ทีดีอาร์ไอ เผยผลโกงกินผ่าน ‘โครงสร้างพื้นฐาน’ กัดกร่อนประเทศหนักสุด

ปี2016-01-21

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

การคอร์รัปชั่นผ่านโครงสร้างพื้นฐานส่งผลร้ายต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมากสุด ทีดีอาร์ไอแนะภาครัฐและเอกชนควรปรับเปลี่ยนมุมมองเรื่องคอร์รัปชั่น ป้องกันความเสียหายด้านงบประมาณและฉุดรั้งเศรษฐกิจในระยะยาวของประเทศ  

คนจำนวนไม่น้อยเชื่อว่า ‘การคอร์รัปชั่น’ อย่างการจ่ายสินบน ให้สินน้ำใจตอบแทนเจ้าหน้าที่ การเอื้อประโยชน์แก่ญาติหรือพรรคพวก การใช้ช่องโหว่ทางกฎหมายเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ ช่วยทำให้ระบบเศรษฐกิจไหลลื่นและเติบโตได้ และคิดไปว่าการปราบปรามคอร์รัปชั่นอย่างเข้มงวดเป็นตัวฉุดรั้งไม่ให้เศรษฐกิจเดินหน้าได้อย่างเต็มที่ หรือกล่าวได้ว่า ‘เห็นดีเห็นงาม’ กับแนวคิด ‘โกงแล้วโต’

งานศึกษาของ ดร.พรเทพ เบญญาอภิกุล และ ดร.ธร ปีติดล เรื่อง “คอร์รัปชั่นกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ” ภายใต้โครงการ “การยกระดับการขยายตัวทางเศรษฐกิจระยะยาวของไทย” พบว่า การคอร์รัปชั่นส่งผลลบโดยตรงต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การคอร์รัปชั่นผ่านโครงสร้างพื้นฐาน การคอร์รัปชั่นผ่านความไร้เสถียรภาพทางการเมือง และ การคอร์รัปชั่นผ่านการลงทุนภาคเอกชน คือ การคอร์รัปชั่น 3 ช่องทางที่ส่งผลร้ายต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยมากที่สุด  และเป็นบทพิสูจน์ว่า ‘โกงแล้วไม่โต’

IMG_9695
ดร.พรเทพ เบญญาอภิกุล

การคอร์รัปชั่นผ่านโครงสร้างพื้นฐานเป็นส่วนสำคัญในการฉุดรั้งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เนื่องจากการคอร์รัปชั่นไม่เพียงทำให้ปริมาณของโครงสร้างพื้นฐานหรือสินค้าสาธารณะลดลงเท่านั้น แต่ยังทำให้คุณภาพของโครงสร้างพื้นฐานต่ำลงด้วย เพราะการลงทุนไม่มีประสิทธิภาพ ทรัพยากรในการลงทุนถูกผันไปเพื่อการอื่น อีกทั้งเงื่อนไขในการให้ประมูลหรือการให้สัมปทาน ต้องได้ราคาต่ำควบคู่กับคุณภาพที่ดี แต่จากหลายกรณีที่ผ่านมา ภาครัฐมักจะ “ล็อกสเปก” โดยจัดประกวดราคาที่มีข้อจำกัดทางการแข่งขันและมักเอื้อสิทธิประโยชน์เหนือคู่แข่งอื่นแก่ผู้ประกอบการที่ใกล้ชิดกับรัฐบาลทำให้เกิดการผูกขาดสัมปทานขึ้น

การทุจริตนี้ส่งผลให้เกิดความไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ค่าใช้จ่ายของรัฐแพงเกินกว่าความเป็นจริง และสร้างปัญหาหนี้สาธารณะตามมา ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ กรณีคลองด่าน ที่มีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่โครงการและรูปแบบระบบบำบัดน้ำเสียเพื่อเอื้อประโยชน์แก่บริษัทรายเดียวที่มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไข ส่งผลให้รัฐสูญเสียงบประมาณเปล่าไปกว่า 23,000 ล้านบาท โดยที่ระบบบำบัดน้ำเสียก็ไม่เกิดขึ้น  ปัญหาน้ำเสียในจังหวัดสมุทรปราการจึงไม่ได้รับการแก้ไข รวมถึงยังเบียดเบียนงบประมาณในส่วนอื่นเพิ่มขึ้นเพื่อนำมาใช้ในการบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานด้วย

thorn
ดร.ธร ปีติดล

ส่วน‘การคอร์รัปชั่นผ่านการลงทุนภาคเอกชน’ ส่งผลร้ายต่อแรงจูงใจในการลงทุนของภาคเอกชน ทำให้เกิดความไม่เชื่อมั่นในการรักษาสัญญาทางธุรกิจของภาครัฐ ผลที่ตามมา คือ นักลงทุนหลีกเลี่ยงหรือย้ายฐานการผลิต อีกทั้งภาคเอกชนบางกลุ่มยังใช้ทรัพยากรเพื่อการลงทุนไปกับการหาช่องทางทุจริตหรือช่องทางลัดขั้นตอนมากกว่าลงทุนเพื่อพัฒนาศักยภาพในการผลิตและการแข่งขัน เช่น จ่ายสินบนให้แก่ข้าราชการระดับสูงที่มีหน้าที่ตรวจสอบ หาช่องทางและเครือข่ายผ่านนักการเมืองเพื่อให้ได้ผลประโยชน์ จึงถือได้ว่าเป็นการลงทุนที่ไม่ได้เกิดผลทางการผลิตและเพิ่มขีดความสามารถอย่างแท้จริง

ในอีกด้านหนึ่ง รัฐเองก็มีส่วนในการสร้างกลไกที่เอื้อต่อการคอร์รัปชั่นด้วย เช่น เมื่อเจ้าหน้าที่ ข้าราชการ หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเห็นช่องทางในการได้มาซึ่งผลประโยชน์และอำนาจก็อาจมีแรงจูงใจในการสร้างกฎเกณฑ์การทุจริตจนกลายเป็นว่า ‘ไม่จ่ายไม่ทำ’ ส่งผลให้จำนวนของการคอร์รัปชั่นเพิ่มขึ้น

เห็นได้จากข้อมูลผลสำรวจความเสียหายจากการทุจริตที่ประเมินจากงบประมาณจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยราชการ โดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่า ในปี พ.ศ. 2542 หน่วยงานราชการหรือรัฐวิสาหกิจที่นักธุรกิจต้องจ่าย ‘เงินพิเศษ’ เพื่อให้ได้สัญญาเฉลี่ยต่อปีสูงสุด คือ กรมศุลกากร เช่นเดียวกับหน่วยงานรัฐที่ผู้มาติดต่อมักถูกเรียกร้องสินบนบ่อยครั้ง คือ สำนักงานที่ดิน และในปี พ.ศ. 2558 ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจกับภาครัฐต้องจ่ายเงินพิเศษคิดเป็นร้อยละ 1-15% ของงบประมาณ ลดลงจากช่วงปี พ.ศ. 2553-2556 ที่ต้องจ่ายเงินพิเศษสูงถึงร้อยละ 25-35% ของงบประมาณ

นอกจากนี้ การคอร์รัปชั่นยังมีผลให้เกิดความไม่แน่นอนทางการเมืองในรูปของจำนวนครั้งของการทำหรือพยายามทำรัฐประหาร  ซึ่งมีผลต่อเนื่องไปถึงอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เพราะความไม่แน่นอนทางการเมืองทำให้นโยบายรัฐขาดความต่อเนื่อง รัฐอาจขาดโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจ ความสามารถในการชำระหนี้ลดต่ำลง กิจกรรมและธุรกรรมทางการเงินชะลอตัว การลงทุนต้องจ่ายค่าความเสี่ยงในความไม่แน่นอนทางการเมือง อีกทั้งยังบั่นทอนความน่าเชื่อถือของผู้บริโภคและนักลงทุนมากยิ่งขึ้น

เมื่อประเมินผลกระทบของการคอร์รัปชั่นในไทยผ่าน 3 ช่องทางหลักข้างต้น พบว่า การคอร์รัปชั่นผ่านโครงสร้างพื้นฐานส่งผลลบต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมากที่สุดเมื่อเทียบกับอีกสองช่องทางที่เหลือ การทุจริตผ่านโครงสร้างพื้นฐานลดอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจลงถึง 43.7% ส่วนการคอร์รัปชั่นผ่านความไร้เสถียรภาพทางการเมือง และการลงทุนภาคเอกชนลดอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็น 8.2% และ 7.7% ตามลำดับ แต่อย่างไรก็ตามมายาคติ ‘โกงแล้วโต’ เป็นแนวคิดที่ก่อเกิดประโยชน์ในระยะสั้นและกับกลุ่มคนเพียงกลุ่มเดียวที่มีอำนาจในการเข้าถึงทรัพยากรเท่านั้น

ในทางที่ดี ทั้งภาครัฐและเอกชนควรปรับเปลี่ยนมุมมองต่อเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่นไม่ว่าเป็นสีขาว สีเทาหรือสีดำ ที่ฝังรากลึกในสังคมให้กลายเป็นสิ่ง ‘รับไม่ได้’ และ ‘การโกงไม่ได้ทำให้ใครโต’ เพราะผลร้ายคือความเสียหายมูลค่าหลายแสนล้านบาทและฉุดรั้งเศรษฐกิจในระยะยาวของประเทศให้ย่ำอยู่กับที่


โครงการ “โมเดลใหม่ในการพัฒนาประเทศ” โดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้วิจัยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ภายใต้การสนับสนุนของธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อแสวงหาหนทางหลุดพ้นจาก “กับดัก” ของการพัฒนา ไปสู่การเติบโตที่มีคุณภาพ