เพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการศาลไทย ด้วย e-Court

ปี2015-11-19

ธนภัทร ชาตินักรบ

คนทั่วไปมักมองกระบวนการยุติธรรมของไทย โดยเฉพาะศาลไทยว่าล่าช้า ตัดสินคดีไม่ทันต่อความเสียหายของคู่ความ และยังมีค่าใช้จ่ายสูง เพื่อแก้ปัญหานี้ ศาลยุติธรรมจึงพยายามหาทางเพิ่มประสิทธิภาพของศาล โดยให้มีการดำเนินคดีรวดเร็วขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน ก็ยังคงให้ความยุติธรรมแก่คู่ความทุกฝ่าย

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ได้นำระบบศาลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Court) มาใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานจนประสบผลสำเร็จ แต่น่าเสียดายที่ระบบดังกล่าวยังไม่อาจนำไปใช้กับศาลยุติธรรมบางประเภท ได้อย่างมีประสิทธิภาพเนื่องจากติดกฎระเบียบปฏิบัติเดิม และบุคลากรยังขาดความรู้ความเข้าใจในระบบ รวมถึงยังขาดการเข้าถึงของประชาชน

ระบบ e-Court ในประเทศไทย ถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2553 เพื่อสนับสนุนการพัฒนางานศาลเกี่ยวกับการบริหารสำนวนคดี และอำนวยความสะดวกให้แก่คู่ความตามนโยบายของคณะผู้บริหาร โดยมีแนวคิดพื้นฐาน คือ ใช้งบประมาณให้น้อยที่สุด ใช้เครื่องมือที่มีอยู่แล้วปรับเข้ากับระบบงานของศาล โดยต้องไม่กระทบต่อการทำงานของผู้พิพากษา ระมัดระวังผลกระทบของกฎหมาย และการรักษาความลับของคู่ความ

ระบบ e-Court ที่โดดเด่นที่ใช้กันอยู่ในศาลทรัพย์สินทางปัญญา มีอยู่ 3 ลักษณะ ได้แก่ ลักษณะแรก การให้ส่งคำคู่ความทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Filing) ซึ่งอำนวยความสะดวกแก่คู่ความในการติดต่อกัน ระหว่างคู่ความและกับศาลลักษณะที่สอง การสืบพยานบุคคลที่อยู่ในท้องที่ห่างไกล ผ่านระบบการประชุมทางจอภาพ (video conference) ซึ่งทำให้พยานไม่ต้องเดินทางมาศาล และลักษณะสุดท้ายการนำกระบวนการอื่นๆ มาใช้ เพื่อเร่งรัดการดำเนินคดีในศาล เช่น ให้มีการไกล่เกลี่ยประนีประนอม การรับฟังพยานหลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ

แต่เมื่อจะนำระบบนี้ไปใช้กับศาลยุติธรรมอื่นๆ ก็กลับมีข้อจำกัดหลายประการ อาทิ สำนักงานทนายความจำนวนมาก ทำสัญญาจ้างให้เสมียนทนายเดินทางมายังศาล เพื่อยื่นเอกสาร หรือรับทราบคำสั่งศาลอยู่แล้ว สำนักงานจึงขาดความรู้ความเข้าใจที่ดีเพียงพอ ที่จะใช้ระบบรับส่งคำคู่ความหรือรับทราบคำสั่งศาลทางอีเมล

นอกจากนี้ บุคลากรในศาลไทยที่มีความรู้ในการใช้เทคโนโลยีสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ ยังมีจำนวนไม่เพียงพอ โดยเฉพาะบุคลากรในศาลต่างจังหวัด ที่ยังคุ้นชินอยู่กับระบบเดิม ระบบเทคโนโลยีใหม่จึงยังไม่สามารถเข้าถึงบุคลากรเหล่านี้ได้

ปัญหาด้านเทคนิค เรื่องการเชื่อมสัญญาณระหว่างศาลยุติธรรม ในท้องที่ต่างจังหวัดที่มักขัดข้องในช่วงที่มีฝนตก ก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ทำให้เกิดการขาดตอนในการพิจารณาคดี การออกกฎระเบียบใหม่จำนวนมากในลักษณะข้อบังคับ และข้อกำหนดของประธานศาลฎีกา เพื่อรองรับการใช้ e-Court ที่มีความสลับซับซ้อน ก็ส่งผลต่อความเข้าใจของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม รวมถึงประชาชนในการดำเนินการตามกฎระเบียบ และประการสำคัญสุดท้ายคือ ประชาชนทั่วไปยังคงขาดการรับรู้การมีอยู่ของระบบ e-Court ในกระบวนการพิจารณาในชั้นศาล

เพื่อก้าวข้ามขีดจำกัดเหล่านี้ ศาลทั่วประเทศจะต้องจัดให้มีเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ที่มีคุณภาพ เอื้ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนในทุกท้องที่ สามารถเข้าถึงเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆได้ อันจะช่วยลดทั้งค่าใช้จ่ายและระยะเวลาที่เสียไปจากการเดินทางมายังศาล

นอกจากนี้ ควรต้องเร่งแก้ไขปัญหาทางเทคนิค ทำให้เครื่องมือมีประสิทธิภาพในเรื่องของสัญญาณ โดยอาจประสานงานกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อจัดการกับปัญหาที่เป็นอยู่ และรับมือกับสิ่งที่อาจเป็นปัญหาจากการใช้ระบบ e-Court บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการศาลก็ต้องปรับตัว ทั้งผู้พิพากษา อัยการ ตำรวจ ทนายความ เสมียนศาล เลขานุการศาล ฯลฯ ซึ่งรัฐต้องจัดการอบรมให้ทราบถึงวิธีการ ขั้นตอน และประโยชน์ของการนำเทคโนโลยีมาใช้ เพื่ออำนายความสะดวกในการพิจารณาคดี

และที่สำคัญที่สุด จะต้องมีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบและเข้าใจถึงระบบ e-Court เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ระบบดังกล่าวได้ ควรมีการนำเสนอข้อมูลเป็นขั้นตอนอย่างเป็นระบบ เข้าใจง่าย โดยอาจเริ่มจากการประชาสัมพันธ์ตามสื่อสาธารณะต่างๆ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลดังกล่าว เชื่อได้ว่า หากปฏิบัติตามแนวทางนี้แล้ว จะช่วยส่งเสริมให้มีการใช้ระบบ e-Court อันจะเกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งต่อภาครัฐและประชาชนทั่วไป

———————

ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 19 พฤศจิกายน 2558 ใน คอลัมน์: วาระทีดีอาร์ไอ: เพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการศาลไทย ด้วย e-Court