สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
ทีดีอาร์ไอ จับมือ สนค. สภาผู้ส่งออกฯ และสภาหอการค้าฯ ผลักดันไทยเป็น ‘ชาติการค้า’ ภายใต้บริบทใหม่ทางเศรษฐกิจ ฝ่าวิกฤตส่งออกติดลบ ชี้ไทยต้องเป็น ‘ชาติการผลิตที่เก่งการค้า’ ถึงเวลาภาครัฐ ภาคเอกชนต้องปรับบทบาทครั้งใหญ่
28 ม.ค. สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ร่วมกับ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สภาผู้ส่งออกฯ) และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย แถลงข่าว “ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยด้วยยุทธศาสตร์ชาติการค้า (Trading Nation)” วิเคราะห์สภาพปัญหาส่งออกไทย ตอกย้ำความจำเป็นที่ประเทศไทยต้องปรับยุทธศาสตร์ก้าวขึ้นเป็นชาติการค้า ณ ห้องประชุม ชั้น 2 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)
หลังการก้าวเข้าสู่บริบทใหม่ทางเศรษฐกิจ (New Normal Economy) จากความก้าวหน้าทางนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัล ทำให้รูปแบบการค้าโลกเปลี่ยนไป วิถีการบริโภคเปลี่ยนแปลง อีกทั้งห่วงโซ่อุปทานที่ปรับสู่แนวนอน ทำให้หลายอุตสาหกรรมทั่วโลกกำลังได้รับผลกระทบด้านลบต่อความสามารถทางการแข่งขันและการส่งออก ประเทศไทยเองต้องปรับตัวให้ทันเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงนี้
ที่ผ่านมาขีดความสามารถด้านการส่งออกของไทยในช่วง 2556-2558 ลดลงจนติดลบต่อเนื่องเข้าปีที่ 4 กระทบต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในภาพรวม จากการคาดการณ์ของ OCED ชี้ว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยของไทยในช่วงปี 2559-2563 จะอยู่ที่ร้อยละ 3.6 เท่านั้น อีกทั้งส่วนแบ่งของการลงทุนจากต่างประเทศมีแนวโน้มต่ำลง สะท้อนว่าไทยกำลังโตช้ากว่าเพื่อนบ้าน ทั้ง เวียดนาม กัมพูชา ลาว และเมียนมาร์ ดังนั้นไทยต้องเร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ และอุตสาหกรรม วางยุทธศาสตร์การเป็น ‘ชาติการค้า’ เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน ปรับโครงสร้างการผลิตแบบเดิมที่เน้นรับจ้างผลิตปริมาณมากแต่ทำกำไรต่ำ มาสู่การเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการด้วยการออกแบบ สร้างตราสินค้า อาศัยนวัตกรรมเทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อน และยึดความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศนำการผลิตเป็นสำคัญ
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ ยกตัวอย่างประเทศขนาดเล็กที่เศรษฐกิจเจริญเติบโตด้วยการเป็นชาติการค้า คือ ประเทศสิงคโปร์ ที่ถนัดการต่อยอด สามารถสร้างตราสินค้าของตนเองและจัดจำหน่ายเอง และประเทศฮ่องกง ที่เน้นการออกแบบ วิจัย ไม่เน้นผลิตในประเทศ แต่บริหารการผลิตในต่างประเทศได้ดี
สำหรับประเทศไทยแม้จะมีศักยภาพด้านการผลิตสูง แต่ทำกำไรได้น้อย เพราะยังเน้นเฉพาะการรับจ้างผลิต ต้องเผชิญกับปัญหาถูกกดราคา และการสั่งซื้อไม่นอน ประเมินว่าท้ายที่สุดไทยจะถึงทางตัน ดังนั้นจึงต้องมีวิธีคิดแบบชาติการค้า คือ มุ่งสู่ตลาดเฉพาะ ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง มองความต้องการลูกค้าเป็นตัวตั้ง เลือกช่องทางจำหน่ายให้ตรงกับลูกค้า โดยภาครัฐต้องเปลี่ยนวิธีส่งเสริม และเอกชนต้องเปลี่ยนโมเดลธุรกิจ เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นชาติการผลิตที่เก่งการค้าด้วย
ซึ่งขณะนี้ทางทีดีอาร์ไอ กำลังเดินหน้าศึกษาศักยภาพทางการค้าของไทย โดยเน้นการมีส่วนร่วมจากทั้งภาครัฐ เอกชน ธุรกิจ เพื่อกำหนดเป็นแนวทางสำหรับการวางยุทธศาสตร์ ‘ชาติการค้า’ ต่อกระทรวงพาณิชย์ ขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นชาติการค้าอย่างมีทิศทาง
สำหรับการส่งเสริมจากภาครัฐ นางสาว พิมพ์ชนก วอนขอพร รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เผยถึง การเปลี่ยนแปลงวิธีคิดและกระบวนทัศน์ (Paradigm shift) ครั้งสำคัญของกระทรวงพาณิชย์ที่กำลังเกิดขึ้น ใน 4 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านบทบาทภาพลักษณ์ของกระทรวงฯ ปรับจากผู้ควบคุมเป็นผู้อำนวยความสะดวกทางการค้าแก่ภาคธุรกิจ 2.ด้านการส่งเสริมธุรกิจบริการให้แข็งแกร่ง เพื่อเพิ่มกำไรและสนับสนุนภาคเกษตรและอุตสาหกรรมที่มีอยู่ 3. ด้านการสนับสนุน เน้นให้ภาคธุรกิจใช้นวัตกรรมขึ้นมาเป็นตัวนำ โดยเริ่มจากการสร้างนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภค 4.ด้านการวางยุทธศาสตร์ด้วย demand driven หรือการใช้การตลาดนำ โดยจะเริ่มจากตลาดสินค้าเกษตร ข้าว มันสําปะหลัง และยางพารา รวมถึงขยายไปยังตลาดใหม่ในกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมและสิ่งแวดล้อม ทั้งหมดนี้เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันและตอบโจทย์การก้าวขึ้นเป็น ‘ชาติการค้า’
นายนพพร เทพสิทธา ประธานผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย เห็นด้วยกับยุทธศาสตร์การใช้ตลาดนำการผลิต และย้ำว่าการค้าในบริบทใหม่ทางเศรษฐกิจ หลีกหนีไม่พ้นเรื่อง e-commerce จึงเสนอให้มีการศึกษาทำความเข้าใจผู้บริโภค โดยการเก็บข้อมูลและพฤติกรรมผู้บริโภคเป็น Big data เพื่อวิเคราะห์จับกระแสทิศทางการบริโภคที่เปลี่ยนไป ช่วยให้ภาคธุรกิจทราบแนวโน้ม และความต้องการการลงทุนจากภาครัฐ
นายจิรวัฒน์ ตั้งกิจงามวงศ์ กรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะตัวแทนภาคธุรกิจ มีมุมมอง ต่อความจำเป็นที่ไทยถึงเวลาก้าวเป็นชาติการค้าว่า “คำว่า trading nation ในบริบทใหม่นี้ หมายความว่า ในอนาคตไทยจะทำอย่างไรจึงจะขายได้มากขึ้น แต่ต้องมากกว่าการมุ่งสร้างตราสินค้า โดยใช้บริบทนวัตกรรม เเฟรนไชส์ เพิ่มเข้ามา”
อีกทั้งยังเสนอภาครัฐวางโรดแมพ ยุทธศาสตร์ชาติการค้าให้เหมาะสมกับศักยภาพ ความพร้อมของผู้ประกอบการแต่ละระดับ โดยเสนอแบ่งออกเป็น 3 ระยะ เพื่อปลดล็อค ส่งเสริม และพัฒนาภาคธุรกิจ ได้แก่ ระยะสั้น ต้องสร้าง cluster กลุ่มอุตสาหกรรมที่ชัดเจน ลดอุปสรรคทางการค้าการลงทุน เช่น แก้ไขข้อกฎหมายที่เป็นข้อจำกัด อำนวยความสะดวกแก่นักลงทุน พร้อมกับมองหาตลาดเฉพาะใหม่ๆ เพื่อไม่ต้องเผชิญกับการแข่งขันสูง
ระยะกลาง คือ มุ่งขยายภาคบริการที่ไทยมีศักยภาพ เตรียมพร้อมเรื่องการสร้างตราสินค้า โดยใช้ช่องทางออนไลน์ เป็นเครื่องมือ และ รองรับตลาด e – commerce และระยะไกล คือการมีตราสินค้า ปรับรูปแบบการค้ามากกว่า trading nation ไปสู่การเป็น trader คือ ไม่จำเป็นต้องผลิตเองแต่ใช้วิธีซื้อมา เพิ่มมูลค่าแล้วขายไป ประเทศไทยจะเกิดสินค้าใหม่ทดแทนสินค้าเดิม ดังนั้น ภาคธุรกิจต้องเปิดใจและเตรียมปรับตัวรับสิ่งใหม่
งานแถลงข่าวในครั้งนี้เป็นการปักธง เริ่มเดินหน้าการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติการค้าโดยทีดีอาร์ไอ ภายใต้การผลึกกำลังของกระทรวงพาณิชย์ สภาผู้ส่งออกฯ สภาหอการค้าฯ และสภาอุตสาหกรรมฯ ซึ่งหลังจากนี้ ทีดีอาร์ไอจะเดินหน้ารับฟังความเห็น ด้วยการระดมสมองจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั่วทุกภูมิภาค เพื่อให้ทั้งภาครัฐ เอกชน ธุรกิจ และประชาชน ได้รับรู้ถึงความจำเป็นที่ไทยต้องปรับตัว และมีส่วนขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นี้ร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป