นครินทร์ ศรีเลิศ
สัปดาห์ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์แถลงภาพรวมการส่งออกปี2558 ติดลบ 5.78% สูงสุดในรอบ 6 ปี เป็นการติดลบต่อเนื่อง 3 ปีติดต่อกันอาการน่าเป็นห่วงและเริ่มมี ความเห็นจากหลายฝ่ายว่าในปีนี้การส่งออกอาจจะขยายตัวได้ 0% หากถามว่าเกิดอะไรขึ้น คำอธิบายในรอบหลายปีที่ผ่านมาก็หนีไม่พ้นการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก นำโดยเศรษฐกิจจีนที่ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ กำลังซื้อที่ลดลงของประเทศผู้ส่งออกพลังงานและน้ำมัน เมื่อรวมกับโครงสร้างการผลิตที่เริ่มมีข้อจำกัดของไทย อันสืบเนื่องจากการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในระยะ10 ปีทรงตัวอยู่ที่ระดับ 0.87-0.89%
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ระบุว่าปัญหาที่ทำให้การส่งออกของไทยติดลบหลายปีที่ผ่านมา ไม่ได้เป็นเพราะเรา “ผลิตไม่เก่ง” เพราะจากข้อมูลของธนาคารโลกระบุว่า ประเทศไทยติด Top 5 ประเทศที่มีสัดส่วนอุตสาหกรรมในจีดีพีสูงที่สุดในโลก และด้วยต้นทุนการผลิตที่เหมาะสม ความสามารถในการผลิตและการส่งมอบสินค้าได้ตามกำหนดเวลา ทำให้มีอุตสาหกรรมระดับโลก มาตั้งฐานการผลิตในไทย เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ที่มีบริษัทยักษ์ใหญ่หลายบริษัท เข้ามาใช้ไทยเป็นฐานผลิตเพื่อส่งออกสินค้าในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา
ปัญหาของไทยจึงไม่ใช่การผลิตไม่เก่ง แต่ปัญหาหลักของเราทุกวันนี้คือเรา “ขายไม่เก่ง”และปัญหาส่วนหนึ่งที่เราขายสินค้าออกไปภายนอกไม่เก่ง นอกจากหน่วยงานที่ส่งออกปรับตัวไม่ทันต่อบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ปัญหาใหญ่คือเรื่องของตัวสินค้าที่ขาดการพัฒนาและสร้างมูลค่าสินค้าให้เพิ่มขึ้นด้วยสิ่งที่เรียกว่า “นวัตกรรม”สิ่งที่เรียกว่านวัตกรรมนั้นเป็นเรื่องที่พูดง่ายแต่ทำให้เกิดได้ยาก ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นได้ ก็ต้องอาศัยการวิจัยและพัฒนาก่อนที่จะนำมาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้ ซึ่งเรื่องการผลักดันการสร้างนวัตกรรม พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์รมว.กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี บอกว่าภารกิจของกระทรวงวิทยาศาสตร์อย่างหนึ่งคือต้องผลักดันการเพิ่มงบประมาณในการวิจัยและพัฒนา (R&D) ให้ได้ไม่น้อยกว่า 1% ของจีดีพีภายในเดือน ก.ค.2560
ในมุมมองของ สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ เห็นว่า นวัตกรรมไม่ได้เกิดขึ้น มาจากอากาศ แต่นวัตกรรมของสินค้า มักจะมาจากการที่ผู้ผลิตสินค้าหรือผู้ขายมีปฏิสัมพันธ์ กับลูกค้าและเข้าใจถึงปัญหาหรือต้องการที่จะตอบสนองความต้องการของลูกค้าแล้วพัฒนา สิ่งที่ดีขึ้นจนกลายเป็นนวัตกรรมใหม่ กรณีของประเทศไทยที่เก่งการผลิตอุตสาหกรรมในระดับหนึ่งแล้ว จะต้องมุ่งไปสู่การเป็น “ชาติการค้า” หรือ “Trading Nation” โดยหากสามารถที่จะ ยกระดับการผลิตจากการรับจ้างผลิตไปสู่การมีแบรนด์ของตนเอง ก็จะเพิ่มกำไรขั้นต้นได้ถึง 35% และหากมีแบรนด์และช่องทางการผลิตของตนเองกำไรขั้นต้นจะกระโดดจาก 10-15% ในปัจจุบันไปอยู่ที่ระดับ 50% ได้ไม่ยาก
การจะผลักดันยุทธศาสตร์ชาติการค้าให้สำเร็จจำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีคิด (mindset ) ใหม่ทั้งองคาพยพ มองความต้องการของตลาดและลูกค้าเป็นตัวตั้ง เปลี่ยนจากการรับจ้างผลิตใช้นวัตกรรมเป็นตัวสนับสนุนให้สามารถเจาะตลาดเฉพาะ เพิ่มมูลค่าสินค้า สามารถวิเคราะห์ความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่มแล้วตอบสนองความต้องการได้ ที่สำคัญต้องเปลี่ยนมุมมองการผลิตจากการผลิตตามห่วงโซ่การผลิต (Supply Chain) สู่ห่วงโซ่คุณค่า (Value chain) สามารถทำการตลาดเชิงรุกในสินค้าที่ตนเองมีความถนัดในการผลิต
..ข้อเสนอในการส่งเสริมให้ไทยเป็น “ชาติการผลิตที่เก่งการค้า” จะสามารถผ่าทางตันและแก้ปัญหาการส่งออกได้ในระยะยาว ส่วนจะสำเร็จหรือไม่อยู่ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะสามารถตีโจทย์ให้แตกและขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นี้ ได้อย่างจริงจังมากน้อยเพียงใด
————–
หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกใน กรุงเทพธุรกิจ เมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2559 ในชื่อ ผ่าทางตันส่งออกด้วย ‘นวัตกรรม’ และ ‘Trading Nation’