ทีดีอาร์ไอ เสนอวาระเริ่มปีใหม่ ‘ยกระดับคนขับ-คนใช้รถตู้สาธารณะ’

ปี2016-01-05

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

ทีดีอาร์ไอเสนอวาระเริ่มต้นปีใหม่ ต้องยกระดับการให้บริการและคุณภาพรถตู้สาธารณะ พร้อมชวนให้ผู้ใช้บริการใส่ใจความปลอดภัยมากขึ้น จากผลการศึกษาความพึงพอใจด้านการบริการและคุณภาพของรถตู้สาธารณะในปีที่ผ่านมา พบจำนวนรถตู้เพิ่ม สวนทางกับคุณภาพและความปลอดภัย สถิติชี้ชัดครองแชมป์การเกิดอุบัติเหตุ ตัวเลขพุ่งสูงร้อยละ 41 และมีผู้เสียชีวิต 297 ราย ซ้ำ ผู้ใช้บริการเน้นถูก เร็ว สะดวก ละเลยความปลอดภัย ด้านภาครัฐขาดการติดตามผลนโยบาย นักวิจัยแนะทางแก้ ทุกฝ่ายต้องพัฒนาคุณภาพความปลอดภัยร่วมกันตามเป้าทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน

ประเทศไทยวางเป้าหมายทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนนไว้ในระหว่างปี 2554-2563 ที่ต้องลดอัตราการเสียชีวิตทางถนนให้ต่ำกว่า 10 คน ต่อแสนคนในปี 2563 แต่ผลสำรวจจากโครงการวิจัย “การประเมินคุณภาพการให้บริการและความปลอดภัยของระบบรถโดยสารสาธารณะ” ของทีดีอาร์ไอ พบว่า ในช่วงเดือนมกราคม 2557- มิถุนายน 2558 สถิติการเกิดอุบัติเหตุของรถตู้โดยสารสาธารณะสูงขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 41 ทั้งยังสร้างความสูญเสียในชีวิตและร่างกายสูงสุดเมื่อเทียบกับรถโดยสารสาธารณะประเภทอื่น เฉลี่ยมีผู้บาดเจ็บประมาณ 27 รายต่อเดือน และมีผู้เสียชีวิตสูงถึง 9 รายต่อเดือน

เนื่องจากความต้องการของผู้ใช้บริการรถตู้โดยสารสาธารณะเพิ่มขึ้นมาก ทำให้จำนวนรถตู้โดยสารสาธารณะเพิ่มขึ้นและเส้นทางการเดินรถก็ขยายทั่วประเทศ ส่งผลให้จำนวนอุบัติเหตุเพิ่ม อีกทั้งนโยบายผ่อนปรนของรัฐที่ผ่านมา เช่น เดิมอนุญาตให้รถตู้ที่จดทะเบียนเป็นรถโดยสารประจำทางระหว่างจังหวัด 1 คัน เปลี่ยนเป็นรถตู้โดยสารระหว่างจังหวัดได้ 3 คัน หรือกำหนดให้รถตู้ที่ไม่ได้รับอนุญาตสามารถให้บริการได้อย่างถูกกฎหมายด้วยการเดินรถร่วมกับองค์การขนส่งมวลชน (ขสมก.) และบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) แต่มาตรการกำกับดูแลรถตู้โดยสารสาธารณะที่มากขึ้นนั้นยังหละหลวม ขาดกลไกในการประเมินผลมาตรการ และติดตามการบังคับใช้กฎหมาย ตอกย้ำให้เห็นว่ารัฐทำให้ไม่สามารถควบคุมการเพิ่มปริมาณรถและจัดระเบียบด้านความปลอดภัยได้

จากสถิติพบว่า รถตู้โดยสารสาธารณะที่จดทะเบียนใหม่เพิ่มจาก 512 คัน ในปี 2549 เป็น 4,560 คัน ในปี 2553 เฉลี่ยขยายตัวร้อยละ 72.8 ต่อปี เช่นเดียวกับจำนวนรถตู้ทะเบียนสะสมก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงมากเช่นกัน อีกทั้ง จำนวนรถโดยสารที่จดทะเบียนสะสมในช่วงปี 2550-2557 คิดเป็นร้อยละ 0.98 ต่อปี สูงกว่าจำนวนใบอนุญาตประกอบการที่ร้อยละ 0.3 ต่อปี และยังไม่รวมถึงรถตู้ที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นรถตู้สาธารณะ (ป้ายดำ) ที่ยังให้บริการผู้โดยสารอยู่บนท้องถนน

นางสาวณัชชา โอเจริญ นักวิจัยทีดีอาร์ไอ เสนอแนวทางการแก้ปัญหาในข้างต้นว่า “หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องติดตามผลของนโยบาย และควรระงับการจดทะเบียนรถตู้โดยสารใหม่ให้เป็นรถประจำทางชั่วคราวเพื่อให้สามารถควบคุมปริมาณรถที่สูงขึ้น พร้อมทั้ง ปรับปรุงระบบการให้ใบอนุญาตรถตู้โดยสารสาธารณะที่เอื้อต่อการสร้างความปลอดภัยควบคู่กับการลงโทษรถตู้ป้ายดำ ทั้งยังต้องพัฒนาการตรวจสภาพรถ โดยตรวจสอบกรณีการดัดแปลงรถตู้ การติดตั้งที่นั่งเกิน เพื่อจำกัดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนน”

ณัชชา โอเจริญ นักวิจัยด้านนโยบายการขนส่ง และโลจิสติกส์ ทีดีอาร์ไอ
ณัชชา โอเจริญ นักวิจัยด้านนโยบายการขนส่ง และโลจิสติกส์ ทีดีอาร์ไอ

แม้ใน 2-3 ปีที่ผ่านมา สถิติการเสียชีวิตและบาดเจ็บจากรถตู้สาธารณะสูงขึ้นมากกว่ารถโดยสารสาธารณะประเภทอื่น แต่ผลสำรวจกลับพบว่า จำนวนผู้โดยสารรถตู้โดยสารสาธารณะกลับเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากผู้ใช้ต้องการการเดินทางที่ สะดวกสบาย รวดเร็ว และประหยัด จนละเลยความปลอดภัย ดังนั้น สาเหตุของอุบัติเหตุส่วนหนึ่งจึงมาจากพฤติกรรมของผู้โดยสารและผู้ขับ

และจากผลสำรวจ ผู้โดยสารมากกว่าครึ่งไม่ได้คาดเข็มขัดนิรภัย แม้ว่ารัฐออกกฎหมายในการติดตั้งและบังคับคาดเข็มขัดนิรภัย ที่กำหนดให้ผู้โดยสารต้องคาดเข็มขัดนิรภัยตลอดเวลาที่อยู่ระหว่างการโดยสาร แต่มีผู้โดยสารรถตู้ในกทม. เพียงร้อยละ 19 และรถตู้ระหว่างจังหวัดร้อยละ 47 เท่านั้นที่ปฏิบัติตามกฎหมาย ทั้งนี้ มีผู้ใช้บริการรถตู้กรุงเทพฯ ร้อยละ 69 และผู้ใช้บริการรถตู้ระหว่างจังหวัด ร้อยละ 79 ไม่ได้รับแจ้งให้คาดเข็มขัด โดยสาเหตุหลักของการไม่คาดเข็มขัดนิรภัย คือ จำนวนกว่าครึ่งรู้สึกอึดอัด ประกอบกับระยะทางการเดินทางสั้นโดยเฉพาะผู้โดยสารรถตู้ประจำทางในกรุงเทพฯ ส่วนเหตุผลอื่นๆ ได้แก่ รู้สึกอาย ไม่เคยชิน เข็มขัดถูกมัดไว้ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการใช้บริการรถตู้ป้ายดำอยู่ด้วย ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าผู้โดยสารไม่เห็นความสำคัญด้านความปลอดภัยแต่อย่างใด และรวมถึงผู้ขับขี่ยังใช้ความเร็วที่ไม่เหมาะสมและบรรทุกผู้โดยสารเกินกว่ากฎหมายกำหนด

“เมื่อกฎหมายบังคับให้ผู้โดยสารรถทุกคนคาดเข็มขัดนิรภัยตลอดเวลาที่ใช้บริการตู้ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด แต่ส่วนใหญ่กลับไม่คาดเข็มขัดเพราะความรู้สึกอึดอัด ทั้งยังใช้บริการรถตู้ผิดกฎหมาย พฤติกรรมของผู้โดยสารจึงมีส่วนก่อให้เกิดความบาดเจ็บการเสียชีวิต และการสูญเสียทรัพย์สินบนท้องถนนด้วยเช่นกัน” นางสาวณัชชา กล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้ ในช่วงปีใหม่ คณะผู้วิจัยจึงเสนอการมาตรการยกระดับความปลอดภัยรถตู้สาธารณะเพิ่มเติม โดยกำหนดให้เรื่องความปลอดภัยของรถสาธารณะเป็นวาระสำคัญ ที่เน้นเรื่องนโยบาย พร้อมกับวางกลไกติดตาม กำกับ ประเมินผล และตรวจสอบที่ใกล้เคียงกับมาตรฐานสากล พร้อมทั้งต้องให้จัดให้มีการอบรมพนักงาน กำหนดบทลงโทษพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมให้ชัดเจน รวมถึงให้ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนับสนุนการดำเนินงานที่คุ้มครองผู้โดยสารและผู้ประกอบการ เช่น มาตรการลดภาษี หาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ สร้างแรงจูงใจทางการเงินเพื่อให้เกิดการลงทุนด้านความปลอดภัย

ดังนั้น การลดอัตราการสูญเสียบนท้องถนนในปีนี้ ควรเริ่มต้นจากตัวผู้ใช้บริการที่ต้องตระหนักถึงความปลอดภัยก่อนความสะดวก เช่นเดียวกับผู้ประกอบการและผู้ขับขี่ที่ต้องใส่ใจ มีจิตสำนึกในการใช้ถนน รวมถึงรัฐต้องจริงจังในการบังคับใช้กฎหมายและมาตรการต่างๆ พร้อมทั้งติดตามผลของนโยบายให้เป็นที่ประจักษ์แก่สังคม เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้สอดคล้องกับเป้าหมายทศวรรษแห่งความปลอดภัย