สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
จากปี 2551 จนถึงปัจจุบัน ในที่สุดประเทศไทยก็มีระบบการเชื่อมโยงข้อมูลเครือข่ายสารสนเทศด้านแรงงาน เศรษฐกิจ การศึกษาในภาคอุตสาหกรรม (Labour Economic and Education Data Exchange หรือ LEED-X) สามารถขยายฐานข้อมูลให้มีความหลากหลาย และตรงกับความต้องการของผู้ใช้งานทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนได้มากยิ่งขึ้น รวมถึงช่วยเพิ่มแต้มต่อให้กับแรงงานไทยในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล
รศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ทีดีอาร์ไอได้ร่วมมือกับสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม มาตั้งแต่ปี 2551 ในการวางแผนพัฒนากำลังคนเพื่อภาคอุตสาหกรรมของประเทศ จากงานวิจัยโครงการศึกษาเพื่อวางระบบบริหารจัดการกำลังคนเพื่อรองรับการวางแผนพัฒนากำลังคนภาคอุตสาหกรรมของประเทศ นับเป็นจุดเริ่มต้นและมีการพัฒนามาเป็น โครงการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลเศรษฐกิจ การศึกษาและแรงงาน หรือ LEED-X โดยแบ่งออกเป็น 4 ระยะ คือ จุดเริ่ม จุดร่วม รวมพลัง ขยายเครือข่าย และก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคงในปัจจุบัน ซึ่งสามารถขยายเครือข่ายข้อมูลและความร่วมมือของเครือข่ายพันธมิตร ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการเชื่อมโยงเครือข่ายข้อมูลระหว่างหน่วยงาน เพื่อจัดทำฐานข้อมูลอุปสงค์ อุปทานกำลังคนภาคอุตสาหกรรมรองรับการวางแผนพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ ระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานสถิติแห่งชาติ และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เมื่อ ปี 2554
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ในฐานะที่ปรึกษาโครงการฯได้ทำการศึกษารวบรวม สังเคราะห์ จัดระเบียบข้อมูลสารสนเทศและกำลังคนภาคอุตสาหกรรมที่มีอยู่ในปัจจุบันทั้งของภาครัฐและองค์กรที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นคลังข้อมูลและบูรณาการข้อมูลให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทุกฝ่าย นอกจากนี้ยังได้มีการการวางระบบบริหารจัดการเพื่อให้มีศูนย์กลางข้อมูลและสารสนเทศกำลังคนภาคอุตสาหกรรม อันจะเป็นเครื่องมือในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการเชื่อมโยงและใช้ประโยชน์ข้อมูลร่วมกันให้เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างเป็นรูปธรรม ลดความซ้ำซ้อนในการจัดเก็บข้อมูลและประหยัดค่าใช้จ่ายภาครัฐและเอกชน สอดคล้องตามแนวทางการบูรณาการข้อมูลภาครัฐ ตามนโยบายรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์และตอบสนองต่อการพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐสมัยใหม่
ดร.วัชระ ฉัตรวิริยะ อาจารย์ประจำภาควิชา วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า ปัจจุบันระบบ LEED-X ได้มีการปรับปรุงรูปแบบการนำเสนอข้อมูลและวิธีการแลกเปลี่ยนข้อมูลบนเว็บไซต์ โดยการนำเข้าข้อมูลที่สำคัญจากหน่วยงานต่างๆ อย่างสมบูรณ์และให้อยู่ในรูปแบบที่เหมาะสม รวมทั้งรูปแบบ Infographic ที่เข้าใจง่าย ข้อมูลในระบบประกอบด้วย ข้อมูลจากสำนักเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานสถิติแห่งชาติ สภาอุตสาหกรรม และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย อาทิเช่น ภาวะเศรษฐกิจและแรงงาน, อุปสงค์ อุปทานกำลังคน, การส่งเสริมการมีงานทำ, การพัฒนาศักยภาพแรงงาน, การคุ้มครองแรงงานและสวัสดิการ, การประกันสังคม, ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรม, ดัชนีอุตสาหกรรม, สถิติโรงงานอุตสาหกรรม ,สถานการณ์อุตสาหกรรม, สถิติการศึกษา, ภาวะการทำงานของประชากร, ความต้องการแรงงานจากภาคเอกชน พร้อมทั้งข้อมูลแรงงานในกลุ่ม 13 อุตสาหกรรม ได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วน ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อาหาร สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เครื่องหนังและรองเท้า ยางพารา ไม้และเฟอร์นิเจอร์ พลาสติก เซรามิก อัญมณีและเครื่องประดับ ปิโตรเคมี เคมีภัณฑ์ และกระดาษ และยังมีข้อมูลเพิ่มเติมที่สำคัญ อาทิ GDP ที่มีการเผยแพร่ผ่านเว็บไซด์ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รวมถึงข้อมูลต่างๆจากกลุ่มอุตสาหกรรม
“ทุกคนเห็นตรงกันว่าข้อมูลเป็นสิ่งที่ต้องใช้สำหรับกำหนดทิศทางตลาดแรงงาน เราต้องการข้อมูลที่ทันสมัย ทันสถานการณ์ เป็นข้อมูลมาตรฐาน บทบาทของหน่วยงานรัฐในฐานะผู้ติดตามและใช้ประโยชน์ข้อมูลจึงต้องร่วมมือกันจัดทำข้อมูลมาตรฐานที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับหน่วยงานและในภาพรวมของประเทศได้ ซึ่ง LEED-X เป็นเวทีให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำข้อมูลมาเชื่อมโยง และยังเป็นการสร้างความโปร่งใสของข้อมูล ให้ทุกฝ่ายสามารถเข้ามาใช้งานได้สะดวก มาร่วมกันทำโจทย์ของประเทศไทย เช่น การพัฒนาทิศทางกำลังคนในทิศทางใด”
ผอ.วิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ประโยชน์ของ LEED-X คือ ภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนากำลังคนและอุตสาหกรรมของประเทศมีระบบสารสนเทศถูกต้องแม่นยำ และทันสถานการณ์ เพื่อวิเคราะห์และจัดทำนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนากำลังคนที่เหมาะสมกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลง และมีระบบเตือนภัยด้านกำลังคนภาคอุตสาหกรรมที่มีประสิทธิภาพ มีระบบฐานข้อมูลแลกเปลี่ยนอัตโนมัติด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม การศึกษา และแรงงาน ที่นำไปใช้ประโยชน์ในการวางแผนและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศได้ ขณะนี้ ระบบ LEED-X มีความสมบูรณ์และเปิดให้สาธารณะได้ใช้ประโยชน์แล้วได้ที่ http://leedx.in.th/leedx/public