‘ลดก๊าซเรือนกระจก’ ปัญหาระดับโลก สู่วาระชาติ

ปี2016-01-14

ปริญญารัตน์ เลี้ยงเจริญ
นักวิจัยอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

กระแสตื่นตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกิดเป็นประเด็นดึงความสนใจจากทั่วโลกขึ้นมาอีกครั้ง หลังการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 21 (Conference of Parties : COP21) ที่มีขึ้น ณ กรุงปารีสประเทศฝรั่งเศส เมื่อปลายปีที่ผ่านมา สิ้นสุดลง

ความน่าสนใจที่ถูกหยิบมากล่าวถึง คือความก้าวหน้าในการมีส่วนร่วมของนานาชาติทั้งประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา รวม 195 ประเทศ ในการจัดทำร่างข้อตกลงลดการปล่อยก๊าซ เรือนกระจก และการจัดการผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมการติดตามผลทุกๆ 5 ปี จากเดิม ที่ผ่านมาการจัดทำข้อตกลงในการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญานี้ จะเป็นการตกลงและสร้างข้อผูกพันเฉพาะกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว หรือกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม ร่วมกันวางเป้าหมายเท่านั้น

ย้อนกลับไป สนธิสัญญาระหว่างประเทศฉบับแรกเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มีขึ้นครั้งแรกนับตั้งแต่การประชุม รัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 3 หรือ COP3 ณ นครเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เป็นที่มาของพิธีสารเกียวโต ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2548 กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วได้ตกลงกันร่วมกำหนดเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงประมาณร้อยละ 5 ภายในปี 2555 ก่อนที่จะขยายเวลาไปจนถึงปี 2563 แต่หลังจากนั้น การแสดงเจตจำนงค์ความพยายามลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกระหว่างประเทศผ่านการประชุม COP ก็ได้ไม่มีความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ จนมาถึงการประชุม COP17

การประชุม COP17 ประเทศภาคีสมาชิกได้ส่งสัญญาณเร่งขับเคลื่อนการ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้บรรลุ เป้าหมายตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ โดยการให้ความคำนึงถึงหลักความเสมอภาค หลักความรับผิดชอบร่วมกัน จึงเป็นครั้งแรก ที่มีแนวคิดให้ประเทศกำลังพัฒนาดำเนินมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ร่วมด้วย และประเทศพัฒนาแล้วต้องสนับสนุนด้านการเงิน เทคโนโลยี รวมถึงเสริมสร้างศักยภาพบุคลากรแก่ประเทศกำลังพัฒนา เพื่อสนับสนุนกิจกรรมด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในมิติต่างๆ

แนวคิดดังกล่าวเป็นการปูทางมาสู่การประชุม COP21 ที่ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมและการแสดงความตั้งใจลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร่วมกันของประเทศที่พัฒนาแล้ว และกำลังพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม โดยตกลงกันว่าทุกประเทศจะลดผลกระทบจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงเกิน 2 องศาเซลเซียสตามแผนดำเนินงานของแต่ละประเทศที่จะแตกต่างกันไปตามลักษณะทางภูมิศาสตร์ โครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม มากไปกว่านั้น ความตกลงนี้ยังกำหนดให้มีการติดตามและรายงานผลดำเนินงานความก้าวหน้าทุกๆ 5 ปี ทำให้ทุกประเทศต้องมีความชัดเจนว่าจะสามารถลดได้จริงตามที่กำหนดเป้าหมายไว้

ส่วนกลไกสนับสนุนกิจกรรม เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศ กำลังพัฒนา ประเทศที่พัฒนาแล้วจะถ่ายทอดและการพัฒนาเทคโนโลยี และมอบเงินทุนสนับสนุนผ่าน กองทุนภูมิอากาศที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Climate Fund) โดยจะมีเงินสนับสนุนให้จำนวนหนึ่งแสนล้านดอลลาร์ภายในปี 2563 และอาจ เพิ่มขึ้นในอนาคต ภายใต้เงื่อนไขว่า ประเทศกำลังพัฒนาต้องจัดทำเอกสาร ข้อเสนอโครงการขอรับการสนับสนุนกิจกรรมของตน ที่จะมุ่งสู่การลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่บรรยากาศ ให้เหลือเป็นศูนย์

สำหรับประเทศไทย ได้มีการเตรียมความพร้อมโดยศึกษาความเป็นไปได้ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสม สำหรับประเทศเพื่อพร้อมสู่การรับข้อตกลงและแสดงเจตจำนงค์ในการประชุม COP21 ซึ่งได้ส่งเป้าหมายการดำเนินงานของประเทศในระดับมุ่งมั่น (Intended Nationally Determined Contributions: INDCs) ไปเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยจะลดก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 20 นับตั้งแต่ปี 2543-2573 และจะลดก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นได้ ถึงร้อยละ 25 หากได้รับการสนับสนุนระหว่างประเทศในด้านการถ่ายทอดความรู้ และ เงินทุน

เมื่อลงลึกในรายละเอียด แผนการดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทยนั้น เน้นการลดการปล่อยก๊าซ เรือนกระจกในภาคพลังงานและขนส่งที่ต้องดำเนินการอยู่แล้ว ตามที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ได้แก่ แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าปี 2558-2579 แผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) ปี 2558-2579 แผนอนุรักษ์พลังงานปี 2558-2579 แผนพลังงานทดแทนพลังงานทางเลือกปี 2558-2579 และแผนแม่บทในการพัฒนาระบบการขนส่งที่ยั่งยืน และลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

แผนทั้งหมดมีการดำเนินการในทางปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่อง เช่น การพัฒนา และการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน เพื่อผลิตไฟฟ้าและเป็นเชื้อเพลิงที่ใช้ พลังงานจากพืช การเชื่อมต่อแหล่งผลิต ไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเข้ากับระบบ โครงข่ายไฟฟ้าได้อย่างมีเสถียรภาพและมีประสิทธิภาพ การปรับเปลี่ยนเทคโนโลยี ในกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อ สิ่งแวดล้อม การส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและการประหยัดพลังงาน เช่น การปรับปรุงมาตรฐานอาคารและการพัฒนาเมืองไปสู่เมืองคาร์บอนต่ำ ไฟฟ้าอัจฉริยะ รวมทั้งการพัฒนาเครื่องมือ เพื่อจูงใจให้ดำเนินกิจกรรมที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

นอกจากนี้มีการดำเนินงานของภาคเอกชนและภาคประชาสังคมที่ให้ความสำคัญกับกิจกรรมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างแพร่หลาย ดังนั้น ท่ามกลางแนวโน้มประเทศกำลังพัฒนาที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มสูงขึ้น การเข้าร่วมเดินหน้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการประชุม COP21 จะเป็นทั้งเป้าหมายหลักและกำลังเสริม ให้ไทยลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพ ภูมิอากาศอย่างยั่งยืน แต่ผู้เกี่ยวข้อง ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันอย่างจริงจังในการดำเนินกิจกรรมการลดการปล่อยก๊าซ เรือนกระจกตามแผนที่ประเทศกำหนดไว้ เพื่อพาประเทศบรรลุเป้าหมายไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงเกิน 2 องศาเซลเซียส ตามกรอบเวลาที่ร่วมตกลงไว้ในเวทีโลก

———

พิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 14 มกราคม 2559 ใน คอลัมน์: วาระทีดีอาร์ไอ:  ‘ลดก๊าซเรือนกระจก’ ปัญหาระดับโลก สู่วาระชาติ