กองนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ
หลายท่านอาจคุ้นหูกับคำว่า TPP ที่ย่อมาจาก Trans-Pacific Partnership หรือความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ภาคพื้นแปซิฟิก ที่มีการพูดถึงอย่างกว้างขวางโดยหลายฝ่าย แต่บางท่านอาจจะสงสัยว่า เจ้า TPP ที่ว่ามีความสำคัญกับไทยอย่างไร ทำไมภาคธุรกิจหลายส่วนต่างตบเท้าออกมาสนับสนุนให้ไทยพิจารณาการเข้าร่วม TPP อย่างจริงจัง ขณะที่หลายส่วนแสดงความกังวลต่อผลกระทบหากไทยเข้าร่วม ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐที่ต่างเร่งศึกษาประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ TPP กันขนานใหญ่
เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเข้าใจในประเด็นด้านความตกลง TPP กระทรวงการต่างประเทศ โดยกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบการเจรจาความตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน (Bilateral Investment Treaty) และข้อบทการคุ้มครองการลงทุนภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) จึงได้จัดงานเสวนา “รู้ทัน TPP ผ่านมุมมองนักวิชาการ” เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2559 ซึ่งเป็นวันเดียวกันกับที่ประเทศสมาชิก TPP ทั้ง 12 ประเทศได้ลงนามในความตกลง TPP ที่ประเทศนิวซีแลนด์ โดยได้เชิญนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิ 4 ท่านมาบรรยายให้ความรู้ในแง่มุมต่างๆ ของความตกลง TPP ที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย ดังนี้
ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านบริหารจัดการ ระบบเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ให้ความเห็นว่า ภาคธุรกิจหลายส่วนของไทยสนับสนุนให้ประเทศไทยเข้าร่วม TPP เนื่องจากการส่งออกของไทยได้ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนไทยเริ่มสูญเสียส่วนแบ่งสัดส่วนการส่งออกไปยังตลาดโลกในกลุ่มสินค้าที่มีการขยายตัว ขณะที่การส่งออกไทยที่มีการขยายตัวก็มักอยู่ในกลุ่มสินค้าที่ตลาดกำลังชะลอตัว นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้สูญเสียความน่าดึงดูดการลงทุนใหม่ๆ จึงทำให้หลายฝ่ายเล็งเห็นว่า การเข้าร่วม TPP จะเป็นปัจจัยกระตุ้นเศรษฐกิจไทย
สาขาสิ่งทอไทยมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากการที่ไทยไม่เข้าร่วม TPP มากที่สุด เนื่องจากภาษีศุลกากรของสหรัฐอเมริกาสำหรับสินค้าสิ่งทอจากประเทศนอกกลุ่มความตกลง TPP อยู่ในอัตราที่สูงมาก อีกทั้งกฎระเบียบด้านถิ่นกำเนิดที่เข้มงวด ซึ่งกำหนดให้ใช้วัตถุดิบตั้งต้นแม้กระทั่งเส้นด้าย เฉพาะจากประเทศสมาชิก TPP เท่านั้น จะส่งผลให้ประเทศสมาชิก TPP ลดการนำเข้าวัตถุดิบจากไทย หรือย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่น
ขณะที่ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไทยยังไม่ชัดเจน เนื่องจาก TPP มีระยะเวลาในการลดภาษีในสินค้าประเภท ยานยนต์ระหว่างประเทศสมาชิกที่ยาวนาน กอปรกับอัตราภาษีกลุ่มยานยนต์ที่ไทยผลิต (อีโคคาร์) ยังค่อนข้างต่ำในตลาดสหรัฐฯ แต่หากสัดส่วนแหล่งกำเนิดสินค้าที่ต้องมาจากสมาชิก TPP สูงขึ้น ผู้ผลิตรถยนต์ต่างชาติอาจลดการสั่งซื้อชิ้นส่วนจากไทยได้
อย่างไรก็ดี ดร.เดือนเด่น เห็นว่าการเข้าร่วม TPP ไม่ใช่ยาวิเศษที่จะช่วยแก้ปัญหาได้ทั้งหมด เนื่องจากปัญหาของเศรษฐกิจไทยเกิดจากโครงสร้างเศรษฐกิจที่ต้องได้รับการแก้ไข อีกทั้งยังมีประเด็นที่ส่งผลกระทบในวงกว้าง อาทิ ประเด็นทรัพย์สินทางปัญญา แต่ถึงไทยจะไม่เข้าร่วมความตกลง TPP ไทยก็ต้องยกเครื่องโครงสร้างทางด้านเศรษฐกิจ ตลอดจนปรับปรุงกฎเกณฑ์และมาตรฐานด้านต่างๆ อาทิ แรงงาน และความโปร่งใสเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยเฉพาะยุทธศาสตร์การส่งออก รวมถึงการใช้ประโยชน์จาก FTA ที่มีอยู่ของไทยให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ด้าน ดร.ศรุต วิทยารุ่งเรืองศรี ผู้จัดการอาวุโส กลุ่มที่ปรึกษาเศรษฐกิจและธุรกิจ บริษัท โบลลิเกอร์ แอนด์ คอมพานี (ประเทศไทย) จำกัด มีมุมมองที่สอดคล้องกันกับ ดร.เดือนเด่น และมีความเห็นเพิ่มเติมว่า ไทยน่าจะได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการเข้าร่วมความตกลง TPP มากกว่าผลเสีย โดยได้ยกตัวอย่างการศึกษาของธนาคารโลกเมื่อเดือนมกราคม 2559 ระบุว่าไทยมีแนวโน้มได้รับผลกระทบแง่ลบต่อเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญจากการที่ไทยไม่ได้เข้าร่วมความตกลง TPP นอกจากนี้ข้อกังวลหลายประเด็นในช่วงก่อนการเปิดเผยตัวข้อบทความตกลง TPP ได้คลี่คลายความน่ากังวลลงไปบ้างหลังจากการเปิดเผยตัวบทความตกลง
ดร.ศรุต วิเคราะห์ว่า ส่วนหนึ่งของการเร่งให้เกิดการบรรลุการเจรจาความตกลง TPP ในช่วงนี้อาจเกิดจากแรงผลักดันภายในของประเทศสมาชิก TPP เนื่องจากหลายประเทศอยู่ในช่วงเปลี่ยนถ่ายอำนาจระหว่างรัฐบาลชุดเก่าและชุดใหม่ หรือใกล้ช่วงเวลาเลือกตั้ง ซึ่งไทยยังมีเวลา และควรใช้เวลาระหว่างที่ประเทศสมาชิกดำเนินขั้นตอนภายในเพื่อให้ความตกลงมีผลบังคับใช้ ศึกษาชั่งวัดผลกระทบและโอกาส รวมทั้งแนวทางเพื่อรองรับและปรับตัวอย่างถี่ถ้วนเพื่อประกอบการตัดสินใจว่าจะเข้าร่วมหรือไม่
ดร.วรรณพร เตชะไกศิยวณิช นักวิจัยและอาจารย์จากคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล บรรยายภาพรวมข้อบทการลงทุนใน TPP โดยให้ความเห็นว่า ความตกลง TPP มีขอบข่ายพันธกรณีที่กว้างกว่านโยบายการคุ้มครองการลงทุนของไทยในปัจจุบัน ตลอดจนขยายขอบเขตของกลไกการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชน (Investor-State Dispute Settlement- ISDS) อย่างมีนัยสำคัญ แต่ประเด็นเหล่านี้ควรมองเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายได้ โดยความท้าทายของไทย คือ การพิจารณาว่าไทยสามารถปรับเปลี่ยนนโยบายและกฎหมายด้านการลงทุนมากน้อยเพียงใด ซึ่งหลายประเด็นเป็นสิ่งที่ไทยไม่สามารถเลี่ยงได้แม้จะไม่เข้าร่วมความตกลง TPP ก็ตาม นอกจากนี้ยังเป็นโอกาสของไทยในการประมวลจัดทำฐานข้อมูลในเรื่องของกฎระเบียบ มาตรการที่เกี่ยวข้อง และปรับปรุงนโยบายให้มีความสอดคล้องกับมาตรฐานสากล สำหรับข้อบทการลงทุนในความตกลง TPP ใช้ความตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) เป็นพื้นฐาน แต่ปรับปรุงให้มีความเหมาะสมและชัดเจนยิ่งขึ้น
ดร.จักรกฤษณ์ ควรพจน์ ผู้อำนวยการวิจัยฝ่ายกฎหมายเศรษฐกิจ TDRI แสดงความห่วงกังวลในประเด็นเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property: IP) ของความตกลง TPP โดยความตกลง TPP ได้พัฒนามาตรฐานการคุ้มครอง IP ที่สูงกว่ามาตรฐานขององค์การการค้าโลก (TRIPS Plus) ซึ่งจะขยายขอบเขตการคุ้มครอง IP จากมาตรฐานทั่วไป ไม่ว่าในด้านสิ่งที่ได้รับการคุ้มครอง (อาทิ ยีน สารสกัดจากพืช และ biologic) และระยะเวลาการคุ้มครองที่นานขึ้น ก่อให้เกิดผลกระทบในหลายมิติ อาทิ ยาและเวชภัณฑ์มีราคาแพงขึ้นจากระยะเวลาคุ้มครองข้อมูลยา (data exclusivity) ที่ยาวนานขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนนโยบายประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยอย่างมีนัยสำคัญ ตลอดจนการกำหนดเงื่อนไขที่เอื้อต่อบริษัทที่มีระดับเทคโนโลยีและการลงทุนสูง
ทั้งนี้ ดร.จักรกฤษณ์วิเคราะห์ว่า ความตกลง TPP เปิดโอกาสให้รัฐดำเนินนโยบายทางสุขภาพ อาทิ การประกาศบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร (Compulsory Licensing-CL) โดยไม่ถือว่าเป็นการผิดพันธกรณี แม้ว่าในทางปฏิบัติอาจติดปัญหาเรื่อง data exclusivity ที่อาจทำให้ไม่สามารถขึ้นทะเบียนยาที่จะรัฐจะออก CL ได้
จากที่กล่าวมาน่าจะเห็นได้ว่า ทำไมภาคส่วนสังคมของไทยจึงได้มีมุมมองที่แตกต่างต่อความตกลง TPP ซึ่งการจะเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วม TPP ต้องอาศัยข้อมูลรอบด้านเพื่อตัดสินใจในเชิงนโยบาย ชั่งน้ำหนักระหว่างโอกาสกับผลกระทบที่ไทยจะได้รับหรือต้องแบกภาระ ไม่ว่าไทยจะตัดสินใจเข้าร่วมความตกลง TPP หรือไม่ก็ตาม สิ่งสำคัญที่ไทยต้องดำเนินในทุกภาคส่วนก็คือ การปรับโครงสร้าง/การปฏิรูป เพิ่มขีดความสามารถทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกฎเกณฑ์และยกระดับมาตรฐานเพื่อให้สอดรับกับมาตรฐานโลกหรือคู่ค้าสำคัญของไทยที่นับวันจะยกระดับมากขึ้นต่อไป การจัดงานเสวนาในวันนี้จึงถือเป็นอีกเวทีที่ระดมสมองเพื่อสะท้อนมุมมองของภาควิชาการส่วนหนึ่ง ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ประกอบการชั่งวัดผลได้-ผลกระทบของการเข้าร่วม TPP ของไทย
พบกับอัพเดตความเคลื่อนไหวและโอกาสในตลาดต่างประเทศที่สถานทูตไทยทั่วโลกตั้งใจติดตามมาให้ภาคเอกชนไทยได้ที่เว็บไซต์ www.ThaiBiz.net หากมีข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะเพิ่มเติม สามารถเขียนมาคุยกันได้ที่ bic.mfa@gmail.com
——
หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกใน ฐานเศรษฐกิจ เมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2559 คอลัมน์: Trad Update: ‘รู้ทัน TPP จากมุมมองนักวิชาการ’