tdri logo
tdri logo
3 มีนาคม 2016
Read in Minutes

Views

วิพากษ์ ‘รธน.มีชัย’ แนวทาง ‘ปฏิรูปสื่อ’

ใน เสวนา “ทางเลือกในการปฏิรูปสื่อกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ จัดโดย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

DSC00020
วงเสวนา “ทางเลือกในการปฏิรูปสื่อกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่”

สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช.ด้านส่งเสริมสิทธิ เสรีภาพและคุ้มครองผู้บริโภค
ระบุว่า การปฏิรูปสื่ออาจจะมีสองมิติ คือ การจัดสรรคลื่นความถี่กับการกำกับการดูแล ในงานเสวนาครั้งนี้จะพูดถึงการจัดสรรคลื่นความถี่มากกว่า การปฏิรูปสื่อเมื่อเทียบกับปี 2540 และ 2550 มีกระแสให้จัดสรรคลื่นความถี่ใหม่ ในภาพรวมสังคมอาจจะคาดหวังการปฏิรูปสื่อ การกำหนดคลื่นความถี่แห่งชาติจะมาคู่กับแผนแม่บท กสทช. เป็นอำนาจของ กสทช.ในการกำกับดูแล ซึ่งก็ยังคงหลักการเดิม แต่เป็นการเสริมจุดแข็งแก้จุดอ่อน ซึ่งการทำงานของ กสทช.ในช่วงที่ผ่านมา ได้มีการจัดสรรคลื่นความถี่ในลักษณะแบบค่อยเป็นค่อยไป และจากนั้นก็เป็นเรื่องของการกำกับดูแลสื่อเพื่อให้เกิดความโปร่งใสต่อสาธารณะ

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ และหัวหน้าโครงการวิจัยการปฏิรูปสื่อ
ระบุว่า การหลอมรวมสื่อ (Media Convergence) ทำให้เส้นแบ่งระหว่างการแพร่ภาพกระจายเสียงและโทรคมนาคมเลือนราง ปัจจุบันเนื้อหาของสื่อมีลักษณะเดียวกัน แต่มีการเผยแพร่หลายช่องทางและมีความแตกต่างกัน การกำกับดูแลเนื้อหาทำได้ยากขึ้น ดังนั้น เป้าหมายและแนวทางการปฏิรูปสื่อ คือ

1.ปรับเปลี่ยนผู้กำกับดูแล แก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กสทช. พ.ศ.2553 โดยไม่แบ่งการกำกับดูแล และรัฐธรรมนูญจะต้องรับประกันสิทธิการใช้ประโยชน์คลื่นความถี่ และเสรีภาพในการสื่อสารของประชาชน รวมถึงความเป็นอิสระขององค์กรกำกับดูแล

2.การลดต้นทุนและความเสี่ยงของผู้ประกอบกิจการ ทั้งการดำเนินการระยะสั้นและระยะยาว

3.สร้างกฎกติกาอย่างเป็นธรรม และ

4.กำหนดกรอบเวลาคลื่นความถี่จัดสรรใหม่ มีความหลากหลายของสื่อคุ้มครองผู้บริโภค

ด้าน นาย บุญเลิศ คชายุทธเดช อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านการสื่อสารมวลชน ให้ความเห็นว่า ในร่างแรกหรือร่างเบื้องต้นของ กรธ. นอกจากจะเปลี่ยนหลักการเขียนการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนใหม่แล้ว ในเรื่องเสรีภาพสื่อก็ผิดเพี้ยนแตกต่างไปจากเดิมมาก แทบไม่เหลือร่องรอยของร่างฯ ฉบับนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ปรากฏให้เห็น สิ่งที่นำเข้ามาใส่แทนทำให้เสรีภาพของสื่อถูกจำกัดมากขึ้น ข้อสังเกตต่อร่างเบื้องต้นฉบับนายมีชัยเป็นรายมาตราจึงมีตัวอย่าง ดังนี้

ในมาตรา 25 เขียนถึงการใช้สิทธิ เสรีภาพของปวงชนชาวไทย จะต้อง “ไม่กระทบกระเทือน หรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และไม่ละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น ทั้งประชาชนและสื่อต้องระมัดระวังอย่างยิ่งที่จะไม่ทำให้การใช้เสรีภาพในการสื่อสารและการแสดงออกใดๆ ที่จะไม่ให้ถูกกล่าวหาและดำเนินคดีเพื่อเอาโทษทางอาญาด้วยข้ออ้างว่ากำลังทำในสิ่งที่กระทบกระเทือน หรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อย…..”

ซึ่งไม่มีหลักประกันว่าจะไม่ถูก ผู้มีอำนาจจากการฝ่ายการเมืองหรือเจ้าหน้าที่รัฐที่อยู่ฝ่ายความมั่นคงตีความอย่างง่ายๆ ว่าประชาชนและสื่อพูดและเขียนต่อรัฐธรรมนูญมาตรานี้ โดยถือเอาความกระทบกระเทือนของตัวเองและหมู่คณะเป็นความมั่นคงของรัฐหรือความสงบเรียบร้อยของประเทศ

รัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 เขียนข้อจำกัดการใช้เสรีภาพการแสดงความเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา ฯลฯ ไว้เพียงให้อยู่ภายใต้กฎหมายเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย….. มิได้มีข้อความอันจะก่อให้เกิดปัญหาการใช้และการตีความที่ว่า “กระทบกระเทือน หรือเป็นอันตราย…..” ดังนั้นจึงควรตัดทิ้งและกลับไปใช้ข้อความเดิมที่เคยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 และ 2550

หรือในมาตรา 35 ซึ่งเกี่ยวกับเสรีภาพสื่อ ในวรรคแรกมีข้อความว่า “มาตรา 35 บุคคลซึ่งประกอบอาชีพสื่อมวลชนย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวสารหรือการแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ” จะสังเกตเห็นว่า มีการใช้คำทั้งอาชีพและวิชาชีพสำหรับสื่อมวลชน แต่ไม่อธิบายเหตุผลไว้ แต่ในวรรคหกเขียนไว้ว่า “เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งปฏิบัติหน้าที่สื่อมวลชนย่อมมีเสรีภาพตามวรรคหนึ่ง แต่ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และภารกิจของหน่วยงานที่สังกัดอยู่

ข้อความที่ใส่เข้ามาใหม่นี้ เท่ากับเปลี่ยนหลักการที่รัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 เคยบัญญัติไว้ ให้พนักงานหรือลูกจ้างทั้งสื่อเอกชนและข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจในกิจการสื่อประเภทวิทยุและโทรทัศน์ให้มีเสรีภาพเช่นเดียวกัน โดยจะต้องมีความรับผิดชอบต่อจริยธรรมแห่งวิชาชีพ ให้กลายมาเป็นว่าเจ้าหน้าที่รัฐที่ทำสื่อไม่ต้องมีเสรีภาพในการเสนอข่าวสาร หรือการแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ เหมือนสื่อเอกชน เพราะต้องปฏิบัติหน้าที่เพื่อภารกิจของหน่วยงานตนเอง

ด้าน ผศ.ดร. พิรงรอง รามสูต อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ วิเคราะห์ว่า การปฏิรูปการทำงานของสื่อที่จะเป็นประโยชน์กับสาธารณะ รวมถึงการจัดสรรคลื่นความถี่ จะพิจารณาภายในกรอบรัฐธรรมนูญหลักนิติรัฐและนิติธรรมที่ผ่านมาในสังคมไทย สื่อต้องต่อสู้กับอำนาจของรัฐ ดังนั้นจึงต้องมา ทวนประเด็นรัฐธรรมนูญฉบับปี 2559 และอีกสองฉบับ ที่ผ่านมา อาทิ เจตนารมณ์การปฏิรูปสื่อ ที่มีบทบัญญัติสะท้อนถึงทางออกของสังคม ขอบเขตการใช้อำนาจรัฐที่เกี่ยวข้องกับสื่อ และข้อจำกัดของเสรีภาพ

ในเรื่องเสรีภาพของการแสดงออกของนักวิชาชีพสื่อ จะเห็นว่าสื่อบ้านเราไม่เหมือนหลายประเทศที่สื่อเป็นเอกชน แต่เรามีสื่อของรัฐด้วย เพราะฉะนั้นการร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 ก็ต้องให้ความคุ้มครองกับผู้ที่เป็นนักวิชาชีพสื่อ หรือผู้ที่ปฏิบัติงานด้านสื่อ ซึ่งเป็นพนักงานของรัฐด้วย

อย่างวรรคท้ายของมาตรา 35 ที่มีข้อความว่า …..เจ้าหน้าที่ ของรัฐซึ่งปฏิบัติหน้าที่สื่อมวลชนย่อมมีเสรีภาพตามวรรคหนึ่ง แต่ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ และภารกิจของหน่วยงานที่ตนสังกัดอยู่ (วรรคหก) ในข้อความดังกล่าวตั้งข้อสังเกตได้ว่า ถ้าคุณอยู่ในองค์กรของภาครัฐ อาจจะไม่อยากให้ประชาชนซึ่งเป็นพลเมืองที่รู้เท่าทัน ก็ได้

เรื่ององค์กรกำกับดูแลที่จัดสรรคลื่นความถี่ที่มาจาก พ.ร.บ.การจัดสรรคลื่นความถี่ กสทช. 2543 ซึ่งเป็นองค์กรที่เกิดขึ้นมาจากเจตนารมณ์ปฏิรูปการจัดสรรคลื่นความถี่ ว่ามีหน้าที่อย่างไร ทำอะไรบ้าง รัฐธรรมนูญ 2540 ไม่ได้เน้นเรื่องนี้ แต่พูดถึงการกำกับดูแลโดยรวม รัฐธรรมนูญ 2559 มีรายละเอียดมากขึ้น อาทิ การรวบรวมสื่อ ทั้งเรื่องรูปแบบองค์กร คลื่นความถี่วิทยุชุมชน วิทยุท้องถิ่น ฯลฯ รวมถึงข้อความที่ว่า “ต้องสร้างให้เกิดการรับรู้ ไม่ปิดกั้นข้อมูลข่าวสาร ที่ถูกต้องตามความเป็นจริงของประชาชน” มองว่าเป็นสิ่งที่ท้าทายมาก

ดังนั้น ในภาพรวมคิดว่าร่างรัฐธรรมนูญมีกระบวนทัศน์ที่ไม่เปลี่ยน รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ที่เกี่ยวกับสื่อ มีความแน่นอนว่าเพื่อกระจายอำนาจ กระจายการเข้าถึงการใช้คลื่นความถี่ ทรัพยากรการสื่อสาร เสรีภาพในการสื่อสารเปิดกว้างขึ้น จนนำไปสู่ประชาธิปไตยทางการสื่อสาร แต่กลายเป็นว่าร่างรัฐธรรมนูญขณะนี้เป็นการทวงคืนอำนาจโดยการควบคุมของรัฐมากกว่า

ถ้าดูในเรื่องนิติรัฐพบว่าเนื้อหารัฐธรรมนูญมีความรัดกุมขึ้นเรื่อยๆ ชัดเจนเฉพาะขึ้น มีข้อจำกัดมากขึ้น รัฐธรรมนูญ 2540 อาจจะตีความกว้าง ไม่บังคับ ให้ไปบัญญัติกฎหมายที่เกี่ยวข้องกันเอง แต่พบว่ารัฐธรรมนูญ 2559 ค่อนข้างจะเฉพาะมาก มีข้อปลีกย่อยที่ระบุชัดเจน จนนำไปสู่การตั้งคำถามว่าถ้ากำหนดไว้อย่างนี้ ใครทำอะไรได้ ใครทำอะไรไม่ได้ จะเป็นไปตามหลักนิติรัฐหรือไม่ ซึ่งอาจจะกลายเป็นสิ่งตรงกันข้าม สะท้อนว่าไม่ใช่ “Rule of Law” ที่ต้องทำตามกฎหมาย แต่เป็น “Rule by Law” คือบัญญัติให้เป็นกฎหมายแล้วทำให้เกิดเป็นการปกครองที่ควบคุมโดยรัฐ อย่างไรก็ชอบธรรมเพราะกฎหมายกำหนดให้แล้ว


หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกใน มติชน เมื่อวันที่ 27  กุมภาพันธ์ 2559 ในชื่อ วิพากษ์’รธน.มีชัย’แนวทาง’ปฏิรูปสื่อ’

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด