ข้อคิดเห็นต่อการจัดประมูลคลื่น 900 MHz ใหม่ หลังแจสทิ้งใบอนุญาต

ปี2016-03-22

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์

การที่ บริษัท แจส โมบาย ซึ่งชนะการประมูลใบอนุญาต 4G คลื่น 900 MHz  ไม่จ่ายค่าธรรมเนียมใบอนุญาตงวดแรก ซึ่งมีผลเป็นการทิ้งใบอนุญาตนั้น ทำให้เกิดประเด็นถกเถียงต่อแนวทางที่ กสทช. ควรดำเนินการต่อไป  ทั้งการเรียกค่าเสียหายและเอาผิดกับแจส และการนำเอาคลื่นที่แจสประมูลได้มาประมูลใหม่  ต่อประเด็นดังกล่าว ผู้เขียนมีความเห็นดังต่อไปนี้

ประการที่หนึ่ง   การริบเงินหลักประกันการประมูล 644 ล้านบาทของแจส และเรียกร้องค่าเสียหายที่เกิดจากต้นทุนในการจัดประมูลนั้นเป็นการดำเนินการในทางปกครองของ กสทช. ซึ่งไม่น่าจะมีปัญหา  อย่างไรก็ตาม การเรียกค่าเสียหายจากส่วนต่างของมูลค่าการประมูลที่ผ่านมากับมูลค่าการประมูลครั้งใหม่ จะมีความซับซ้อนพอสมควร และต้องดำเนินการในทางแพ่ง โดยผลจะเป็นอย่างไรจะขึ้นกับการประมูลของ กสทช. หลังจากนี้ ดังที่จะกล่าวต่อไป และการพิจารณาของศาลซึ่งน่าจะใช้เวลานานพอสมควร

DSC08013
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ

นอกจากนี้ การห้าม (แบลกลิสต์) ผู้ถือหุ้นใหญ่ของแจสเข้าร่วมในการขอใบอนุญาตประกอบกิจการต่างๆ จาก กสทช. ในอนาคต เป็นสิ่งที่ กสทช. อาจทำได้ แต่ต้องเป็นไปอย่างได้สัดส่วน   อย่างไรก็ตามการจะเพิกถอนใบอนุญาตอื่นๆ ของบริษัทในเครือจัสมินที่ได้รับจาก กสทช. เช่น โมโน หรือ 3BB ย้อนหลังน่าจะมีปัญหา เพราะบริษัทที่เกี่ยวข้องเป็นคนละนิติบุคคลกัน ที่สำคัญ กสทช. ไม่เคยกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวก่อนที่จะมีการประมูล 4G   การเพิกถอนใบอนุญาตย้อนหลังจึงน่าจะมีปัญหาความชอบด้วยกฎหมายและขัดกับหลักนิติรัฐ ซึ่งอาจทำให้ กสทช. มีความรับผิดทางกฎหมายในอนาคต

ประการที่สอง  กสทช. ไม่ควรเก็บคลื่นที่แจสประมูลได้ไว้นานเป็นปีอย่างที่เคยให้ข่าว เพราะจะทำให้ประเทศเสียโอกาสจากการใช้ประโยชน์ทรัพยากรสาธารณะที่มีมูลค่ามหาศาล  นอกจากนี้ การประมูลที่ล่าช้าจะทำให้การเรียกค่าเสียหายจากแจสทำได้ยากขึ้น เพราะไม่ทราบมูลค่าความเสียหายที่แท้จริง และหากราคาการประมูลตกลงเมื่อเวลาผ่านไป เพราะผู้ประกอบการทั้งหลายหาทางออกในการให้บริการด้วยแนวทางอื่น เช่น การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมากขึ้นเพื่อชดเชยปริมาณคลื่นที่มีอยู่จำกัด มูลค่าของความเสียหายที่ กสทช. จะสามารถเรียกจากแจส ก็จะน้อยลงด้วย

การจัดการประมูลใหม่โดยเร็วเช่นภายใน 2-3 เดือน เป็นสิ่งที่ กสทช. ควรดำเนินการ เพราะสังคมมีความต้องการใช้คลื่นความถี่ และทำให้มูลค่าคลื่นไม่ตกลงมาก เนื่องจากผู้ประกอบการที่เหลืออยู่น่าจะยังเสนอราคาประมูลคลื่นที่ไม่แตกต่างจากเดิมนัก แม้ไม่มีแจสเข้าร่วมประมูลด้วย ส่วนหนึ่งเพราะผู้ประกอบการจะสร้างกำไรได้มากขึ้น เมื่อไม่มีรายใหม่เข้ามาตัดราคา ดังจะเห็นว่าหุ้นของบริษัทโทรศัพท์เคลื่อนที่มีราคาสูงขึ้นเมื่อแจสทิ้งใบอนุญาต

ประการที่สาม แนวคิดของ กสทช. ที่ต้องการให้การประมูลใหม่ต้องได้ราคาไม่ต่ำกว่าราคาที่แจสชนะประมูลคือ 75,654 ล้านบาทไม่สมเหตุผล เพราะเป็นราคาที่สูงกว่าผู้ประมูลรายอื่นที่เหลือทั้ง 3 รายเคยเสนอไว้  หาก กสทช. พยายามยึดถือราคาดังกล่าว ก็อาจมองได้ว่า กสทช. ไม่ต้องการให้มีการใช้ประโยชน์จากคลื่นดังกล่าว ซึ่งจะมีผลนำไปสู่การผูกขาดบริการ 4G

กสทช. ควรนำคลื่นมาประมูลใหม่โดยเริ่มที่ราคาสุดท้ายที่ผู้ประกอบการทุกรายยังรับได้คือ 70,180 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาที่ผู้ประกอบการรายแรกที่ออกจากการประมูลเสนอไว้เป็นครั้งสุดท้าย  นอกจากนี้ การประมูลครั้งใหม่ ควรให้ผู้ชนะการประมูลครั้งเดิมคือ ทรู เข้าร่วมประมูลด้วย ทั้งเพื่อเพิ่มการแข่งขันในการประมูล และให้ความเป็นธรรมแก่ ทรู ในการได้คลื่นความถี่เพิ่ม หากเห็นว่าราคาที่ผู้ประกอบการอื่นเสนอนั้นต่ำเกินไป

อีกทางเลือกหนึ่งในการประมูลคือ การตั้งต้นการประมูลที่ราคาซึ่งแจสประมูลได้ แล้วค่อยๆ ลดราคาลงมาจนกว่าจะมีผู้ยอมรับราคา ซึ่งเรียกว่า “การประมูลแบบดัทช์” (Dutch auction)  ตามที่เป็นข่าว   อย่างไรก็ตาม การประมูลแบบนี้อาจทำให้เกิดความรู้สึกที่ไม่ดีต่อสาธารณชน เพราะเมื่อเวลาผ่านไป รัฐจะได้ราคาต่ำลง  ตรงกันข้ามกับ “การประมูลแบบอังกฤษ” (English auction) ซึ่งทำให้ราคาสูงขึ้นดังเช่นการประมูลที่ผ่านมา

ประการที่สี่  ในการประมูลครั้งใหม่ กสทช. ควรเรียกเก็บค่าประกันการประมูลที่สูงขึ้น เช่น ให้ใกล้เคียงกับราคาตั้งต้น เพื่อป้องกันปัญหาที่ผู้ชนะการประมูลทิ้งใบอนุญาตอีก

ประการสุดท้าย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น กลต. และตลาดหลักทรัพทรัพย์แห่งประเทศไทย ควรตรวจสอบการซื้อขายหุ้นและธุรกรรมอื่นๆ ของบริษัทที่เกี่ยวข้องว่ามีธุรกรรมใดผิดปรกติในลักษณะที่เป็นการเอาเปรียบผู้ถือหุ้นรายย่อยหรือไม่ เพราะในช่วงที่ผ่านมา บางบริษัทมีธุรกรรมจำนวนหนึ่งที่อาจก่อให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างผู้ถือหุ้นกลุ่มต่างๆ ได้