tdri logo
tdri logo
5 มกราคม 2016
Read in Minutes

Views

แนะแก้กฎหมายยืดหยุ่นผู้ถือใบอนุญาตทีวีดิจิทัลเปลี่ยนมือ

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ แนะแก้กฎหมายยืดหยุ่นผู้ถือใบอนุญาตทีวีดิจิทัลเปลี่ยนมือ พร้อมกำกับดูแลการเปลี่ยนผ่าน ต้นทุนโครงข่ายเป็นธรรมหนุนผู้ประกอบการอยู่รอดช่วงเริ่มต้นธุรกิจลงทุนสูง หวังทีวีดิจิทัลเพิ่มทางเลือกสื่อด้าน กสทช.แจงกฎหมายเดิมเปิดทางเปลี่ยนเจ้าของ ชี้กลไกตลาดคัดเลือกผู้ประกอบการหากมีกรณีคืนคลื่นฯ ยันไม่ประมูลใหม่

สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดสัมนาเชิงวิชา “60 ปีโทรทัศน์ระบบอนาล็อกสู่ดิจิทัล” ในโอกาสโทรทัศน์ระบบอนาล็อกออกอากาศครบรอบ 60 ปีในปีนี้ และเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัล วานนี้ (24 ธ.ค.)

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า การจัดประมูลคลื่นความถี่โทรทัศน์ระบบดิจิทัล (ทีวีดิจิทัล) ประเภทธุรกิจ ของ กสทช.ที่ผ่านมาเป็นเรื่องที่ดำเนินการได้ดีเพื่อนำคลื่นความถี่ไปใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล พร้อมทั้งเพิ่มทางเลือกการรับชมทีวี จากการประมูลทีวีดิจิทัล 24 ช่อง เพื่อให้ผู้ชมมีทางเลือกที่หลากหลายเพิ่มขึ้นจากทีวียุคอนาล็อก

หลังจากนี้ กสทช. ยังมีหน้าที่กำกับดูแลกระบวนการเปลี่ยนผ่านทีวีดิจิทัลให้เป็นไปอย่างราบรื่นและส่งเสริมอุตสาหกรรมสื่อทีวีพัฒนารายการให้มีคุณภาพ อย่างไรก็ตามการประกอบกิจการทีวีดิจิทัล ช่วงปีกว่าที่ผ่านมา พบว่ามีผู้ประกอบการประสบปัญหาการดำเนินธุรกิจไม่เป็นไปตามเป้าหมาย รวมทั้งมีคดีฟ้องร้อง กสทช. ในการทำหน้าที่กำกับดูแลการเปลี่ยนผ่านทีวีดิจิทัล

แนะแก้กฎหมายยืดหยุ่นเปลี่ยนมือ
ทั้งนี้ มองว่าแนวทางที่ กสทช.ควรดำเนินการเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิทัลหลังจากนี้ อาจพิจารณาแก้ไข พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2533 ในมาตราที่กำหนดให้การถือครองคลื่นความถี่เป็นสิทธิเฉพาะผู้ได้รับการจัดสรร ห้ามเปลี่ยนมือ ให้กฎหมายมีความยืดหยุ่นมากขึ้นด้วยการเปิดโอกาสให้มีการเปลี่ยนมือได้ ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดและไม่เป็นการผูกขาดตลาดหรือครองคลื่นมากเกินไป

กรณีบริษัทไทยทีวี จำกัด ซึ่งเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตทีวีดิจิทัล 2 ช่อง คือ ช่องวาไรตี้และช่องเด็ก ภายใต้กฎหมายปัจจุบัน หากเปลี่ยนมือเป็นผู้ประกอบกิจการรายใหม่ หรือขายบริษัทให้กับรายใหม่จะต้องดำเนินการทั้ง 2 ช่องพร้อมกัน แต่พบว่าการเจรจาซื้อขายหุ้นมีผู้สนใจลงทุนดิจิทัลทีวีเพียงช่องเดียวทำให้ไม่สามารถดำเนินการเปลี่ยนมือผู้รับใบอนุญาตได้ในกรณีนี้

“หาก กสทช.เห็นว่าในอนาคตอาจเกิดปัญหาการเปลี่ยนมือผู้รับใบอนุญาตทีวีดิจิทัลจากการขายหุ้นบริษัทที่เป็นนิติบุคคลที่ได้รับใบอนุญาตในลักษณะดังกล่าว อาจแก้ไขกฎหมายให้มีความยืดหยุ่น และเปลี่ยนมือได้ตามเงื่อนไขที่ไม่เป็นการผูกขาดตลาด” พ.ร.บ.องค์กรฯเดิมที่กำหนดห้ามเปลี่ยนมือผู้ถือครองคลื่นฯ เพราะขณะนั้นอยู่ในยุคสัมปทานรับจัดสรรต้องดำเนินการเอง แต่ปัจจุบันทีวีดิจิทัล ประเภทธุรกิจได้ผ่านการประมูลไปแล้ว และรัฐได้ประโยชน์จากมูลค่าที่ประมูลคลื่นความถี่ฯมาแล้ว ดังการเปลี่ยนมือระหว่างผู้ประกอบการกันเองจึงสามารถทำได้ตามเงื่อนไข

เร่งกระบวนการเปลี่ยนผ่านทีวีดิจิทัล
นอกจากนนี้ กสทช. มีหน้าที่ต้องสนับสนุนและกำกับการดูแลเปลี่ยนผ่านทีวีดิจิทัล ให้เป็นไปตามประกาศฯต่างๆทั้งการแจกคูปองสนับสนุนครัวเรือนไทยซื้ออุปกรณ์รับชมทีวีดิจิทัล เพื่อทำให้ประชาชนรับชมทีวีดิจิทัลกันมากขึ้น การกำกับผู้รับใบอนุญาตให้ปฎิบัติตามประกาศฯเรียงช่อง เพื่อสนับสนุนให้ผู้รับชมชมได้ง่ายขึ้น ดำเนินการกระบวนการยุติระบบทีวีอนาล็อกให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้เพื่อให้อุตสาหกรรมเปลี่ยนไปสู่ทีวีดิจิทัลเต็มรูปแบบ

รวมทั้งกำกับการดูแลต้นทุนด้านโครงข่ายส่งสัญญาณทีวีดิจิทัล (Mux) ให้เหมาะสมและเป็นธรรม เพื่อส่งเสริมให้ผู้รับใบอนุญาตทีวีดิจิทัล ประคองตัวและอยู่รอดได้ในช่วงเริ่มต้นที่มีภาระทุนสูงและการเปลี่ยนแปลง จากสถานการณ์เศรษฐกิจ ทั้งนี้ เพื่อทำให้การประมูลคลื่นความถี่ “ทีวีดิจิทัล” 24 ช่องใหม่ เป็นสื่อที่สร้างทางเลือกในการรับข้อมูลข่าวสารและสาระบันเทิงให้กับประชาชน

กสทช.แจงกม.เปิดทางเปลี่ยนมือ
พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธาน กสทช. และประธานกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) กล่าวว่ากระบวนการเปลี่ยนผ่านโทรทัศน์อนาล็อกสู่ดิจิทัล ของ กสทช.ยังเป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ โดยเฉพาะการขยายโครงข่ายสามารถดำเนินการได้เร็วกว่าแผนแม่บทและแผนขยายโครงข่าย

ทั้งนี้ในการจัดสรรคลื่นความถี่ทีวีดิจิทัลประเภทธูกิจ ด้วยการประมูล 24 ช่อง ในช่วงปลางปี 2556 กสทช.ได้เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพเข้าสู่การแข่งขันประมูลคลื่นฯ แต่ไม่สามารถรับประกันความสำเร็จของแต่ละช่องได้

สำหรับผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลที่ประสบปัญหาทางธุรกิจและไม่สามารถประกอบกิจการต่อไป ยืนยันว่ากฎหมายปัจจุบันเปิดโอกาสให้เปลี่ยนมือ ขายหุ้น หรือขายกิจการให้ผู้ประกอบการรายใหม่ ภายใต้นิติบุคคลที่ได้รับใบอนุญาตคลื่นความถี่เดิม ที่มีคุณสมบัติไม่ขัดเงื่อนไขผู้ได้รับใบอนุญาต คือ ต้องเป็นผู้ถือหุ้นคนไทย 75% และมีผู้บริหารหรือกรรมการบริการคนไทย 2 ใน 3

“กฎหมายที่กำกับคลื่นความถี่ปัจจุบันเปิดโอกาสให้มีการเปลี่ยนมือเจ้าของ ผู้ถือหุ้นของบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตทีวีดิจิทัลอยู่แล้วแต่รายละเอียดเงื่อนไขการซื้อขายของผู้ประกอบการต้องเจรจาให้ลงตัวกันเองว่าจะดำเนินการรูปแบบใดให้เป็นไปตามกฎหมายที่มีอยู”

กสทช.ยันไม่ประมูลทีวีดิจิทัลใหม่
พ.อ.นที กล่าวอีกว่ากรณีที่ผู้รับใบอนุญาตทีวีดิจิทัล ประสบปัญหาและไม่สามารถประกอบกิจการทีวีดิจิทัลต่อไปได้ รวมทั้งปฏิบัติผิดเงื่อนไขหลักเกณฑ์ และนำไปสู่การเพิกถอนใบอนุญาต หรือเรียกคืนคลื่นฯ ทีวีดิจิทัล หากเกิดกรณีนี้ในอนาคตไม่ว่าจะมีกีช่อง กสทช.จะไม่นำคลื่นฯ ไปประมูลทีวีดิจิทัลใหม่ จนกว่าจะครบอายุใบอนุญาตทีวีดิจิทัล 15 ปีซึ่งแม้จะมีการคืนคลื่นฯ กสทช.ยังได้รับเงินประมูลครบตามจำนวนจากการเรียกเก็บแบงก์ การันตี

ทั้งนี้ เชื่อว่าการประกอบกิจการของทีวีดิจิทัลที่อยู่รอดได้ จะเป็นไปตามกลไกตลาดในอุตสาหกรรมสื่อและโฆษณา ซึ่งขึ้นอยู่กับความสามารถในการสร้างสรรค์เนื่องหารายการของผู้ประกอบการให้มีคุณภาพเพื่อให้มีผู้ชมและรายได้จากโฆษณา

การกำกับดูและผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลให้อยู่รอดในอุตสาหกรรมเป็นแนวทางที่ กสทช.ให้ความสำคัญ ภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ที่ผ่านมาเห็นด้วยกับแนวทางเลื่อนชำระใบอนุญาตทีวีดิจิทัล เนื่องจาวกสถานการณ์หลังประมูลมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านการเมืองและภาวะเศรษฐกิจและส่งผลให้ การประกอบกิจการไม่เป็นไปตามแผน แต่หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องให้ความเห็นว่าไม่สามารถดำเนินการได้
ดังนั้นในการชำระเงินประมูลทีวีดิจิทัลงวดที่ 3 เดือนพ.ค.ปีหน้า หากผู้ประกอบกิจการรวมทั้งอุตสาหกรรมสื่อ ภาคประชาชนขับเคลื่อนให้เกิดแนวทางดังกล่าวผ่านรัฐบาล

“เชื่อว่าหากให้โอกาสผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลเลื่อนจ่ายเงินในช่วงที่ประสบปัญหาทางธุรกิจ และในอนาคตผู้ประกอบการเหล่านี้สามารถอยู่รอดได้จำนวนมาก ภาครัฐและได้ประโยชน์จากการจัดเก็บภาษีในอนาคต”


หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน กรุงเทพธุรกิจ เมื่อ 25 ธันวาคม 2558 ในชื่อ ชงแก้ก.ม.เปลี่ยนมือทีวีดิจิทัล

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด