ปี | 2016-01-07 |
---|
6 ม.ค. ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์และนักวิจัยจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ให้ความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ราคาด้านพลังงานในขณะนี้ ที่ดูเหมือนว่าราคาน้ำมันที่ผู้บริโภคจ่ายที่ปั้มไม่ได้ลดลงมาเร็วมากเหมือนราคาน้ำมันในตลาดโลก ว่าเกิดจากหลายปัจจัย ประการแรกราคาน้ำมันที่ปั้มนั้นประมาณครึ่งหนึ่งเป็นภาษีซึ่งมีเพียงบางส่วนที่ลดลงตามราคาน้ำมัน
ประการที่สอง ตลาดน้ำมันในประเทศไทยไม่ได้เป็นตลาดที่แข่งขันสมบูรณ์ แต่รายใหญ่และรัฐบาลยังมีอิทธิพลในการกำหนดราคาอยู่บ้าง ซึ่งในช่วงราคาน้ำมันขาขึ้น รัฐบาลเองพยายามกดดันไม่ให้ขึ้นเร็ว เช่น โดยการกำหนดราคาอ้างอิงที่มีการการตลาดที่ต่ำลง แต่ในช่วงขาลงก็จะปล่อยค่าการตลาดให้สูงขึ้นทำให้ราคาลดลงช้ากว่า ประการที่สาม ในระยะหลังรัฐบาลพยายามสนับสนุนให้มีการใช้เอทานอลมากขึ้น โดยใช้โครงสร้างภาษีและกองทุนน้ำมันมาทำให้ราคาแก๊สโซฮอล์ที่ปั๊มต่ำกว่าราคาน้ำมันเบนซิน แต่ในขณะเดียวกันก็พยายามรักษาราคาเอทานอลให้สูงโดยอ้างว่าเป็นการช่วยเกษตรกร ที่ผ่านมาราคาแก๊สโซฮอล์หน้าโรงกลั่นก็มักจะสูงกว่าราคาน้ำมันเบนซินอยู่แล้ว และราคาเอทานอลในไทยก็ไม่ได้ลดลงหรือถึงลดก็ไม่มากเท่ากับราคาน้ำมัน ทำให้ในช่วงที่ราคาน้ำมันตลาดโลกลดลง ราคาแก๊สโซฮอล์ ซึ่งปัจจุบันมาแทนที่น้ำมันเบนซินเกือบหมดแล้ว ก็จะลดลงช้ากว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกด้วย
สำหรับการที่บางท่านเอาราคาที่ปั้มน้ำมันของประเทศต่างๆ รวมทั้งของประเทศเพื่อนบ้านมาเปรียบเทียบกับของเรานั้น ต้องเข้าใจว่าไม่สามารถเทียบกันได้โดยตรง เพราะในหลายประเทศภาษีเป็นส่วนสำคัญของราคาน้ำมัน รวมทั้งประเทศไทย ที่เมื่อรวมภาษีน้ำมันและค่าการตลาดแล้ว ราคาที่ปั๊มก็จะสูงกว่าราคาหน้าโรงกลั่นเป็นเท่าตัว ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านของไทยอย่างมาเลเซียเก็บภาษีต่ำกว่าเรามาก ในทางกลับกัน ประเทศที่มีราคาน้ำมันแพงมาก เช่น หลายประเทศในทวีปยุโรป ก็เกิดจากการเก็บภาษีสรรพสามิตในอัตราที่สูง เพราะประเทศเหล่านั้นเห็นว่าการใช้พลังงานจากน้ำมันก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นมลพิษไปจนถึงโลกร้อน ขณะที่ของไทยเองนั้น สาเหตุหนึ่งที่ภาษีน้ำมันถูกเก็บในอัตราที่สูงเพราะเป็นภาษีที่เป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของรัฐด้วย
หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน มติชนออนไลน์ เมื่อ 7 มกราคม 2559 ในชื่อ “ดร.วิโรจน์” วิเคราะห์ ทำไมราคาน้ำมันลดลงไม่สุด?