญสำหรับนักลงทุน แต่จะต้องเผชิญกับข้อท้าทายประการสำคัญ นั่นก็คือทรัพยากรมนุษย์ของประเทศเหล่านั้น แม้มีข้อได้เปรียบหลายอย่าง อาทิ จำนวนแรงงานและระดับค่าจ้างที่ถูกกว่า ก็ยังมีข้อท้าทายอีกหลายประการเกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรมนุษย์ในกลุ่มประเทศเหล่านี้ อาทิ คุณลักษณะเฉพาะตัวของแรงงาน สภาพตลาดแรงงาน กฎหมายและกฎระเบียบตลอดจนข้อบังคับด้านแรงงานภายในประเทศ

ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาแม้นักลงทุนไทยจะไปลงทุนในกลุ่มประเทศ CLMV อย่างมากแล้ว แต่ยังมีนักลงทุนไทยหน้าใหม่ที่ประสงค์จะไปแสวงหาโอกาสในกลุ่มประเทศ CLMV อีกมาก ดังนั้นการถ่ายทอดประสบการณ์เกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ในกลุ่มประเทศ CLMV จึงเป็นความท้าทายที่มีความสำคัญมาก การจัดการความรู้ ในเรื่องนี้ยังอยู่ในวงแคบ ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องสำคัญและจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อนักลงทุน

จึงเป็นที่น่ายินดีที่ทราบว่า สถาบันทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสำนักงานสนับสนุนกองทุนวิจัย (สกว.) จะจัดการเสวนานานาชาติเรื่อง “Managing HR in CLMV: Trends, Challenges and Lessons Learned” ในวันที่ 22 ธันวาคม 2558 ที่โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพมหานคร โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการและประสบการณ์ด้านการบริหารทรัพยากรมนุษย์ระหว่างนักวิชาการและนักปฏิบัติผู้มีประสบการณ์โดยตรง

งานนี้จะมีนักวิชาการจาก CLMV ที่บินตรงมาเพื่อมาถ่ายทอดเรื่องราวแรงงานในแต่ละชาติ นอกจากนั้นยังมีนักวิชาการจากประเทศจีนที่มีงานวิจัยและผลงานทางวิชาการเกี่ยวกับการลงทุนใน CLMV และที่พลาดไม่ได้คือนักวิชาการชาวไทย ตลอดจนเจ้าของกิจการ และผู้บริหารระดับสูงด้าน HR ชาวไทยที่มีประสบการณ์ตรงในการไปลงทุนในกลุ่มประเทศ CLMV ได้แก่ คุณชนินท์ ว่องกุศลกิจ(CEO บ้านปู) ดร.นริศ ธรรมเกื้อกูล (มือขวา CEO ของบริษัท CP) คุณศันสนะ ด่านศมสถิต (HR Director ที่รับผิดชอบงาน HRM ระดับภูมิภาคของ SCG) รวมถึง คุณสยาม รามสูตร ผู้ก่อตั้งบริษัท Sayam International และขยายแฟรนไชส์ธุรกิจความงามชื่อดัง วุฒิศักดิ์คลินิก ในประเทศลาวอีกด้วย

ท่านที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สถาบันทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โทร 0-2613-3302-6 หรือ www.hri.tu.ac.th ครับ


หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน คอลัมน์: ดุลยภาพดุลยพินิจ: การจัดการทรัพยากรมนุษย์ในCLMVโอกาสหรือข้อท้าทาย? เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2558