tdri logo
tdri logo
12 กุมภาพันธ์ 2016
Read in Minutes

Views

สมชัย จิตสุชน: ความป่วยไข้ของประเทศไทย

อาทิตย์ เคนมี

The Nation 13-10-58 Thai exports in dire straits unless govt joins TPP, trade experts warn
ดร.สมชัย จิตสุชน – ภาพถ่าย โดย อนุชิต นิ่มตลุง – waymagazine.org

ประเทศไทยกำลังป่วย คล้ายกับอาการของผู้ป่วยเรื้อรังที่ต้องได้รับการดูแลแบบประคับประคอง เพื่อต่อลมหายใจในแต่ละวัน

ดูเหมือนว่า ผู้นำประเทศหลายยุคที่ผ่านมามักไม่ยอมรับว่าประเทศไทยมีอาการป่วย ตรงข้าม ยังพยายามแสดงท่าทีเชื่อมั่นว่า ไทยจะสามารถผงาดขึ้นมาเป็นเสือเศรษฐกิจแห่งเอเชียได้อีกครั้ง ซึ่งสวนทางกับความรู้สึกของประชาชนที่สัมผัสได้ถึงความยากลำบากที่กำลังเผชิญในชีวิตจริง

ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา นับแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2504 อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยพุ่งสูงถึง 6-7 เปอร์เซ็นต์ต่อปี และดูเหมือนจะช่วยให้คนไทยกว่าครึ่งค่อนประเทศเริ่มลืมตาอ้าปากได้

ทว่านับจากปี 2535 หรือราว 20 ปีให้หลัง ทุกอย่างคล้ายจะหยุดชะงัก อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจตกต่ำลงอยู่ที่ระดับ 3-4 เปอร์เซ็นต์อย่างต่อเนื่อง จนเกิดเป็นข้อสันนิษฐานว่าเศรษฐกิจไทยอาจเดินมาถึงทางตัน หรือที่เรียกกันว่า ‘กับดักรายได้ปานกลาง’ (Middle-income Trap)

จากข้อกังวลที่ว่าประเทศไทยกำลังติดหล่ม นำมาสู่ความพยายามที่จะไขคำตอบว่า อะไรคือสาเหตุของการป่วยไข้ อันเป็นจุดเริ่มต้นของชุดโครงการวิจัย ‘โมเดลใหม่ในการพัฒนาประเทศ’ ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ภายใต้การสนับสนุนโดยธนาคารแห่งประเทศไทย

ในฐานะหัวหน้าคณะวิจัย สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง TDRI สรุปในเบื้องต้นว่า โมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมาไม่สามารถใช้ได้ผลอีกต่อไป อีกทั้งไม่ใช่หนทางที่จะพาเราก้าวพ้นจากหุบเหว

‘โมเดลเศรษฐกิจใหม่’ หรือ New Economic Model ที่สมชัยจะอภิปรายในบรรทัดถัดจากนี้ อาจเป็นเส้นทางใหม่ที่เรากำลังมองหา ก่อนที่อาการป่วยของประเทศไทยจะลุกลามบานปลาย จากผู้ป่วยเรื้อรังอาจกลายเป็นผู้ป่วยระยะสุดท้าย

+ ที่มาของชุดโครงการวิจัย ‘โมเดลใหม่ในการพัฒนาประเทศ’ เริ่มจากอะไรและมีข้อค้นพบอย่างไรบ้าง

ความเป็นมาเป็นไปเริ่มจากมีข้อกังวลจากหลายๆ ฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการก็ดี ผู้กำหนดนโยบายก็ดี ว่าอนาคตเศรษฐกิจไทยจะไปทางไหนกันแน่ เพราะตลอดหลายปีที่ผ่านมาเรามีแต่ข่าวร้าย ยิ่งไปกว่านั้นเราเริ่มเห็นว่าข่าวร้ายที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่ชั่วครู่ชั่วคราว ซึ่งต่างกับวิกฤติน้ำท่วม ต่างกับวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ที่สักพักก็จางหายไป แต่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่หยั่งรากลึกอยู่ในระบบเศรษฐกิจไทย

คำคำหนึ่งที่แวดวงวิชาการพูดถึงกันมากก็คือคำว่า ‘กับดักรายได้ปานกลาง’ หรือ Middle-income Trap ความสนใจของเราจึงเริ่มจากคำคำนี้ ด้วยข้อสงสัยที่ว่าจริงๆ แล้วเราติดกับดักนี้จริงหรือไม่ เพราะถ้าประเทศใดติดอยู่ในกับดักรายได้ปานกลางถือเป็นเรื่องที่ค่อนข้างซีเรียส

คำว่า กับดักรายได้ปานกลาง ก็คือปรากฏการณ์ที่ประเทศหนึ่งๆ สามารถพัฒนาขึ้นมาจากประเทศยากจน แต่ไม่สามารถก้าวต่อไปเป็นประเทศรายได้สูง ของไทยเราดูจะเป็นเช่นนั้น ตอนนี้เราก้าวสู่ประเทศรายได้ปานกลางแล้ว ปัญหาก็คือจากจุดนี้เราจะไปต่ออย่างไร แน่นอนว่าทุกคนอยากจะไปสู่การเป็นประเทศร่ำรวย แต่เมื่อติดกับดักนี้แล้วมันทำให้เราไปต่อไม่เป็น

+ ทำไมจึงไม่สามารถพัฒนาเศรษฐกิจโดยใช้โมเดลแบบเก่าได้

อดีตที่ผ่านมาเราพึ่งพาการใช้แรงงานราคาถูก ผู้คนยังมีการศึกษาไม่สูงมากนัก ส่วนใหญ่อยู่ในภาคการเกษตร ฉะนั้น สิ่งที่เราทำได้จึงมีอยู่สองทางเลือก หนึ่ง-ทำการเกษตรต่อไป แล้วบุกเบิกพื้นที่ใหม่ๆ เห็นได้จากผืนป่าที่ถูกบุกรุกทำลายไปมาก ทั้งจากนายทุนและเกษตรกรรายย่อยเอง สอง-อพยพเข้าเมืองมาเป็นหนุ่มสาวโรงงานหรือมาค้าขายเล็กๆ น้อยๆ ตอนนั้นโมเดลเก่ายังเวิร์คอยู่ เพราะมีแรงงานจำนวนมากย้ายจากภาคเกษตรเข้ามาในเมือง ทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างรวดเร็ว ประกอบกับมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะในช่วงเริ่มต้นแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 1-3 มีการสร้างถนน สร้างเขื่อน โรงไฟฟ้า ประปา สิ่งเหล่านี้ล้วนเอื้อต่อภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรกรรมด้วย โดยภาพรวมทุกอย่างจึงดูสวยงาม

โมเดลเก่าทางเศรษฐกิจดูเหมือนว่าจะจบลงที่ภาวะฟองสบู่และวิกฤติต้มยำกุ้ง เพราะถือเป็นจุดสูงสุดของการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นจากปรากฏการณ์ฟองสบู่ก็คือ ภาคอุตสาหกรรมโตเร็วมาก เพราะใช้แรงงานราคาถูกช่วยในการแข่งขันและส่งออกได้ หลายประเทศยังมองว่าไทยผลิตสินค้าเก่ง ทั้งชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และยานยนต์ นักลงทุนต่างชาติจึงทะลักเข้ามาลงทุนเพื่อผลิตสินค้าส่งออก เรียกว่าเป็นยุคทองของเศรษฐกิจไทย อีกทั้งการส่งออกก็ดี มีเงินลงทุนไหลเข้าเยอะแยะมากมาย แต่สุดท้ายฟองสบู่ก็แตก

ภาวะฟองสบู่แตกมันเหมือนเป็นการตบหน้าพวกเรากันเองว่า ที่ทำกันมาหลายสิบปีนี้มันไม่น่าจะใช่ และอีกเกือบ 20 ปีต่อมาจนถึงปัจจุบันสภาพเศรษฐกิจก็ลุ่มๆ ดอนๆ มาตลอด ทั้งที่ฟองสบู่จบไปนานแล้ว

ถ้าดูจากช่วงก่อนหน้านั้นเศรษฐกิจไทยเติบโตเฉลี่ย 7 เปอร์เซ็นต์ แต่ตอนนี้เหลือ 4 เปอร์เซ็นต์ ต่างกันเกือบครึ่ง ฉะนั้น ค่าเฉลี่ยที่ห่างกันขนาดนี้จึงนำมาสู่ข้อกังวลที่ว่า เรากำลังติดอยู่ในกับดักรายได้ปานกลาง

+ GDP คือสัญญาณที่ชัดเจนเลยใช่ไหมว่า ไทยกำลังย่ำอยู่กับที่ในช่วง 20 ปีให้หลัง

โดยหลักเศรษฐศาสตร์เขาวัดกันแบบนั้น แต่ก็มีบางคนไม่เชื่อว่าเราติดกับดักรายได้ปานกลาง เขาพยายามหาเหตุผลมาอธิบาย แต่อธิบายเป็นเรื่องๆ แบบแยกส่วน อย่างเช่นผลกระทบจากน้ำท่วม วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ รวมถึงเรื่อง ‘กีฬาสี’ ที่คนไทยขัดแย้งกัน ซึ่งก็มีส่วนทำให้รัฐบาลบริหารประเทศไม่ได้ ไม่สามารถส่งเสริมการลงทุนได้ ต่างชาติไม่กล้าเข้ามาเพราะไม่มีความมั่นใจ แต่ผมคิดว่านี่เป็นคำอธิบายที่ไม่ครบถ้วน ผมยังคงเชื่อมั่นว่าเราน่าจะมีปัญหาเชิงโครงสร้างมากกว่า ฉะนั้นก็ต้องไปดูว่าปัญหาเชิงโครงสร้างคืออะไร

เหตุผลข้อแรกก็คือ เราไม่พัฒนาเทคโนโลยี ซึ่งผมเห็นด้วย เพียงแต่ต้องมีคำอธิบายเพิ่มว่า แล้วทำไมเราถึงไม่มีการพัฒนาเทคโนโลยี ซึ่งคำอธิบายของผมต่อเรื่องนี้ก็คือ หนึ่ง-เราไม่พัฒนาคน อันนี้ชัดเจน ช่วงที่เรามีแรงงานภาคเกษตรมากๆ เมื่อ 50-60 ปีที่แล้ว คนเหล่านี้เป็นชาวนา จบ ป.4 แล้วก็ไม่ได้ศึกษาต่อ เมื่อย้ายเข้ามาในเมืองก็ใช้ความรู้ ป.4 เป็นแรงงานไร้ฝีมือ แม้ภาครัฐจะสร้างโรงเรียนขึ้นมามากมาย แต่คนเหล่านี้ก็ไม่อยากเรียน เพราะภาครัฐเองก็ไม่สามารถเสนอหลักสูตรที่เจ๋งกว่าการทำเกษตร หรือเจ๋งกว่าการเป็นแรงงานในโรงงาน เขารู้สึกว่าจบ ป.4 หรือ ป.7 ก็ทำงานได้แล้ว

ช่วงนั้นการศึกษาเฉลี่ยของคนไทยอยู่ในระดับต่ำ ต่อเนื่องมาจนถึงปี 2533 ซึ่งเป็นช่วงฟองสบู่ แต่ฟองสบู่ในแง่หนึ่งก็เป็นเหมือนระฆังเตือนเราเหมือนกัน เพราะช่วงนั้นธุรกิจขยายตัวมาก พอขยายตัวถึงจุดหนึ่งก็ต้องการแรงงานมีฝีมือ แต่กลับไม่มีแรงงานไทยมารองรับ เมื่อมีดีมานด์ตรงนี้ พ่อแม่ผู้ปกครองก็เริ่มเห็นคุณค่าของการศึกษาขึ้นมา

อย่างไรก็ตาม ผลพวงของการตื่นตัวช้า ประมาณปี 2533 คนเริ่มเรียนต่อมากขึ้น ระบบโรงเรียนเริ่มดีขึ้น แต่จนถึงตอนนี้ผ่านไป 20 กว่าปี ก็ยังเป็นแค่กลุ่มแรงงานระดับล่างที่พัฒนาขึ้นจาก ป.4 เป็น ป.6 หรือ ม.3 เท่านั้นเอง จึงช่วยอุดช่องโหว่ได้แค่ส่วนเดียว

IMG_9763
ดร.สมชัย จิตสุชน – ภาพถ่าย โดย อนุชิต นิ่มตลุง – waymagazine.org

+ แรงงานในปัจจุบันนี้อย่างน้อยต้องมีความรู้ถึงระดับไหนจึงจะเพียงพอ

ถ้าเราอยากจะหลุดจากกับดักรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศรายได้สูง สิ่งที่เราต้องการคือคนจบปริญญาตรีขึ้นไปหรือจบวิชาชีพชั้นสูง ซึ่งต่อให้เราเริ่มเห็นคุณค่าของการศึกษามากขึ้น แต่กว่าจะใช้คนเหล่านี้ได้ก็ยังไม่ทันการ ประกอบกับระบบการศึกษาของเราที่ไม่ค่อยดีนัก ต่อให้พัฒนาคุณภาพการศึกษามากขึ้น แต่ก็ยังไม่ดีพอ ยังไม่สามารถตอบโจทย์ของภาคธุรกิจได้

คำอธิบายของผมที่ว่าเราไม่พัฒนาเทคโนโลยี ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนของเราไม่มีคุณภาพหรือศักยภาพมากพอที่จะทำงานภายใต้ระบบเศรษฐกิจที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูง เมื่อเป็นเช่นนี้นักลงทุนต่างประเทศจึงลังเลว่าจะลงทุนที่เมืองไทยดีหรือไม่ ถ้ามาเพื่อหวังค่าแรงราคาถูก ปัจจุบันนี้ก็แทบไม่มีแล้ว ขณะเดียวกันแรงงานที่มีฝีมือระดับ high skill ก็ไม่มีเช่นกัน

นอกจากปัญหาเรื่องคนแล้ว เรายังผลิตสินค้ากลุ่มเดิมๆ เหมือนเมื่อ 10-15 ปีที่แล้ว เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งถ้าจะไปไกลกว่านั้นเราต้องขยับไปผลิตสินค้าอีกกลุ่มหนึ่งที่ไฮเทคมากขึ้น โดยใช้แรงงานที่มีคุณภาพมากขึ้น

+ ปัญหาระหว่างคนกับเทคโนโลยี อะไรสำคัญกว่า

ผมคิดว่าปัจจัยเรื่องคนคือคำอธิบายที่มีน้ำหนักค่อนข้างมาก ส่วนคนที่เชื่อในทฤษฎีเกี่ยวกับเทคโนโลยีอาจจะมีคำอธิบายอื่นเพิ่ม เช่น ภาครัฐไม่ส่งเสริมจริงจัง หลายประเทศที่สามารถพัฒนาเทคโนโลยีได้เพราะเขามีการลงทุนเรื่อง R&D (Research and Development) ค่อนข้างสูง ซึ่งคนที่จะเป็นผู้นำในการลงทุนได้ดีที่สุดก็คือภาครัฐ แต่ภาครัฐไทยกลับลงทุนเรื่องนี้น้อยมาก

การที่ภาครัฐไทยลงทุนเรื่อง R&D น้อยมาก จึงสะท้อนไปสู่อีกประเด็นหนึ่งคือ คุณภาพของภาครัฐเอง การที่รัฐไม่สนใจเรื่อง R&D แสดงว่าเขาไม่มองการณ์ไกล การที่รัฐไม่สามารถผลิตนักศึกษาหรือนักเรียนที่มีคุณภาพดีได้ก็แสดงว่าขาดวิสัยทัศน์ ไม่สามารถทำให้การศึกษาบรรลุผลสำเร็จ

+ รัฐควรเน้นหลักสูตรสายอาชีพให้มากขึ้นใช่ไหม

ผมเห็นว่าควรต้องมีการสังคายนาหลักสูตรสักที อะไรที่เป็นศิลปะ เป็นเรื่องความงดงาม เป็นมรดกเก่าแก่ ก็คงต้องรักษาไว้ แต่ไม่ใช่บังคับว่าทุกคนต้องเรียน เพราะไม่ใช่ทุกคนอยากจะเรียนรำไทย กระบี่กระบอง มันควรจะมีหลักสูตรแกนกลางอันหนึ่งแล้วมีหลักสูตรย่อยๆ ซึ่งรับเฉพาะคนที่สนใจ แต่ของเราหลายเรื่องไปรวมอยู่ในหลักสูตรภาคบังคับ สุดท้ายไม่มีประโยชน์อะไรต่อการประกอบอาชีพ ฉะนั้น ถ้ารัฐบาลอยากจะลดเวลาเรียนก็ควรปรับสัดส่วนวิชาประเภทที่ไม่จำเป็นลง แล้วโยงกับการประกอบอาชีพมากขึ้น

+ สถานการณ์ติดกับดักรายได้ปานกลาง ในประเทศอื่นๆ ทั่วโลกมีลักษณะอย่างไรบ้าง

คำคำนี้อย่างน้อยในวงวิชาการก็พูดกันมาเกิน 15 ปีแล้ว ในหมู่ผู้กำหนดนโยบาย ข้าราชการระดับสูง รัฐมนตรี ในต่างประเทศก็เริ่มพูดกันเยอะในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นบราซิล เม็กซิโก ตุรกี มาเลเซีย ถึงแม้มาเลเซียจะมีรายได้ต่อหัวสูงกว่าเราเกือบเท่าตัว เขาก็ยังรู้สึกว่าตัวเองติดกับดัก ตอนนี้เขามองการณ์ไกลว่าจะต้องหลุดจากกับดักนี้ภายใน 10 ปีข้างหน้า สิ่งที่ผมพูดมาทั้งหมดนี้ เขารู้กันมานานแล้ว ไม่ใช่ผมคนแรกแน่นอน คำถามคือในเมื่อเรารู้มาตั้งนานแล้ว ทำไมไม่ทำ

+ อาจมีบางส่วนเชื่อว่าเรายังไม่ติดกับดัก?

มี แต่ผมคิดว่าไม่เยอะ คนที่เชื่ออย่างนั้นก็จะพยายามอธิบายโดยไล่ไปตามเหตุต่างๆ ไม่ว่าต้มยำกุ้ง น้ำท่วม กีฬาสี โดยสรุปรวมๆ ว่า ‘ซวย’ แต่ผมคิดว่าคนส่วนใหญ่เชื่อว่าเราติดกับดัก เพราะตัวเลขค่อนข้างชัด ปีนี้ถ้า GDP โตได้แค่ 3 เปอร์เซ็นต์ ทุกคนก็ดีใจแล้ว ขณะที่เมื่อ 20 ปีที่แล้วโตได้ถึง 7 เปอร์เซ็นต์เป็นเรื่องปกติ

+ เมื่อประเทศไทยติดกับดักนี้แล้ว GDP จะตกต่ำลงอีกหรือไม่

ถ้าดูค่าเฉลี่ยช่วง 10 ปีที่ผ่านมา GDP ของไทยอยู่ที่ประมาณ 3 เปอร์เซ็นต์กว่าๆ ปี 2558 นี้มีการพูดกันด้วยซ้ำว่าอาจจะได้แค่ 2-2.5 เปอร์เซ็นต์

GDP คือตัวบ่งชี้อาการของเศรษฐกิจ จะเห็นได้ว่าช่วงนี้การส่งออกของเรากำลังแย่ ติดลบตลอดเวลา แย่ลงกว่าปี 2557 อย่างต่อเนื่อง พอไปดูไส้ในว่าทำไมส่งออกแย่ ก็พบว่าเรายังคงผลิตสินค้าแบบเก่าๆ ฮาร์ดดิสก์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รุ่นเก่า ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่คนเมื่อ 10 ปีที่แล้วเขาใช้กัน แต่ตอนนี้เขาแทบจะเลิกใช้กันหมดแล้ว ฉะนั้น การที่เราส่งออกได้น้อยลงจึงไม่ใช่เรื่องแปลก

ถามว่าแล้วทำไมเราจึงไม่มีการลงทุนในการผลิตสินค้าใหม่ๆ บางคนก็อธิบายว่าเกิดจากปัญหาเรื่องกีฬาสี แต่ผมยังคงเชื่อมั่นว่า คนที่จะลงทุนระดับสูงอย่างนี้ได้ก็ต้องแน่ใจว่าเป็นที่ต้องการของตลาด ไม่ใช่แค่ตลาดระดับล่าง แต่หมายถึงระดับเวิลด์คลาส

+ เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่า เทคโนโลยีสมัยใหม่จะเป็นกุญแจสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจได้ เพราะเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

แน่ใจครับ เพราะประสบการณ์ของประเทศที่พ้นหรือไม่เคยติดกับดักรายได้ปานกลาง ล้วนเป็นเพราะเขาพัฒนาเทคโนโลยี ส่วนที่ว่าเทคโนโลยีเปลี่ยนตลอดเวลาจะทำอย่างไร ประเด็นนี้ต้องเข้าใจถึงคำว่า ‘ปัจจัยเชิงสถาบัน’ ซึ่งเป็นอะไรที่นามธรรมมาก แต่เราต้องตอบคำถามให้ได้ว่า ในเมื่อรู้แล้วว่าต้องคอยปรับปรุงเทคโนโลยีอยู่เสมอๆ พอสิ่งหนึ่งล้าสมัยก็ต้องมีสิ่งใหม่เข้ามาแทน เราต้องแน่ใจว่าเราจะขยับไปสู่เทคโนโลยีใหม่ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจขยายตัวขึ้น ผมคิดว่าเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยเชิงสถาบัน ภาครัฐต้องเป็นตัวนำและกำกับทิศทางให้เป็นไปแบบนั้น แต่ที่ผ่านมาภาครัฐไทยไม่ได้ทำหน้าที่นี้เลย

สมมุติไปดู BOI (Borad of Investment) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ช่วยในการส่งเสริมการลงทุนและมีสิทธิที่จะกำหนดทิศทางของการพัฒนาอุตสาหกรรมได้ แต่ที่ผ่านมา BOI ไม่เคยทำหน้าที่กำกับให้เรามีการพัฒนาเทคโนโลยีเลย ทำอย่างเดียวคือแจกสิทธิประโยชน์ทางภาษี BOI จึงเป็นที่รักใคร่ของนักลงทุนมาก แต่เป็นนักลงทุนประเภทที่ไม่ได้พาเราไปไหน เพราะกติกา BOI กว้างเกินไป ที่จริงเขาเพิ่งปรับกติกาใหม่เมื่อต้นปี 2558 ที่ผ่านมา แต่ก่อนหน้านั้นต่อเนื่องมา 30-40 ปี เขาสนับสนุนตั้งแต่ไม้จิ้มฟันยันเรือรบ นักการเมืองมาขอเขาก็ให้ ซึ่งถ้าพูดเรื่องนักการเมืองแล้วจะยาว (หัวเราะ) เพราะเป็นหนึ่งในปัจจัยเชิงสถาบัน

ปัญหาพื้นฐานคือคุณภาพของภาครัฐเอง ซึ่งหมายถึงทั้งนักการเมืองและข้าราชการไม่ได้ทำหน้าที่เป็นตัวนำเกมที่ดีในการกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลง พอปล่อยให้ภาคเอกชนทำ ภาคเอกชนก็มีปัญหาเรื่องคน โดยเฉพาะเรื่องการศึกษาและทักษะฝีมือแรงงาน ผมก็หวังว่าอีกสัก 15 ปีนับจากวันนี้ ทุกอย่างจะดีขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะมันจะเกิดการผลัดเปลี่ยนคนรุ่นต่อไป ซึ่งผมเองก็หวังอยู่ลึกๆ (หัวเราะ)

พูดโดยรวมก็คือภาครัฐจะต้องวางแผนตรงนี้ให้ดี ทุกวันนี้มีคนเรียนหนังสือมากขึ้นก็จริง เรียนจบปริญญาก็มากมาย แต่ถามว่าจบแบบไหน จบมาอย่างไร บางคนจบปริญญาตรีแล้วยังสะกดคำภาษาอังกฤษง่ายๆ ไม่เป็น คิดเลขไม่เป็น เราอาจเห็นตัวเลขการศึกษาเฉลี่ยสูงขึ้น แต่เป็นตัวเลขหลอกตา สุดท้ายนักลงทุนที่เข้ามาก็เจอกับตัวเองว่าเขาไม่สามารถคุยกับคนพวกนี้รู้เรื่อง ไม่สามารถใช้งานได้ ขาดทักษะที่จำเป็นหลายเรื่อง ทั้งทักษะการสื่อสาร ภาวะผู้นำอะไรต่างๆ ไม่มีเลย

+ กรณีเกาหลีใต้กับไต้หวันเป็นตัวอย่างชัดเจนเรื่องการใช้เทคโนโลยีเลยใช่ไหม

ใช่ จริงๆ ต้องเริ่มตั้งแต่ญี่ปุ่น เพราะถือเป็นโมเดลของเกือบทุกประเทศก็ว่าได้ เกาหลีใต้ ไต้หวันก็เดินตามญี่ปุ่น แต่ประเทศเหล่านี้มีจุดร่วมที่เหมือนกันก็คือภาครัฐเปิดเกมไว้ดีมาก เนื่องจากเขามองการณ์ไกล รู้ว่าจะต้องเดินต่ออย่างไร และในกระบวนการส่งเสริมเทคโนโลยีเขาทำอย่างโปร่งใส อันนี้สำคัญ เพราะประเทศที่เลียนแบบโมเดลญี่ปุ่นมีอยู่ไม่น้อย ไทยเองก็พยายามเลียนแบบโดยผ่าน BOI แต่ผลลัพธ์สุดท้ายล้มเหลว สาเหตุเพราะไม่มีความโปร่งใส

การที่ภาครัฐเป็นผู้เปิดเกมนั้น หมายถึงรัฐจะต้องเอาเงินภาษีมาสนับสนุน มันคือเรื่องผลประโยชน์ ทำให้บริษัทเอกชนได้รับการยกเว้นภาษี ได้รับสินเชื่อราคาถูก อะไรต่างๆ เหล่านี้ล้วนมีที่มาจากเงินภาษีประชาชนทั้งสิ้น เมื่อเงินก้อนนี้ใหญ่มาก ทุกคนก็ตาโต อยากจะได้ผลประโยชน์

ในประเทศที่ภาครัฐมีความโปร่งใส เขาจะให้เฉพาะคนที่สมควรได้ คนที่มีศักยภาพ อย่างเกาหลีใต้เขาก็ให้ซัมซุง ฮุนได เพราะมีศักยภาพ แล้วเขาก็มีกระบวนการติดตามด้วยว่า หลังให้ทุนสนับสนุนไปแล้วจะต้องพัฒนาได้จริง มีการติดตามตรวจสอบเป็นระยะ เพื่อให้แน่ใจว่าเงินที่ให้ไปไม่สูญเปล่า และเนื่องจากเขาเลือกถูกคน สุดท้ายก็ก้าวสู่ระดับเวิลด์คลาสจนสามารถล้มโซนี่ได้

ปัญหาก็คือ ถ้าผู้กำหนดนโยบายของภาครัฐไม่โปร่งใส การเดินเกมก็ล้มเหลว ลองนึกภาพดูว่าเมื่อมีผู้ได้ผลประโยชน์มากมาย มีคนวิ่งเข้าหาสารพัด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการที่ไร้ศักยภาพ แต่เผอิญมีเส้นสาย เผอิญรู้จักนักการเมือง แล้วภาครัฐก็รับใต้โต๊ะ เพราะฉะนั้นเงินภาษีจึงนำไปให้ผิดคน ให้คนที่ไม่เก่งจริง ไม่คิดจะพัฒนาตัวเองด้วยซ้ำ แต่หวังจะได้เงินทุกปี เมื่อไม่มีการมอนิเตอร์จากภาครัฐ สุดท้ายประเทศที่พยายามเลียนแบบญี่ปุ่นก็ไปไม่รอดเพราะไม่โปร่งใส

+ การที่รัฐอัดฉีดหรืออุ้มเฉพาะบางบริษัท จะทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติหรือสองมาตรฐานหรือไม่

เกิดแน่นอน ปัญหานี้ทำให้นักวิชาการรุ่นก่อนมองว่าภาครัฐไม่ควรสนับสนุนใครเลย ต้องปล่อยให้กลไกตลาดทำงานกันเอง ใครเก่งจริงก็จะเห็นผลงานเอง เพียงแต่ว่าแนวคิดแบบนี้อาจไม่เหมาะกับภาวะที่เรากำลังต้องการพัฒนาเทคโนโลยี เพราะเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และกลไกตลาดก็ไม่สามารถรับประกันการพัฒนาเทคโนโลยี โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา

เอาตัวอย่างนะ สมมุติว่า 10 ปีที่แล้ว เราเป็นผู้นำในการผลิตฮาร์ดดิสก์ แต่เมื่อเวลาเปลี่ยน เทคโนโลยีเปลี่ยน เราต้องแน่ใจว่าเรามีกระบวนการที่จะพัฒนาต่อเนื่องได้ ในประเทศพัฒนาแล้วกลไกตลาดเดินไปเองได้ เพราะเขามีกฎหมายคุ้มครองลิขสิทธิ์ที่เข้มแข็ง ถ้าคุณผลิตสินค้าขึ้นมาแล้ว บริษัทอื่นห้ามเลียนแบบ เขาฟ้องกันเป็นพันล้าน แต่นั่นมักใช้กับกรณีเทคโนโลยีที่เป็น frontier (เทคโนโลยีล่าสุดระดับโลก) เป็นเทคโนโลยีขั้นสุดยอด ซึ่งประเทศกำลังพัฒนาอย่างเราไม่ได้ต้องการเทคโนโลยีขั้นสูงขนาดนั้น สร้างขึ้นไม่เป็นด้วย กฎหมายลิขสิทธิ์จึงไม่ได้ช่วยอะไรมาก ขณะเดียวกัน ถ้าปล่อยให้กลไกตลาดทำงานเองมันก็ไม่ขยับไปไหน เพราะทุกคนต่างก็หวังพึ่งแรงงานราคาถูก เพราะมันง่าย ฉะนั้น ถ้ามีใครสักคนยอมเดินในเส้นทางที่ลำบาก มันก็ต้องให้อะไรเขาบ้าง เช่น รัฐเข้ามาสนับสนุนบ้าง เพียงแต่กระบวนการให้ต้องแน่ใจว่ามีความโปร่งใส ซึ่งยุทธศาสตร์นี้เรียกว่า Growth-enhancing Governance (GEG)

กล่าวคือ ภาครัฐและภาคเอกชนอาจร่วมมือกันผลิตสินค้าเพื่อผลักดันให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยรัฐอาจให้การสนับสนุนในรูปแบบต่างๆ เช่น ด้านการเงิน การคุ้มครองไม่ให้เอกชนที่กำลังพัฒนาเทคโนโลยีเผชิญการแข่งขันจากต่างประเทศที่มีระดับเทคโนโลยีเหนือกว่า ขณะเดียวกัน รัฐต้องไม่สนับสนุนภาคธุรกิจที่ไม่ใช่ผู้มีศักยภาพอย่างไม่สิ้นสุด กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชนจะต้องกระทำโดยมีธรรมาภิบาลที่ดี

แน่นอนว่าในช่วงที่รัฐให้การสนับสนุนอาจทำให้เกิดความไม่เท่าเทียม แต่ถ้าบริษัทเขาประสบความสำเร็จเมื่อไหร่ ผลประโยชน์ก็จะกระจาย มันจะดึงประเทศให้พัฒนาขึ้นไปด้วย ในทางตรงข้ามถ้าทำอย่างไม่โปร่งใส รัฐให้เงินสนับสนุนผิดคน มันก็ไม่ขยับไปไหน เงินภาษีก็สูญเปล่า

+ การจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีควรเริ่มต้นจากอะไร

การจะพัฒนาเทคโนโลยีของตัวเองขึ้นมาได้ต้องย้อนกลับไปที่เรื่อง R&D เราขาดการส่งเสริมบุคลากรทางด้านการวิจัย ทุกวันนี้จำนวนนักวิจัยหรือผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ยังต่ำเกินไป ต่ำถึงขนาดว่าบริษัทเอกชนหลายแห่งที่กำเงินอยู่ในมือและพร้อมจะลงทุน R&D อยู่แล้ว แต่เขาหานักวิจัยไม่ได้ ซึ่งเรื่องนี้ต้องโทษภาครัฐเลย เพราะกระบวนการผลิตนักวิทยาศาสตร์เป็นหน้าที่ของรัฐ ทั้งระดับโรงเรียน มหาวิทยาลัย แต่เขาไม่สามารถผลิตนักวิจัย นักเทคนิค ซึ่งบริษัทเอกชนสามารถดึงไปใช้ประโยชน์ได้

+ ปัจจุบันสัดส่วนงบประมาณที่รัฐลงทุนด้าน R&D มีมากน้อยแค่ไหน

งบประมาณการวิจัยของประเทศไทยมีสัดส่วนที่น้อยมาก เคยอยู่ที่ประมาณ 0.25 เปอร์เซ็นต์ของ GDP ตอนนี้อาจดีขึ้นเล็กน้อย แต่ไม่มาก ขณะที่จีนซึ่งมาทีหลังเรา เมื่อ 20 ปีที่แล้วรายได้ต่อหัวต่ำกว่าเรามาก แต่เขาลงทุน R&D มากกว่าเราถึง 7 เท่าตัว แสดงว่าเงินไม่ใช่ปัญหาในการทำวิจัย แต่เรากลับไม่ยอมลงทุนทำ R&D ขณะที่จีนมองการณ์ไกลกว่า เขาลงทุนทำ R&D เมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว ทุกวันนี้จีนจึงสามารถผลิตสินค้าในระดับเวิลด์คลาสได้ ผมเองยังนึกไม่ออกเลยว่าเรามีสินค้าชิ้นไหนบ้างที่เป็นเวิลด์คลาส (หัวเราะ)

+ ปัญหา ‘สายตาสั้น’ เกี่ยวโยงไปถึงภาวะผู้นำและระบอบการเมืองด้วยหรือไม่

ทุกอย่างเชื่อมโยงกัน ‘ภาวะผู้นำ’ ในภาครัฐค่อนข้างแย่ เมื่อผลประโยชน์ระยะสั้นเข้ามาบังตา แล้วระบบที่เป็นอยู่ก็เอื้อให้เกิดการแสวงหาผลประโยชน์อย่างไม่ชอบธรรมได้ง่าย

ผมขอยกตัวอย่างกรณีเกาหลีใต้ บังเอิญเขามีผู้นำอย่าง ปัก จุง ฮี (Bak Jeonghui – อดีตประธานาธิบดี ปี 1962-1979) เข้ามาถูกที่ถูกเวลา เขาเป็นผู้ผลักดันให้เกิดโมเดลเศรษฐกิจของเกาหลีที่มีการสนับสนุนเทคโนโลยีอย่างจริงจัง ซึ่งส่วนหนึ่งก็เลียนแบบมาจากญี่ปุ่น

ปัก จุง ฮี มีบุคลิกเด็ดขาดชัดเจน ตรงไปตรงมา เขาเลือกที่จะสนับสนุนธุรกิจได้อย่างถูกคน อีกอย่างหนึ่งที่เป็นลักษณะเด่นของเขาคือ เป็นคนชอบเทคโนโลยี ซึ่งต่างกับผู้นำไทย

ในงานวิจัยของผมได้เขียนถึงโปรเฟสเซอร์ชาวอินเดียท่านหนึ่งชื่อ คาห์น (Mushtaq Khan) เขาเคยตั้งคำถามว่า ทำไมผู้นำไทยถึงไม่พัฒนาเทคโนโลยีในแนวทางที่ควรจะเป็น เขาเอาคำถามนี้ไปถามคุณทักษิณ ยุคนั้นคุณทักษิณมีทุกอย่างเหมือนปัก จุง ฮี ถึงแม้ไม่ได้มาจากรัฐประหาร แต่ก็มีอำนาจเด็ดขาด เข้าใจธุรกิจ และมองการณ์ไกลพอสมควร ในเมื่อมีทุกอย่างที่พร้อมจะเป็นเหมือนเกาหลี แต่ก็ไม่เกิด สิ่งที่คุณทักษิณทำ ไม่มีการส่งเสริมเทคโนโลยีอะไรเลย ไม่ได้ส่งเสริมการศึกษา ไม่ได้พัฒนาคน คาห์นจึงเขียนไว้ว่าน่าเสียดายที่ประเทศไทยสูญเสียโอกาสนี้ไป และตอนนี้กลายเป็นว่ารัฐธรรมนูญที่กำลังร่างกันใหม่จะไม่ส่งเสริมให้ผู้นำเข้มแข็งแล้ว เขาจะร่างรัฐธรรมนูญให้รัฐบาลอ่อนแอ เหยาะแหยะ เพราะกลัวคุณทักษิณจะกลับมา ท้ายที่สุดภาวะผู้นำของประเทศไทยก็จะหายไป

โอเคว่าอาจจะเหมือนเป็นการมองโลกในแง่ร้ายเกินไป ถ้ามองโลกในแง่ดีขึ้นอีกหน่อย คำว่า ‘ผู้นำ’ ไม่จำเป็นต้องหมายความถึงคนคนเดียว แต่อาจหมายถึง collection ของผู้นำก็ได้ เช่น เครือข่ายนักธุรกิจที่รวมตัวกันผลักดันให้เกิดนโยบายดีๆ ต่อประเทศชาติ

ตอนนี้เราเริ่มได้ยินนักธุรกิจดังๆ หลายคนออกมาพูดเรื่องการปฏิรูปการศึกษา เพราะเขามองว่าการศึกษาไทยล้มเหลว แล้วคนที่พูดก็ไม่ได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษา ไม่ได้มีตำแหน่งอะไรอยู่ในรัฐบาลเลย เขาไม่สามารถกำหนดนโยบายการศึกษาได้ แต่ถ้าเขาพูดประสานเสียงกันเมื่อไหร่ คุณคิดว่ารัฐบาลฟังไหม ผมว่าฟัง เพราะเขาเป็นผู้มีอิทธิพลในทางเศรษฐกิจของประเทศ แม้แต่เครือข่ายนักวิชาการหรือกลุ่มใดก็ตามถ้าสามารถรวมกันเป็น collection ได้ ผมก็หวังว่าสักวันเราจะไปถึงตรงนั้น แต่พอเรามีกีฬาสีนานวันเข้า คนที่เป็นผู้นำก็ค่อยๆ หายไปหมด กลายไปเป็นผู้นำม็อบเสียส่วนใหญ่ (หัวเราะ)

IMG_9832
ดร.สมชัย จิตสุชน – ภาพถ่าย โดย อนุชิต นิ่มตลุง – waymagazine.org

+ เราจะปฏิรูปสถาบันทางเศรษฐกิจและสถาบันการเมืองอย่างไรได้บ้าง

จากไอเดียของคาห์นเขียนไว้ว่า ระบบการเมืองที่เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจระยะยาวนอกจากจะต้องโปร่งใสแล้ว ต้องไม่ผูกขาดอำนาจ เพราะถ้าผูกขาดอำนาจเมื่อไหร่จะก่อให้เกิดภาพว่าพวกนี้ทำเพื่อประโยชน์ตัวเอง

คาห์นไม่ได้ลงลึกไปถึงคำว่าผูกขาดอำนาจหมายถึงระบอบอะไร แต่มีคนอื่นๆ ที่พูดถึง อย่าง อะเซมอกลู (Daron Acemoglu นักเศรษฐศาสตร์ชาวเตอร์กิชสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐ) เขาบอกว่าระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบที่เอื้อให้มีการสลายอำนาจ ลดการผูกขาด แต่ก็ไม่การันตีเสมอไป เพราะระบอบประชาธิปไตยในบางประเทศสุดท้ายก็จบลงด้วยการผูกขาดอำนาจเช่นกัน

ในระบอบเผด็จการย่อมเอื้อให้เกิดการผูกขาดอำนาจโดยธรรมชาติ อาจมีคนทักว่า ปัก จุง ฮี ก็เผด็จการ แต่สุดท้ายเขาทำเพื่อประโยชน์ประเทศ ผมว่ากรณีนี้คงเป็นแค่ส่วนน้อย ไม่ใช่ว่าจะเกิดขึ้นได้ทุกกรณี ผมเชื่อว่าเผด็จการก็คือการรวมศูนย์อำนาจ เขาก็มักทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัวมากกว่า ผมว่าเราต้องกระจายอำนาจ ไม่ว่าจะอยู่ในระบอบใด ระบบที่กระจายอำนาจมันมีโอกาสที่เศรษฐกิจจะโตเร็วกว่า เพราะการโตแบบกระจายมักหมายถึงการโตเร็วด้วย ตอนนี้เราพยายามเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด แต่ก็ต้องคิดต่อว่าหลังเลือกตั้งแล้วจะต้องไม่เกิดการผูกขาดอำนาจด้วย

รูปธรรมที่ผมอยากเห็นก็คือ การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ตรงนี้จะสามารถตอบโจทย์ได้หลายเรื่อง การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นอาจพูดได้กว้างๆ สองส่วนคือ หนึ่ง-อำนาจการคลัง สอง-อำนาจการเมือง เราไม่สามารถแยกอย่างใดอย่างหนึ่งออกจากกันได้ ทั้งสองเรื่องต้องไปพร้อมกัน เพราะถ้ามีอำนาจแต่ไม่มีเงิน ก็ทำอะไรไม่ได้ ถ้ามีการเลือกตั้งท้องถิ่น เลือกตั้งผู้ว่าฯ ผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง เสร็จแล้วก็ให้เงินเขาไป ในที่สุดเขาก็จะพัฒนาพื้นที่ของเขา เมื่อความเจริญกระจายออกไปแล้ว สุดท้ายก็จะส่งผลต่อภาพใหญ่ ไม่ใช่กระจุกอยู่แค่ในกรุงเทพฯ

ที่สำคัญปัญหากีฬาสีก็จะลดลงด้วย เพราะถ้าเงินถูกกระจายออกไปสู่ท้องถิ่น เงินที่เหลืออยู่ในรัฐบาลกลางก็จะน้อยลง คนคงแย่งกันน้อยลง ทุกวันนี้ที่ฆ่ากันจะเป็นจะตายก็เพื่อต้องการจะแย่งชิงอำนาจ แย่งชิงเงินก้อนใหญ่นั้นให้ได้ แต่ถ้ากระจายอำนาจแล้วก็อาจแย่งกันน้อยลง หรือแย่งแบบกระจาย ซึ่งผมว่าดีกว่ารวมศูนย์แย่ง

คนที่ชอบกล่าวหาว่าท้องถิ่นคอร์รัปชันอย่างนั้นอย่างนี้ ผมคิดว่าบางทีก็กล่าวหาเกินจริง ไม่ใช่ว่าไม่มีคอร์รัปชันเลย มันมีและคงไม่น้อยด้วย แต่ผมเชื่อว่าเม็ดเงินที่คอร์รัปชันในท้องถิ่นไม่ได้มากไปกว่าการคอร์รัปชันของส่วนกลางหรอก ตราบใดที่ไม่มีการกระจายอำนาจการคลังออกไป มันก็จะเกิดการคอร์รัปชันแบบรวมศูนย์อยู่ดี หรืออย่างน้อยที่สุดหากท้องถิ่นคอร์รัปชัน ความเจริญก็ยังกระจายอยู่ดี แม้เงินที่หมุนเวียนในพื้นที่จะไม่สะอาดนัก

+ หากมีการกระจายอำนาจตามโมเดลใหม่นี้จะช่วยลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำอย่างไรบ้าง

ทุกสังคมย่อมมีความไม่เท่าเทียมกัน ไม่มีทางที่รายได้ของทุกคนจะเท่ากัน เพียงแต่ถ้ามันเหลื่อมล้ำมากๆ ช่องว่างระหว่างคนรวยคนจนห่างกันเยอะมาก เช่นกรณีของไทยที่มีความเหลื่อมล้ำติดอันดับโลก มันชวนให้สงสัยว่าไม่ใช่ความเหลื่อมล้ำตามธรรมชาติ คือไม่ใช่แค่ว่าคนหนึ่งขยันกว่าจึงมีรายได้มากกว่า มันไม่ใช่แค่นั้น มันคงมีความไม่ชอบมาพากลในระบบ เช่น เขาอาจมีอภิสิทธิ์บางอย่างเหนือกว่า เขาจึงรวยกว่า และรวยกว่าเป็นร้อยเท่า ไม่ใช่แค่ 2-3 เท่า ฉะนั้น ช่องว่างรายได้ที่ห่างกันนับร้อยเท่า มันเป็นอะไรที่น่าสงสัยเรื่องความชอบธรรม ตราบใดที่สังคมมีความเหลื่อมล้ำที่ไม่ชอบธรรม แสดงว่าเราต้องลงมือทำอะไรกับมันบ้าง ระบบอภิสิทธิ์ ระบบคอร์รัปชันต่างๆ การเล่นพรรคเล่นพวก ควรต้องถูกกำจัดออกไปหรือลดลง เพื่อให้สังคมอยู่ร่วมกันได้แบบแฟร์ๆ

+ ความเหลื่อมล้ำเกี่ยวพันกับการคอร์รัปชันอย่างไรบ้าง

ผมคิดว่ามีส่วนเกี่ยวข้องมาก คอร์รัปชันทำให้เหลื่อมล้ำ และความเหลื่อมล้ำก็ทำให้เกิดการคอร์รัปชันได้ด้วย สังคมใดที่เหลื่อมล้ำมากจะเกิดการคอร์รัปชันได้ง่าย เพราะการคอร์รัปชันมาจากการที่คุณไปเบียดบังคนอื่นมา ประเด็นก็คือ สังคมที่จะป้องกันการคอร์รัปชันได้ดี คนที่จะถูกเบียดเบียนต้องสามารถป้องกันตัวเองได้ สังคมลักษณะนี้มักจะมีความเหลื่อมล้ำไม่มาก มีคนชั้นกลางในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง คนที่จะคอร์รัปชันก็ทำได้ยาก เพราะคนชั้นกลางป้องกันตัวเองได้ดี แต่ถ้าสังคมมีคนจนเป็นส่วนมาก คนเหล่านี้แทบจะป้องกันตัวเองไม่ได้เลย

ในเมืองไทยมีคนรวยที่รวยจากการคอร์รัปชันจำนวนไม่น้อย ทั้งเส้นสายอิทธิพลอะไรต่างๆ เคยสังเกตไหมว่าในหมู่บ้านจัดสรรที่มีบ้านคนรวยๆ หลังใหญ่ๆ จะมีป้ายติดไว้ข้างหน้าบ่งบอกสถานะว่าเป็นคนมีสี มียศ ซึ่งเราก็รู้กันอยู่ว่าเงินเดือนข้าราชการพวกนี้อย่างมากก็ 50,000-60,000 บาท แต่บ้านหลังใหญ่กว่าคนปกติเป็นสิบๆ เท่า ถามว่าเขาเอารายได้มาจากไหน มันเป็นคำถามที่ชวนให้สงสัย

 + ทำไมการปฏิรูปที่ทุกฝ่ายพยายามทำกันอยู่นี้มักพุ่งไปที่เรื่องคอร์รัปชันอย่างเดียว โดยที่ไม่ค่อยให้น้ำหนักกับมิติอื่นๆ

ทิศทางการเมืองมันเป็นอย่างนั้น เพราะทุกคนนึกถึงแต่คุณทักษิณ และภาพคุณทักษิณก็คือการโกง ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศชาติแน่นอน แต่มันไม่ใช่ปัญหาเดียว อย่างเช่นการรวบอำนาจมาสู่ศูนย์กลาง ผมคิดว่าแนวทางนี้ไม่ใช่เลยในความรู้สึกผม เพราะถ้าทำแบบนี้อาจเกิดการคอร์รัปชันมากขึ้นด้วยซ้ำ เพราะคุณยิ่งรวบไว้มากเท่าไหร่ การคอร์รัปชันก็ยิ่งเป็นกอบกำเป็นกำ ต่างกับการกระจายอำนาจอย่างเห็นได้ชัด

ต่อประเด็นที่สืบเนื่องจากการคอร์รัปชัน มีงานวิจัยของอาจารย์ประจักษ์ (ก้องกีรติ – อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) ที่ผมชอบมากก็คือ ประเด็นที่อาจารย์ประจักษ์ชี้ให้เห็นชัดขึ้นว่า การสู้กับคอร์รัปชันไม่ใช่แค่คุณตั้ง ป.ป.ช. (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) ขึ้นมา แล้วหวังว่า ป.ป.ช. จะเป็นยาวิเศษที่ทำให้การคอร์รัปชันมันหายไปได้ แต่สิ่งสำคัญกว่านั้นคือ ภาคประชาชนจะต้องเข้มแข็งด้วย ถ้าภาคประชาสังคมไม่เข้มแข็ง ป.ป.ช. ก็ทำอะไรไม่ได้มาก

ในหลายประเทศที่ประสบความสำเร็จเรื่องแก้คอร์รัปชัน เช่น อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ เขาดีไซน์องค์กรแบบ ป.ป.ช. ไว้ค่อนข้างดี แต่สุดท้ายก็ไปชนตอ ทั้งนักการเมือง ผู้มีอิทธิพลอะไรต่างๆ และทำท่าว่าจะถูกเล่นงานกลับ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ภาคประชาสังคมได้ออกมารวมตัวกันเดินขบวนเพื่อจะปกป้อง ป.ป.ช. ของเขา ท้ายที่สุดผู้มีอิทธิพลทั้งหลายก็ต้องถอย

ผมชอบไอเดียเรื่องภาคประชาสังคม เพราะผมรู้สึกว่าคอร์รัปชันจะหมดไปได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับสังคมโดยรวมว่ายอมที่จะทนอยู่กับมันหรือเปล่า และต้องพร้อมจะให้การสนับสนุนองค์กรหรือหน่วยงานซึ่งทำหน้าที่ปราบคอร์รัปชันได้อย่างเห็นผล ฉะนั้น ป.ป.ช.ของไทยก็ต้องพิสูจน์ตัวเองว่า หนึ่ง-ต้องจับปลาใหญ่ให้ได้จริงๆ สอง-ทำงานโดยไม่มีความเอนเอียง ไม่เลือกพวก เพราะที่ผ่านมายังมีภาพของการเลือกข้างอยู่ด้วย ยิ่งในภาวะที่ประชาชนแบ่งเป็น 2 ฝ่าย ถ้าคุณเลือกข้างเมื่อไหร่ คุณก็ได้ใจประชาชนแค่ฝ่ายเดียว ส่วนอีกครึ่งเขาก็พร้อมจะเดินขบวนล้มคุณ

IMG_9982
ดร.สมชัย จิตสุชน – ภาพถ่าย โดย อนุชิต นิ่มตลุง – waymagazine.org

+ จริงหรือไม่ว่า การปฏิรูปเชิงโครงสร้างอย่างจริงจังจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อประเทศต้องเผชิญวิกฤติครั้งร้ายแรงจริงๆ

มันเป็นข้อสังเกตของนักวิชาการต่างประเทศท่านหนึ่งชื่อ ริชาร์ด โดเนอร์ (Richard Doner) ถามว่ามันต้องถึงขนาดนั้นไหม ถ้าต้องเจอวิกฤติถึงขั้นใกล้จะสิ้นชาติแล้วค่อยลุกขึ้นมาปฏิรูป ซึ่งก็คงไม่มีใครอยากให้เป็นแบบนั้น เพียงแต่ว่าในภาวะวิกฤติปัจจุบันที่ยังไม่ถึงกับสิ้นชาติ เราต้องพร้อมที่จะปรับตัว อย่างตอนนี้ที่เศรษฐกิจไม่โตต่อเนื่องยาวนาน ภาวะแบบนี้ก็ถือว่าใกล้วิกฤติแล้ว

โจทย์สำคัญคือ ทำอย่างไรที่เราจะแปลงวิกฤติเป็น solution เป็น new idea เป็น reform ถ้าดูจากสภาพโดยรวมก็มีความพยายามกันอยู่ เช่น มีการตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) แต่ที่ผมไม่แน่ใจก็คือเนื้อหาสาระจะเป็นการ reform จริงหรือไม่ เพราะถ้าจะปฏิรูปการเมืองเพื่อสกัดคุณทักษิณ มันก็ดูจะแคบไปหน่อย และอาจทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสมากกว่าเดิม เช่น ถ้ารัฐบาลอ่อนแอมากๆ ก็ทำอะไรไม่สำเร็จสักเรื่อง

+ ณ วันนี้ ถ้าเราไม่คิดหาวิธีปฏิรูปด้วยโมเดลใหม่ อีก 10-20 ปีข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้น

เรามีปัญหามาหลายสิบปีที่บ่งชี้ว่าเราไม่โต เรามีปัญหาความเหลื่อมล้ำ มีการคอร์รัปชันสูง แล้วสถานการณ์ก็ไม่ได้ดีขึ้น ถ้ามองไปข้างหน้าก็มีอีกหลายปัจจัยที่กำลังจะเข้ามา ไม่ว่าเรื่อง สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ที่จะทำให้เศรษฐกิจโตยากขึ้น เพราะยิ่งคนวัยทำงานน้อยลง คนแก่มากขึ้น และอาจเกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อคนชั้นกลางระดับล่างเข้าสู่วัยสูงอายุ เขาจะเป็นคนสูงอายุที่ไม่มีอะไรอยู่ในมือ ไม่มีเงินเก็บหอมรอมริบ และคนกลุ่มนี้มีสัดส่วนที่สูงมาก คำถามคือสังคมไทยจะแบกรับภาระให้กับคนกลุ่มนี้ไหวหรือไม่

ฉะนั้น การวางแผนให้มีระบบสวัสดิการสังคมที่เหมาะสมยิ่งต้องรีบทำ เพื่อให้แน่ใจว่าจะรองรับคนเหล่านี้ในอนาคตได้ ถ้าจะให้ดีต้องเป็นระบบสวัสดิการเชิงรุก คือไม่ใช่แค่คิดว่าจะช่วยให้เขาอยู่รอดได้อย่างไร แต่ต้องคิดว่าเขาจะเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างมีศักดิ์ศรีได้อย่างไร ไม่ใช่เป็นแค่ผู้แบมือรอรับความช่วยเหลือ ที่จริงถ้าเราเริ่มทำวันนี้ก็คงช้าไปแล้ว แต่ถ้ายิ่งไม่เริ่มก็ยิ่งมีปัญหา เพราะมีสัญญาณบ่งชี้ว่าไม่ทำไม่ได้แล้ว

——-

หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกโดย waymagazine.org เมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2559 ในชื่อ   ความป่วยไข้ของประเทศไทย / สมชัย จิตสุชน

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด