รับมือสังคมสูงวัย ผลักดันไทยก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง

ปี2015-12-21

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

ประเทศไทยติดกับดักรายได้ปานกลางทำให้ไม่สามารถยกระดับการพัฒนาไปเป็นประเทศรายได้สูงมาระยะหนึ่งแล้ว โดยมีการประเมินว่าต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 20 ปี ในการก้าวข้ามปัญหานี้ ยิ่งไปกว่านั้น ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้ไทยพัฒนาเป็นประเทศร่ำรวยได้ยากยิ่งขึ้น คือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอายุประชากรไปสู่สังคมสูงวัย ซึ่งอาจจะส่งผลให้เกิดการขาดแคลนแรงงานและฉุดรั้งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ

ในงานสัมมนาวิชาการ “การยกระดับการขยายตัวทางเศรษฐกิจระยะยาวของไทย” หัวข้อ การเปลี่ยนผ่านสู่สังคมผู้สูงอายุ ดร.นณริฏ พิศลยบุตร และ ดร.จิระวัฒน์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจมหภาคจากการเข้าสู่สังคมสูงวัย เช่น ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน การออมลดลง และงบประมาณรายจ่ายด้านสวัสดิการสังคมเพิ่มสูงขึ้น

การรับมือสังคมผู้สูงวัย

จากอัตราการเจริญพันธุ์ที่ลดลงอย่างต่อเนื่องและประชากรมีอายุยืนขึ้นทำให้ประเทศไทยกำลังขยับเข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัย โดยประชากรอายุตั้งแต่อายุ 15-59 ปี ซึ่งเป็นวัยแรงงานจะมีสัดส่วนลดลง ขณะที่ผู้สูงอายุจะมีทั้งสัดส่วนและจำนวนเพิ่มขึ้น  มีการคาดการณ์ว่าในปี พ.ศ. 2563 จะมีจำนวนประชากรผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 12 ล้านคน ส่วนจำนวนประชากรวัยแรงงานจะลดลงเหลือประมาณ 46 ล้านคน ทำให้อัตราการพึ่งพิงลดลงเหลือประมาณ 3.7 หรือประชากรวัยแรงงานเพียง 4 คน ต้องดูแลผู้สูงอายุ 1 คน จากเดิมในปี พ.ศ. 2543 ที่มีแรงงานถึง 7 คน ดูแลผู้สูงอายุเพียง 1 คน

อย่างไรก็ตาม  แม้ว่าไทยจะไม่สามารถเลี่ยงการเป็นสังคมสูงวัยได้ แต่จากการศึกษาวิจัยพบว่า ประเทศไทยสามารถเตรียมความพร้อมในการรับมือสังคมผู้สูงวัยพร้อมกับผลักดันประเทศให้ก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลางได้ แต่ทั้งนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่ภาครัฐ ภาคธุรกิจและครัวเรือน จะต้องร่วมมือช่วยกันขับเคลื่อนประเทศ

ขยายช่วงอายุการทำงาน-ดึงแรงงานกลับสู่ตลาด

ในปัจจุบันมีแรงงานจำนวนหนึ่งที่ต้องออกจากกำลังแรงงานก่อนวันอันสมควร หากสามารถทำให้กลุ่มแรงงานอายุ 50-59 ปีที่มีแนวโน้มออกจากตลาดยังคงอยู่ในกำลังแรงงานต่อไปได้ จะช่วยเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ในระยะสั้นได้ร้อยละ 0.5-1.4 ขณะที่ในระยะยาวอาจช่วยให้ GDP เพิ่มขึ้นได้ถึงร้อยละ 5 ในปี พ.ศ. 2593

นอกจากนี้ หากสามารถขยายอายุเกษียณการทำงานออกไป เช่น จากเดิมเกษียณที่อายุ 55 หรือ 60 ปี เลื่อนไปเป็นเกษียณอายุที่ 65 หรือ 70 ปี ก็จะสามารถช่วยบรรเทาผลกระทบได้มากขึ้น ดังนั้นการสนับสนุนให้แรงงงานสามารถทำงานต่อเนื่องได้อย่างยาวนานจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่สามารถช่วยบรรเทาผลกระทบทางลบของการเปลี่ยนแปลงสังคมสูงวัยต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคตได้

เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทั้งด้านแรงงานและเทคโนโลยี

เพื่อรับมือกับปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และเพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจในระยะยาว เราจำเป็นต้องส่งเสริมศักยภาพของแรงงาน โดยยกระดับคุณภาพการศึกษา การพัฒนาฝีมือแรงงาน การจัดการฝึกอบรมบุคลากร ควบคู่ไปกับการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อรองรับกับผลกระทบของการเคลื่อนเข้าสู่สังคมสูงวัย ขณะที่ภาคธุรกิจก็ควรปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตจากการใช้แรงงานเข้มข้นไปสู่การผลิตที่ใช้เทคโนโลยีมากขึ้น

ส่งเสริมการออม

เพื่อทำให้การปรับตัวเข้าสู่สังคมสูงวัยเป็นไปอย่างราบรื่น รวมถึงลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนและภาระทางการคลังของภาครัฐ  รัฐควรสร้างระบบการออมเงินที่มีความยั่งยืนพร้อมทั้งจูงใจให้คนออมมากขึ้น ขณะที่ภาคครัวเรือนต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค  โดยออมให้มากขึ้น และลดการใช้จ่ายลง เพื่อให้มีความมั่นคงในยามชรา

การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน-ผลิตสินค้าและบริการเพื่อรองรับสังคมสูงวัย

“การเตรียมความพร้อมในโครงสร้างพื้นฐาน สินค้าและบริการจะช่วยให้สังคมปรับตัวได้อย่างสมดุล โดยลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ตั้งแต่การปรับบ้าน อาคาร ถนน ทางเดินเท้า ฯลฯ ตลอดจนสร้างชุมชนที่เข้มแข็ง ให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุ พัฒนาระบบการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน รวมถึงศึกษาตลาดและความต้องการของผู้สูงอายุ เพื่อการผลิตสินค้าและบริการให้ตอบโจทย์กับสังคมสูงวัย ตลอดจนตั้งมาตรฐานการบริการผู้สูงอายุ ตัวอย่างเช่น การบริการด้านการแพทย์ที่อาจยังไม่มีความต้องการในขณะนี้ แต่เมื่อมีผู้สูงอายุมากขึ้นย่อมเกิดความต้องการที่สูงขึ้น” ดร.นณริฏ พิศลยบุตร อธิบาย

ด้าน ดร.จิระวัฒน์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า “ข้อเสนอการเตรียมพร้อมในด้านต่างๆ เช่น การขยายระยะเวลาทำงาน การส่งเสริมการออม การเพิ่มประสิทธิภาพแรงงาน การพัฒนาทางเทคโนโลยี นั้นควรทำไปพร้อมๆกันและต้องขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน ตัวอย่างเช่น การขยายช่วงอายุการทำงานคงไม่สามารถประสบผลสำเร็จได้หากละเลยการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน เพราะคงลำบากที่จะหานายจ้างที่อยากจ้างแรงงานที่มีอายุมากแต่ขาดทักษะฝีมือ ในขณะที่การส่งเสริมการออมก็ยากที่จะประสบความสำเร็จหากแรงงานต้องออกจากกำลังแรงงานก่อนวัยอันควรจนเป็นเหตุให้รายได้ไม่พอรายจ่าย และการพัฒนาเทคโนโลยีกับการพัฒนาแรงงานก็ต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อให้เกิดการเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน”

การเตรียมความพร้อมรับมือสังคมสูงวัยเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาสังคม ต้องร่วมมือกัน ทั้งนี้เพื่อให้ประเทศสามารถรักษาการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไว้ได้อย่างยั่งยืนและสามารถก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลางได้