‘Inclusive Growth’ ทางลดความเหลื่อมล้ำที่เป็นไปได้

ปี2016-01-28

ธานี ชัยวัฒน์
พลอยไพลิน ถิ่นกาญจน์
ก้องภพ วงศ์แก้ว

ในอดีตทุกประเทศในโลกให้ความสำคัญกับการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นหลัก โดยให้ความสำคัญกับมิติอื่นๆ ไม่มากเท่าที่ควร แต่เนื่องจากการเติบโต นั้นส่งผลให้เกิดผลกระทบภายนอก (Externalities) ต่อการพัฒนา ทั้งด้านบวกและลบ เช่น คุณภาพ ของระบบสาธารณสุขอาจจะดีขึ้น แต่สิ่งแวดล้อมอาจจะแย่ลง

เมื่อการเติบโตสูงขึ้นจนถึงระดับหนึ่ง ความกินดีอยู่ดีของประชากรดีขึ้น พร้อมๆ กับผลภายนอกในมิติอื่นๆ ที่เข้าสู่ระดับวิกฤติ แนวทางการพัฒนา จึงหันมาให้ความสนใจกับมิติอื่นๆ มากขึ้น เช่น การเติบโตสีเขียว (Green Growth) ที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม หรือการเติบโตที่ให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของแรงงาน

“ความเหลื่อมล้ำ” (Inequality) เป็นอีกมิติหนึ่งที่สำคัญมากซึ่งได้รับผลกระทบภายนอกจากการเติบโต แม้ว่างานวิจัยของนักเศรษฐศาสตร์บางกลุ่มจะชี้ว่าการเติบโตอาจจะทำให้ความเหลื่อมล้ำ สูงขึ้นในช่วงแรก แต่ก็จะทำให้ลดลงในช่วงเวลาต่อไป ดังนั้นการที่ความเหลื่อมล้ำสูงขึ้น เมื่อประเทศมุ่งการเติบโตจึงเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ แต่ในความเป็นจริงการเติบโตที่สูงขึ้นนั้นทำให้ความเหลื่อมล้ำสูงขึ้นมาเป็นเวลานาน และยังแทบจะไม่มีแนวโน้ม ลดลง

อย่างไรก็ตาม การรื้อสร้างความ เหลื่อมล้ำให้เกิดความเท่าเทียมในสังคมนั้นจึงทำได้ยากมาก เพราะการมีความเหลื่อมล้ำ มันหมายความว่าการที่คนในสังคมเป็นเจ้าของทรัพยากรที่แตกต่างกัน และเจ้าของทรัพยากรเหล่านั้นจะทำหน้าที่ขัดขวางการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม เพราะพวกเขาไม่ต้องการสูญเสียทรัพยากรหรือสถานะของตนเองไป นี่เป็นเหตุผลเดียวกันกับการปฏิรูปภาษีที่โยกย้ายทรัพยากรจากคนที่รวยกว่าไปยังจนกว่าให้สูงขึ้นเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในประเทศหนึ่งๆ ทำได้ยากมาก
เมื่อเป็นเช่นนี้ ธนาคารโลกต้องการลดความเหลื่อมล้ำในสังคมจึงเสนอแนะ แนวทางที่มีความเป็นไปได้มากขึ้น นั่นคือ “การเติบโตอย่างมีส่วนร่วม” (Inclusive Growth) ซึ่งหมายถึงการเติบโตที่ก่อให้เกิดการแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกัน และสร้างโอกาสอย่างเสมอภาคกันระหว่างคนทุกกลุ่มในสังคมที่ดีขึ้น การสร้าง ผลประโยชน์ร่วมกันจะรับประกันให้เกิดการกระจายตัวของผลประโยชน์จากการเติบโต และการสร้างโอกาสอย่างเสมอภาคจะรับประกันจุดเริ่มต้นที่เท่าเทียมกัน ส่งผลให้เกิดความร่วมมือของคนในสังคม และเป็นแนวทางให้คนในสังคมมีความหวังกับอนาคตร่วมกัน

งานวิจัยเรื่อง “การเติบโตอย่างมี ส่วนร่วมของไทย” โครงการ “โมเดลใหม่ ในการพัฒนาเศรษฐกิจไทย (New Development Model)” ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และธนาคารแห่งประเทศไทย ตอบคำถามว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่จะช่วยสร้างการเติบโตอย่างมีส่วนร่วมให้เกิดขึ้นได้ โดยใช้ข้อมูลรายจังหวัด พบว่ามีปัจจัยที่สำคัญอยู่ 4 ด้านที่จะช่วยให้การเติบโตของไทยก่อให้เกิดความเท่าเทียมกันมากขึ้น

ด้านแรกคือ ภาคการเงิน โดยเฉพาะประเด็นเรื่อง การเข้าถึงสินเชื่อการประกอบการ หรือการลงทุนของคนยากจน เพราะสินเชื่อเป็นการรับประกันทั้งผลประโยชน์และโอกาสที่ เกิดจากการลงทุน หากสินเชื่อมีการกระจุกตัว เฉพาะคนรวย การเติบโตทางเศรษฐกิจที่อาศัยทุนเป็นใหญ่ก็ย่อมกระจุกตัวเฉพาะคนรวยเช่นกัน

ด้านที่สองคือ ภาคแรงงาน โดยเฉพาะประเด็นการทำงานในระบบของแรงงาน กล่าวคือการที่แรงงานต้องมีหลักประกันในการทำงานที่ดี เช่น การเป็นแรงงานในระบบ หรือการเข้าสู่ระบบประกันสังคม เนื่องจากหลักประกันเป็นรูปแบบหนึ่งของการเติบโตที่ดีขึ้นไปพร้อมๆ กัน ทั้งแรงงานและนายทุน

ด้านที่สามคือ ภาคการพัฒนา ซึ่งเน้นไปที่ความสมดุลของการพัฒนาระหว่างเมือง และชนบท หากการพัฒนามีความแตกต่าง กันมาก จะทำให้เกิดการอพยพของแรงงานเข้ามาทำงานในเมือง และเกิดการเอารัด เอาเปรียบ แทนที่แรงงานจะได้ทำการผลิต ในภูมิลำเนาของตนเอง และสามารถสร้างรายได้จากความถนัด ความคุ้นชินและทรัพยากรที่มีอยู่ ทำให้แรงงานกลายเป็นปัจจัยการผลิตที่สร้างการเติบโตให้กับนายทุน

ด้านสุดท้ายคือ ภาคการเมือง โดยนโยบายทางการเมืองต้องไม่เป็นลักษณะของการอุดหนุน แม้ว่าการอุดหนุนจะช่วยให้คนจนมีรายได้สูงขึ้น แต่ก็ไม่ใช่เป็นการแบ่งปันผลประโยชน์ รวมทั้งยังไม่ใช่การสร้างโอกาสให้มีความเสมอภาคมากขึ้นอีกด้วย นโยบายที่ดี จึงควรมีลักษณะเป็นการยกระดับคุณภาพแรงงานและสร้างประสิทธิภาพในการผลิต ซึ่งอาจจะไม่ทันใจในการลดความเหลื่อมล้ำเท่ากับการอุดหนุน แต่จะ ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมในการเติบโต ในระยะยาว

กล่าวโดยสรุป การเติบโตอย่างมี ส่วนร่วมเป็นแนวคิดในการสร้างสังคมแห่งการพัฒนาที่ดีในระยะยาว โดยสังคมสามารถสร้างได้ด้วยการสร้างระบบ การเงินที่เปิดโอกาสให้คนจน การมี หลักประกันแรงงานที่ครอบคลุม การพัฒนาเมืองและชนบทที่สมดุล และการเมืองที่หวังผลระยะยาว แม้ว่าการสร้างการมีส่วนร่วมจะทำได้ไม่ง่ายนักในหลายประเทศ แต่ความหวังของการมีการเติบโตเช่นนี้ก็คงไม่ยากเกินไปสำหรับประเทศไทย

——–

พิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 28 มกราคม 2559 ใน คอลัมน์: วาระทีดีอาร์ไอ: ‘Inclusive Growth’ ทางลดความเหลื่อมล้ำที่เป็นไปได้