ทรัพย์สินทางปัญญา: อาวุธร้ายต่อประเทศไทยในการเข้าร่วม TPP จริงหรือ?

ปี2015-12-17

พนาทิตย์ เลิศประเสริฐกุล
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

ความตกลงหุ้นส่วนแปซิฟิก (Trans – Pacific Partnerships) หรือที่รู้จักกันในชื่อ TPP ซึ่งนำโดยประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา และประกอบด้วยชาติสมาชิก ได้แก่ แคนาดา เม็กซิโก เปรู ชิลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น มาเลเซีย สิงคโปร์ บรูไน และเวียดนาม

ความตกลงนี้จะมีผลบังคับใช้เมื่อผ่านพ้น 60 วัน นับแต่วันที่ทั้ง 12 ประเทศได้รับการอนุมัติจากรัฐสภาของแต่ละประเทศและได้ให้สัตยาบันครบทั้ง 12 ประเทศต่อประเทศนิวซีแลนด์ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้รับสัตยาบันจากประเทศสมาชิกแล้วเท่านั้น หรือมีอย่างน้อย 6 ประเทศจาก 12 ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจคิดเป็นร้อยละ 85 ของ GDP ทั้งหมดในปี พ.ศ.2556 ของประเทศสมาชิกได้ให้สัตยาบัน

นอกจากจะเป็นความตกลงการค้าเสรีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก (Mega FTA) แล้ว TPP ยังมีความร่วมมือทางด้านอื่นๆ อีกหลายด้านด้วยกัน เช่น ทรัพย์สินทางปัญญา มาตรฐานแรงงาน การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ การทุจริตคอร์รัปชั่น 

ประเทศไทยแม้จะไม่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิก แต่ในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา เริ่มมีการวิพากษ์วิจารณ์ต่อประเด็นการเข้าร่วม/ไม่เข้าร่วมเป็นสมาชิก TPP ของไทย จากหลายๆ กลุ่มไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการในหลายๆ สาขาของไทย รวมถึงประชาชนทั่วไป ซึ่งแต่ละกลุ่มต่างก็แสดงทัศนะที่แตกต่างกันออกไปต่อประเด็นดังกล่าวนี้ เพื่อชั่งน้ำหนักระหว่างผลดีและผลเสียของการเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วมที่จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย

เรื่องทรัพย์สินทางปัญญา เป็นประเด็นหนึ่งที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ไม่น้อย เพราะไทยอาจได้รับผลกระทบมากหากเข้าร่วมเป็นสมาชิก TPP ซึ่งความตกลง TPP อาจเป็นอาวุธร้ายที่จะมาประหัตประหารผู้ประกอบการไทยได้ เนื่องจากในความตกลงได้ขยายเวลาการคุ้มครองลิขสิทธิ์จาก 50 ปีเป็น 75 ปี และขยายอายุการคุ้มครองสิทธิบัตรยาออกเป็น 20 ปี โดยผู้ประกอบการไทยอาจต้องยอมเสียเงินจำนวนที่สูงขึ้นเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิในการใช้สินค้าที่เป็นทรัพย์สินทางปัญญาเหล่านี้

ในกรณีของสิทธิบัตร ผู้ถือสิทธิบัตรจากต่างประเทศที่ประสงค์จะใช้ประโยชน์จากสินค้าที่เป็นทรัพย์สินทางปัญญาของตน จะต้องนำมายื่นคำขอและจดทะเบียนต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาในประเทศไทยเสียก่อน ซึ่งคงไม่ต่างจากแนวทางปฏิบัติที่มีอยู่แล้ว แต่ที่แตกต่างออกไป น่าจะเป็นจำนวนผู้ยื่นคำขอและจดทะเบียนที่มาจากประเทศสมาชิก โดยเฉพาะญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา เนื่องจากเป็นประเทศที่มีการคิดค้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ออกมาอยู่เสมอ

โดยในรอบ 10 ปี ระหว่าง พ.ศ.2548-2557 ญี่ปุ่นมีแนวโน้มการจดทะเบียนสิทธิบัตรในประเทศไทยมากขึ้น และในปีที่ผ่านมามีการจดสิทธิบัตรกว่า 1,200 รายการ ซึ่งมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง โดยมีสหรัฐอเมริกาตามมาเป็นอันดับสอง ทั้งนี้ เพราะญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เข้ามาลงทุนแบบ FDI (Foreign Direct Investment) หรือ การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสูงสุดในประเทศไทย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมภาคการผลิต เช่น สินค้าในหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ หมวดยานยนต์และชิ้นส่วนประกอบยานยนต์ ซึ่งสินค้าและวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตสินค้าหลายรายการเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิบัตร

หากไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิก TPP ไทยจะต้องคุ้มครองปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะสิทธิบัตรยา นอกจากนี้ความตกลงยังบังคับให้สมาชิกต้องมีการคุ้มครองข้อมูลของยาที่ทำจากสิ่งมีชีวิต หรือ biologic medicines เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 5 ปี จึงจะเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับตัวยาชนิดนั้นๆ หรือเปิดให้ผู้ผลิตยารายอื่นๆ เข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับตัวยาชนิดนั้นๆ ได้ ซึ่งเป็นระดับการคุ้มครองที่สูงกว่าเกณฑ์ของความตกลงทริปส์ (TRIPS) และขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) ในขณะที่สหรัฐอเมริกาต้องการคุ้มครองถึง 12 ปีด้วยเหตุผลด้านแรงจูงใจในการผลิต และผลกระทบที่จะเกิดขึ้น คือ การลดการแข่งขันในอุตสาหกรรมยา และทำให้เกิดผู้ผูกขาด จนส่งผลให้ยามีราคาที่แพงขึ้น

ส่วนทรัพย์สินทางปัญญาอื่นๆ อย่างกรณีเครื่องหมายการค้าก็จะต้องมีการยื่นคำขอจดทะเบียนเช่นเดียวกัน โดยประเทศที่น่าจะได้รับประโยชน์ตรงนี้ ได้แก่ ญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา ขณะที่ลิขสิทธิ์จำพวกงานเพลง ภาพยนตร์ หนังสือ ตำราเรียน งานศิลปะต่างๆ เหล่านี้จากประเทศสมาชิกก็จะได้รับการคุ้มครองที่ยาวนานขึ้นด้วย โดยที่งานเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องจดทะเบียน อาศัยเพียงแต่การจดแจ้งต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อสำหรับเป็นข้อมูลทางสถิติ

เมื่อพิจารณาในอีกแง่มุมหนึ่ง หากประเทศไทยมีเป้าหมายที่จะมุ่งสู่การเป็นชาติการค้า หรือ Trading Nation ตามที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าที่จะเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางการค้าของไทยกับนานาประเทศ และปัจจัยที่สำคัญประการหนึ่งสำหรับการเข้าสู่เป้าหมายดังกล่าว คือ การเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตของผู้ประกอบการไทย โดยการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ อยู่เสมอ เพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้าให้มีเอกลักษณ์ แปลกใหม่ และแตกต่างจากสินค้าของประเทศคู่แข่ง ลดต้นทุนในการผลิต พัฒนาสินค้าโดยเฉพาะด้านทรัพย์สินทางปัญญาโดยการไปยื่นคำขอและจดทะเบียนในประเทศสมาชิกอื่นๆ เสมือนเป็นการนำสินค้าออกไปขายยังต่างประเทศ เพื่อนำรายได้กลับเข้าสู่ประเทศไทย

หากผู้ประกอบการไทยมีการพัฒนาการผลิตปรับปรุงสินค้าของตนเองอย่างสม่ำเสมอ โดยผ่านการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ มีความคิดสร้างสรรค์ สร้างผลงานที่ดีมีคุณภาพออกสู่ตลาดแล้ว ทรัพย์สินทางปัญญาก็คงจะไม่ใช่อาวุธร้ายที่คอยทำร้ายหรือทำอันตรายแก่ผู้ประกอบการไทยอีกต่อไป เมื่อเข้าสู่ตลาดของ TPP

——–

ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 17 ธันวาคม 2558 ใน คอลัมน์: วาระทีดีอาร์ไอ:  ทรัพย์สินทางปัญญา: อาวุธร้ายต่อประเทศไทยในการเข้าร่วม TPP จริงหรือ?