สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
ทีดีอาร์ไอแนะ SMEsไทยในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลควรใช้ซอฟต์แวร์ในการทำธุรกิจ ผลวิจัยยืนยันการใช้ซอฟต์แวร์อย่างมีประสิทธิภาพสามารถช่วยเพิ่มผลิตภาพ ลดต้นทุน เพิ่มรายได้ ชูกรณีตัวอย่าง 5 ประเภทธุรกิจใช้แล้วคุ้มค่าลงทุน กระตุ้นภาครัฐเร่งประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างโอกาสให้SMEsไทยก้าวไกลทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ในการเสวนา “เพิ่มผลิตภาพ SMEs ไทยด้วยการใช้ซอฟต์แวร์” ซึ่งสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จัดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยมีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย ผู้ประกอบการที่เป็นผู้ผลิต ผู้ให้บริการ และผู้ใช้ซอฟต์แวร์ รวมถึงภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมการใช้ซอฟต์แวร์ไทยให้ประสบผลสำเร็จ
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย และ ดร.เสาวรัจ รัตนคำฟู นักวิชาการ ทีดีอาร์ไอ ได้นำเสนอผลการศึกษา โครงการวิจัยและจัดทำกรณีศึกษาการใช้ซอฟต์แวร์ของภาคธุรกิจไทยในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลประจำปี 2558 โดยผลการศึกษาพบว่าการนำซอฟต์แวร์มาใช้อย่างมีประสิทธิภาพสามารถช่วยเพิ่มผลิตภาพ ลดต้นทุน และเพิ่มรายได้ให้กับธุรกิจได้อย่างชัดเจน และจากกรณีศึกษาผู้ประกอบการ 5 แห่งที่มีการใช้ซอฟต์แวร์ในธุรกิจ 5 ประเภท โดยเป็นการใช้ซอฟต์แวร์ไทยเพื่อผู้ประกอบการไทยซึ่งมีทั้งการพัฒนาเพื่อใช้เองในธุรกิจของตนเอง และการพัฒนาให้ตรงการใช้งานของแต่ละธุรกิจซึ่งแตกต่างกัน คือ ในธุรกิจบริการท่องเที่ยวและโรงแรม มีการใช้ซอฟต์แวร์เพื่อบริหารจัดการห้องพัก รวมถึงการจองห้องพักออนไลน์ และการบริหารจัดการงานภายใน เช่น บัญชี การเงิน และการส่งเสริมการตลาด ทำให้โรงแรมมีรายได้เพิ่มขึ้น และประหยัดค่าจ้างพนักงานได้
ธุรกิจบริการขนส่ง ธุรกิจแท็กซี่นำซอฟต์แวร์มาใช้ในการอำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าในการเรียกใช้บริการรถแท็กซี่ รวมถึงการบริหารจัดการ ทำให้สามารถเพิ่มคุณภาพบริการ รวมทั้ง ลดเวลาวิ่งรถเปล่าและเปลี่ยนกะ จึงทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ธุรกิจบริการรับเหมาก่อสร้าง การใช้ซอฟต์แวร์ช่วยให้ผู้รับเหมาก่อสร้างเกิดความสะดวกในการจัดการกับข้อมูลวัสดุ การวางแผนการรับงาน การจ่ายค่าจ้างคนงาน รวมถึง การจัดทำบัญชี ทำให้รู้ต้นทุนชัดเจน และทำกำไรได้ดีขึ้น ธุรกิจบริการรักษาความปลอดภัย การใช้ซอฟต์แวร์ในการบริการจัดการทรัพยากรบุคคลช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ และลดค่าใช้จ่าย ธุรกิจผลิตสิ่งพิมพ์ ธุรกิจสิ่งพิมพ์มีการใช้ซอฟต์แวร์เพื่อบริหารจัดการภายในองค์กร ทั้งในด้านการผลิต การขาย การจัดซื้อ การบัญชี บุคลากร และคลังวัตถุดิบ จนทำให้เพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตและการบริหารจัดการภายในองค์กรได้
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ กล่าวว่า ประโยชน์ของการนำซอฟต์แวร์มาใช้ในภาคธุรกิจที่ชัดเจน คือ มีผลิตภาพเพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายลดลง โดยจากกรณีศึกษา หลายกรณีเห็นผลชัดเจน สามารถประหยัดต้นทุน ช่วยเพิ่มกำไรได้จริง มีผลตอบแทนกลับมาตั้งแต่ระดับ 100-1000 เปอร์เซ็นต์ การนำซอฟต์แวร์มาใช้จึงคุ้มค่าการลงทุน นอกจากนี้ยังช่วยให้การทำงานราบรื่น และมีมาตรฐานมากขึ้น ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงควรสนับสนุนให้ภาคธุรกิจไทยโดยเฉพาะเอสเอ็มอีได้เข้าใจและเลือกนำซอฟต์แวร์มาปรับใช้ให้เหมาะสมกับธุรกิจอันจะช่วยเพิ่มผลิตภาพให้กับประเทศอย่างได้ผลและจับต้องได้จริง สิ่งที่ควรดำเนินการ ได้แก่ การประชาสัมพันธ์ตัวอย่างความสำเร็จให้เกิดการรับรู้อย่างกว้างในภาคธุรกิจ มีคลินิกซอฟต์แวร์ให้คำปรึกษาแนะนำ ภาครัฐเป็นตัวอย่างในการใช้ซอฟต์แวร์ของผู้ประกอบการไทย นอกจากนี้ ปัจจุบันผู้ประกอบการไทยเก่งขึ้นมากและเข้าใจตลาด สามารถพัฒนาซอฟต์แวร์ที่เจาะลึกในแต่ละธุรกิจ เป็นซอฟต์แวร์ที่มีคุณภาพดีไม่แพ้ต่างชาติ เข้าใจลูกค้า(ตรงตามความต้องการ) การใช้ซอฟต์แวร์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ทำให้มีกำไรส่วนเกินเพิ่มขึ้น และต้นทุนลดลง จึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ในยุคนี้ และยังเพิ่มโอกาสทางธุรกิจที่จะต่อยอดไปในประเทศอาเซียนหรือประเทศอื่น ๆ ได้
ในมุมบริษัทผู้ผลิตหรือพัฒนาซอฟต์แวร์ไทย ให้มุมมองการจะทำให้เกิดการใช้ซอฟต์แวร์ในภาคธุรกิจไทยเพิ่มขึ้นนั้น โดย นายสมบูรณ์ ศุขีวิริยะ บริษัท โคแมนซี่ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับธุรกิจโรงแรม กล่าวว่า สิ่งสำคัญสำหรับนักพัฒนาซอฟต์แวร์คือต้องรู้และเข้าใจอย่างแท้จริงในธุรกิจนั้น ๆ จึงจะสามารถผลิตซอฟต์แวร์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า สำหรับธุรกิจโรงแรมส่วนใหญ่มีการใช้ซอฟต์แวร์อยู่แล้ว ความท้าทายคือต้องทำให้เห็นความแตกต่างระหว่างซอฟต์แวร์ไทยกับต่างชาติ การมีประสบการณ์ในธุรกิจโรงแรมมาก่อนทำให้เข้าใจความต้องการใช้งานที่แท้จริงและพบว่า ซอฟต์แวร์ต่างชาติที่ใช้กันนั้น ใช้งานจริงเพียง 60%ของคุณสมบัติซอฟต์แวร์ อีก 40% ไม่ได้ใช้งาน การพัฒนาซอฟต์แวร์ที่เหมาะสมกับธุรกิจโรงแรมของไทยจึงไม่ต้องทำเหมือนซอฟต์แวร์ต่างชาติทั้งหมด แต่เพิ่มส่วนที่ของต่างชาติไม่มีและไทยใช้ได้แน่ ๆ ก็จะได้ซอฟต์แวร์ที่คุณภาพดี ตรงความต้องการ ด้วยราคาที่เหมาะสม จึงจะตอบโจทย์ผู้ใช้ในเมืองไทยได้ดี
นายครรชิต นิงสานนท์ บริษัท อินโนวาซอฟต์แวร์ จำกัด ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ที่ใช้งานในธุรกิจรักษาความปลอดภัย มีประสบการณ์ทำซอฟต์แวร์ให้กับหน่วยงานของรัฐทั้งในประเทศและต่างประเทศ กล่าวว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามองว่า SMEs ส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยมีการใช้ซอฟต์แวร์จากข้อจำกัดของการดำเนินธุรกิจ ขณะเดียวกันบริษัทเราก็เป็น SMEs เช่นกัน ดังนั้นจึงเข้าใจดีว่าปัญหาที่เราเจอ SMEsอื่น ๆ ก็เจอเช่นกัน จึงพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ให้บริการบน คลาวด์ (Cloud) ซึ่งเป็นเทรนด์ใหม่ของการทำธุรกิจในยุคปัจจุบันและอนาคต ซึ่งเป็นการให้บริการผ่านอินเทอร์เน็ต จึงเป็นทางเลือกที่สะดวกสำหรับ SMEs และจุดแข็งคือการที่เราเป็นคนไทยที่ทำธุรกิจบน คลาวด์ (Cloud) ก็ย่อมเข้าใจการทำธุรกิจของคนไทยได้ดีกว่าผู้ให้บริการต่างประเทศที่มีอยู่ เราพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ตอบโจทย์ SMEs ที่อยู่ในเมืองไทยได้ตรงกว่า เช่นในระบบการจ่ายเงินเดือนในธุรกิจความปลอดภัย แต่ละแห่งแต่ละขนาดก็มีวิธีการคิดคำนวณที่ซับซ้อนและแตกต่างกัน แต่ธุรกิจที่เราให้บนคลาวด์ ผู้ประกอบการก็สามารถเลือกบริการได้เหมาะสมกับของตัวเอง นอกจากนี้ยังมองว่าการให้บริการบนคลาวด์นี้จะสอดคล้องกับการทำธุรกิจในอนาคตซึ่งผู้ประกอบการรุ่นใหม่พร้อมที่จะใช้ระบบนี้อยู่แล้วจากความนิยมในการออนไลน์อยู่ตลอดเวลาบนอุปกรณ์สมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต ผู้ประกอบการซอฟต์แวร์มีโอกาสสูงที่จะเข้าถึงลูกค้ากลุ่มนี้
ด้านผู้ใช้ซอฟต์แวร์ นายนรินทร์ ทองสุข บริษัทศุภกร วิษณุศิลป์ จำกัด ให้เหตุผลการเลือกใช้โปรแกรมสำหรับธุรกิจก่อสร้างว่า ลักษณะของธุรกิจก่อสร้างไม่มีอะไรซับซ้อน แต่ซอฟต์แวร์ที่มีใช้กันมักเป็นซอฟต์แวร์ที่เหมาะสมกับธุรกิจขนาดใหญ่ จึงไม่เหมาะกับขนาดธุรกิจและยุ่งยากเกินไป ซอฟต์แวร์ที่ต้องการใช้จึงเป็นซอฟต์แวร์ที่สะดวกและใช้ง่าย ช่วยเรื่องการจัดการ การบริหารและด้านบัญชี
นายสุทัศน์ ครองชนม์ บริษัท ศิริวัฒนาซิเคียวริตี้พริ้น จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯใช้ซอฟต์แวร์ในธุรกิจการพิมพ์มายาวนานและใช้เงินลงทุนไปไม่น้อยแต่ก็ยังไม่ได้ซอฟต์แวร์ที่จะตอบโจทย์ความต้องการใช้งานในธุรกิจได้ จึงพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ช่วยด้านบริหารจัดการภายในองค์กรและเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตทั้งนี้ หัวใจของซอฟต์แวร์ที่ต้องการ ต้องเป็นซอฟต์แวร์ที่ผู้ใช้นั้นต้องการ เพราะของอะไรก็ตามที่ลูกค้าไม่ต้องการต่อให้ดีอย่างไรดูเหมือนไม่มีประโยชน์ ซอฟต์แวร์ที่เอาไปใช้เป็นตัวช่วยหนึ่งเท่านั้น ยังต้องมีการลงคน ลงแรง ลงทุน และรวมถึงต้องเปลี่ยนพฤติกรรมในการทำงานอีกด้วย
ด้านนายฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ กล่าวว่า ในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ธุรกิจไทยได้มีการนำซอฟต์แวร์และเทคโนโลยีดิจิทัลไปใช้ประโยชน์ในหลากหลายธุรกิจ ทั้งในแง่ของการเพิ่มผลิตภาพ/ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ เพิ่มรายได้ และลดต้นทุน ดังนั้น ภาครัฐควรมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการใช้ซอฟต์แวร์ในธุรกิจไทยโดยเฉพาะ SMEs ซึ่งได้พบว่าธุรกิจไทยส่วนใหญ่ โดยเฉพาะ SMEs ยังขาดความตระหนักในเรื่องประโยชน์ที่ได้จากซอฟต์แวร์ นอกจากนี้ ยังมีการสะท้อนความต้องการสนับสนุนมาถึงภาครัฐ ให้มีการสนับสนุนผู้ผลิตซอฟต์แวร์ไทยกลุ่มสตาร์ทอัพ ให้มีจำนวนมากขึ้น โดยภาครัฐอาจใช้มาตรการจูงใจด้านการเงิน เช่น การให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ หรือมาตรการทางภาษีดำเนินงาน และการผลิตบุคลากรด้านไอทีมีคุณภาพสูงให้เพียงพอสำหรับอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ โดย ควรมีการส่งเสริมการศึกษาแบบทวิภาคีให้ผู้ที่ทำงานด้านซอฟต์แวร์/ไอทีสามารถทำงานได้จริง เป็นต้น.