แนะรื้อค่าฟีสะท้อนต้นทุนแบงก์

ปี2016-01-25

ศรัณย์ กิจวศิน

ความพยายามในการปรับโครงสร้างการคิดค่าธรรมเนียม(ค่าฟี) ของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบไม่ใช่เพิ่งจะ เริ่มมีในสมัยของ “วิรไท สันติประภพ”ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ “แบงก์ชาติ” คนปัจจุบัน เพราะเรื่องนี้ เริ่มมาตั้งแต่สมัยของ ผู้ว่าการแบงก์ชาติ คนที่ 18 “ธาริษา วัฒนเกส” ซึ่งขณะนั้นได้ว่าจ้างหลายหน่วยงานเข้ามาศึกษาถึง “โครงสร้าง” และ “ต้นทุน” ที่แท้จริง ของค่าธรรมเนียมที่ธนาคารพาณิชย์ คิดกับลูกค้า แม้ผลศึกษาของหลายหน่วยงานจะออกมาชัดเจนว่า โครงสร้างค่าธรรมเนียมที่คิดอยู่มีการ “บิดเบือน” ไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง แต่ก็ “ยาก” ที่จะ “รื้อ”โครงสร้างใหม่ทั้งระบบ ..ในสมัยของ “ธาริษา” รวมทั้งสมัยของ ผู้ว่าการแบงก์ชาติคนที่ 19 “ประสาร ไตรรัตน์วรกุล”จึงทำได้เพียง ขอความร่วมมือให้ธนาคารพาณิชย์ลดค่าธรรมเนียมในบางส่วนลง

มาในยุคของผู้ว่าการแบงก์ชาติ คนปัจจุบัน แผนการปรับรื้อโครงสร้างค่าธรรมเนียมของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบ จัดอยู่ในความสำคัญลำดับต้นๆ อยู่ที่ว่าแรง “ผลัก” จากทางแบงก์ชาติ ตลอดจนแรง “หนุน” จากธนาคารพาณิชย์ที่มีต่อเรื่องนี้เป็นอย่างไร

DSC01798
ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง ทีดีอาร์ไอ

สมชัย จิตสุชน” ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) หนึ่งในผู้ที่เคยศึกษาโครงสร้างต้นทุน ค่าธรรมเนียมของธนาคารพาณิชย์เล่าให้ “กรุงเทพธุรกิจ” ฟังว่า ความพยายามในการปรับรื้อโครงสร้างค่าธรรมเนียมทั้งระบบ เพื่อสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ทำมาแล้วเกือบจะ 10 ปี แต่ความร่วมมือยังมีไม่มากนัก แม้ธนาคารพาณิชย์บางแห่งจะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ แต่บางธนาคารกลับไม่ให้ความร่วมมือเลย

อย่างไรก็ตาม เท่าที่ติดตาม ความคืบหน้าล่าสุด พบว่า ความพยายามในรอบนี้ดูจะเอาจริงเอาจัง มากขึ้น ธนาคารพาณิชย์ที่เคยคัดค้าน ในเรื่องดังกล่าว มุมคิดก็อาจจะเปลี่ยนไป จึงต้องติดตามดูว่า ความพยายามครั้งนี้จะประสบผลสำเร็จหรือไม่

สมชัย บอกว่า โครงสร้างค่าธรรมเนียมที่ธนาคารพาณิชย์ คิดกับลูกค้าอยู่ในปัจจุบัน ถือว่ามีการบิดเบือนอย่างมาก โดยเฉพาะธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับ “กระดาษ” ซึ่งมีต้นทุน ที่สูงมาก เช่น เช็ค โดยต้นทุนเฉลี่ย สูงราว 60-70 บาทต่อฉบับ แต่ธนาคารพาณิชย์คิดกับลูกค้าเพียง 15 บาท ต่อฉบับเท่านั้น “ต้นทุนการใช้เช็คที่เคยคำนวณเมื่อหลายปีที่ผ่านมาสูงมาก เพราะกระบวนการมีเยอะไม่ใช่แค่ค่าพิมพ์เช็คอย่างเดียว แต่ยังมีค่าเวลาในการเขียนเช็ค คนเขียนเช็คบางทีเป็นซีอีโอ ต้องมาเสียเวลากับการเขียนเช็ค ถ้าคำนวณเป็นค่าเสียเวลาถือว่าเยอะมาก แต่ถ้าปรับเป็นอิเล็กทรอนิกส์ ก็สามารถเซ็นออกมาเป็นแพ็คได้ เช่น มีรายการที่ต้องจ่ายออก 100 รายการ ก็สามารถเซ็นอนุมัติเพียงครั้งเดียว แทนที่ซีอีโอต้องมาคอยเซ็นทั้ง 100 รายการ”

นอกจากนี้ยังมีต้นทุนการขนส่งอีก เพราะการซื้อเช็คก็ต้องเดินทางไป ซื้อที่ธนาคารพาณิชย์ เมื่อซื้อเสร็จแล้วเขียนเช็คจ่ายออกไป ก็มีค่าขนส่งอีก และยังมีต้นทุนต่างๆ ที่ซ่อนอยู่โดยที่ไม่รู้ตัวอีกมาก รวมๆ แล้วต้นทุนจึงเฉลี่ยที่ 60-70 บาทต่อฉบับ

สมชัย บอกว่า หากต้องการลดการใช้เช็คจริง ธนาคารพาณิชย์ก็ควรชาร์ตกับลูกค้าไปเลยฉบับละ 60 บาท เพื่อบีบให้ลูกค้าหันมาใช้ช่องทางอื่นแทน โดยปัจจุบันก็มีเรื่องของเช็คด้วยภาพ (ICAS) เข้ามาช่วย

“ที่ผ่านมา โครงสร้างยังบิดเบี้ยว กลายเป็นว่าธุรกรรมที่ผ่านอิเล็กทรอนิกส์แพง อย่างพวกหักบัญชีอัตโนมัติ แบงก์เรียกเก็บอยู่ที่ 10-12 บาทต่อรายการ แต่ต้นทุนจริงๆ แค่ 1 บาทกว่าๆ และเขาเองก็ไม่ยอมลดราคา เพราะอ้างว่ามีต้นทุนโน่นนี่ ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์อย่างผมบอกว่าไม่จริง”

สมชัย บอกว่า ข้อเสนอที่เคยส่งให้แบงก์ชาติในสมัยที่เขาทำการศึกษาเรื่องนี้ คือ ควรเก็บค่าธรรมเนียมการเงินสดด้วย โดยเฉพาะห้างสรรพสินค้าหรือซูเปอร์มาร์เก็ตที่รับเงินสด ปัจจุบันห้างค้าเหล่านี้รับเครดิตการ์ด แต่ยังไม่รับเดบิตการ์ดเท่าไร

“ผมเคยอยู่แคนาดา ที่โน่นเวลาจ่ายเงินเขาจะถามทันทีว่ามีเดบิตการ์ดหรือไม่ เขาจะไม่ค่อยรับเงินสด เพราะเขามีต้นทุนที่ต้องนำเงินไปฝากแบงก์ หรืออย่างการกดเงินสดจากตู้เอทีเอ็มก็จะมีค่าธรรมเนียม ทำให้คนไม่อยากใช้เงินสดเท่าไร” สำหรับห้างร้านของไทยแตกต่างออกไป จะรับเงินสดไว้ก่อนแล้วก็เอาเงินสดมากองเป็นตั้ง หลังจากนั้นแบงก์พาณิชย์ก็จะมีบริการส่งรถมาขนโดยที่ไม่คิดเงิน ซึ่งพวกนี้เป็นต้นทุนของแบงก์เอง แต่แบงก์กลับไปรับภาระแทน ในมุมกลับกันหากแบงก์คิดค่าธรรมเนียมส่วนนี้ ก็จะทำให้ห้างร้านต่างๆ พยายามขอให้ลูกค้าใช้บัตรเดบิตในการชำระเงินแทน ของพวกนี้จึงต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย

สมชัย บอกด้วยว่า การกดเงินสดจากตู้เอทีเอ็มก็เช่นกัน ธนาคารพาณิชย์มีต้นทุนที่สูงมากในส่วนนี้ ก็ควรคิดค่าธรรมเนียมด้วย โดยอาจคิดกับลูกค้าที่กดเงินคราวละมากๆ ก็ได้ ซึ่งหากธนาคารพาณิชย์เหล่านี้คิดค่าธรรมเนียมตามต้นทุนที่แท้จริง จะทำให้ต้นทุนในส่วนของอิเล็กทรอนิกส์ถูกลงมาก และจะเป็นการสนับสนุนนโยบายอีเพย์เม้นท์ของทางรัฐบาลด้วย

หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกใน กรุงเทพธุรกิจ เมื่อ 25 มกราคม 2559 ในชื่อ ‘ทีดีอาร์ไอ’ดันรื้อค่าฟีสะท้อนต้นทุนแบงก์